เงินซื้อความสุขได้จริงหรือ?

เงินซื้อความสุขได้จริงหรือ?

ท่านผู้อ่านคิดว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้หรือไม่? เงินอาจจะซื้อความสุขตรงๆ ไม่ได้

แต่การใช้จ่ายเงินกลับสามารถซื้อความสุขได้ (บทความนี้ผมได้แรงบันดาลใจหลังจากกลับมาจากเดินซื้อของกับภรรยาทั้งวัน) มีงานวิจัยตั้งแต่โบราณแล้วว่าเมื่อเราใช้เงินซื้อของเราจะมีความสุขขึ้น ยิ่งในช่วงหลังก็พบงานวิจัยที่แสดงให้เห็นอีกว่าระหว่างการซื้อสิ่งของกับประสบการณ์ (การท่องเที่ยว การไปดูหนัง ฟังเพลง รับประทานอาหาร ฯลฯ) นั้น การใช้จ่ายเงินซื้อประสบการณ์จะก่อให้เกิดความสุขได้มากกว่า ยิ่งประสบการณ์ดีๆ ยิ่งทำให้คนมีความสุขมากกว่าการเป็นเจ้าของสินค้า ทั้งนี้ เนื่องจากหลังจากที่เราซื้อของ (โดยเฉพาะของที่แพง) เราอาจจะเกิดความเสียใจหรือรู้สึกผิดที่ได้ซื้อของชิ้นดังกล่าวมา (ที่ฝรั่งเขามีศัพท์เฉพาะและเรียกว่า buyer’s remorse) นอกจากนี้ การซื้อสินค้ามานั้น เราก็มักจะอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับผู้อื่น (แล้วพบว่าเราซื้อแพงกว่า) แต่การซื้อประสบการณ์นั้นยากที่จะเปรียบเทียบของผู้อื่นกับของตนเองได้

นอกจากนี้ยังมีการพบอีกครับว่าความตื่นเต้นของการได้ซื้อของนั้นมักจะหมดสิ้นไปเมื่อเวลาผ่านไป จากประสบการณ์ตนเองพบว่า ช่วงที่ภรรยาเลือกซื้อสินค้าอยู่นั้นจะมีความสุขและความตื่นเต้น แต่เมื่อกลับมาที่บ้านแล้ว ถุงบรรจุสินค้าชิ้นนั้นก็จะถูกวางอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลาหนึ่งกว่าที่จะได้รับการเอาใจใส่ เมื่อเราซื้อกระเป๋าใหม่มาใบหนึ่ง ก็จะมีความตื่นเต้นและเป็นสุขในช่วงแรก แต่หลังจากที่เราปรับตัวได้และคุ้นเคยกับกระเป๋าใบนั้นแล้วความสุขจากกระเป๋าใบดังกล่าวก็จะเริ่มจางหายไป (ที่สำคัญคือจะเริ่มเกิดความต้องการกระเป๋าใบใหม่ขึ้นมาแทน)

อย่างไรก็ดีใช่ว่าการซื้อประสบการณ์​จะทำให้เรามีความสุขมากกว่าการซื้อสินค้าเสมอไป ปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัยใหม่ๆ (ลงตีพิมพ์ใน Psychological Science) ที่พบว่าเราจะมีความสุขมากขึ้นถ้าของที่เราซื้อนั้นตรงกับบุคลิกภาพของเรา ง่ายๆ ก็คือไม่ใช่เพียงแค่การซื้อประสบการณ์เท่านั้นที่นำไปสู่ความสุขขั้นสูง แต่ถ้าเราได้ซื้อสินค้าที่ตรงกับบุคลิกภาพของเราแล้วเราก็สามารถมีความสุขขั้นสูงได้ ตัวอย่างที่งานวิจัยดังกล่าวยกไว้ก็เช่น ถ้าเป็นคนลักษณะ introverted ที่ไม่ได้ชอบเจอคนเยอะๆ หรือชอบสังสรรค์ ก็จะมีความสุขมากกว่าถ้าใช้เงินในการซื้อสิ่งที่เหมาะแก่ตนเองเช่นหนังสือ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Consumer Psychology ที่พบว่าการซื้อสินค้าที่นำไปสู่ประสบการณ์ หรือที่เรียกว่า experiential purchases จะนำไปสู่ความสุขพอๆ กับการซื้อประสบการณ์เองเลยทีเดียว ของหลายๆ อย่างเช่น จักรยาน หนังสือ กล้องถ่ายรูป ฯลฯ ถ้าสามารถนำไปสู่ประสบการณ์ที่ดีได้ก็จะสามารถทำให้เรามีความสุขพอๆ กับการใช้เงินซื้อประสบการณ์เลยทีเดียว

ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Social Psychological and Personality Science ที่พบว่าการซื้อสินค้านำไปสู่ความสุขระยะยาวมากกว่าการซื้อประสบการณ์ ทั้งนี้ เนื่องจากความสุขจากประสบการณ์นั้นจะเกิดขึ้นสูงระหว่างที่เรากำลังสัมผัสประสบการณ์นั้นอยู่ เช่น ระหว่างไปเที่ยว หรือระหว่างดูคอนเสิร์ต หรือระหว่างรับประทานอาหาร แต่เมื่อกลับมาจากท่องเที่ยว ดูคอนเสิร์ต หรือรับประทานอาหาร ความสุขนั้นก็จะจางหายไป แต่การซื้อของใหม่ๆ นั้นอาจจะไม่ได้ทำให้ความสุขพุ่งสูงสุดระหว่างการซื้อ (เหมือนกับซื้อประสบการณ์) แต่ในระยะยาวแล้วการที่เราได้ใช้สินค้าดังกล่าวก็จะทำให้มีความสุขอย่างต่อเนื่องได้

สรุปคือไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือประสบการณ์​ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้คนสามารถเกิดความสุขขึ้นมาได้ แต่อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล บางคนการซื้อของก็ก่อให้เกิดความสุข บางคนการไปเที่ยวก็ทำให้เกิดความสุข บางคนการไปรับประทานอาหารในบรรยากาศดีๆ ก็มีความสุข บางคนการไปดูหนังก็มีความสุข ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใด เราก็สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้จริงๆ และถ้าพิจารณาจากฝั่งของผู้ขายกันบ้าง แทนที่เราจะมองว่าร้านหรือองค์กรของเรา ขายสินค้า หรือ ขายบริการนำเที่ยว หรือ ขายอาหาร แต่ถ้ามองว่าเป็นการขายความสุขจะได้ไหม?