ข้อเสนอ Border Tax Adjustment ของประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐ

ข้อเสนอ Border Tax Adjustment ของประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐ

นายโดนัล ทรัมป์ เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 20 ม.ค. แต่ประกาศนโยบาย

และมาตรการออกมามากมายก่อนรับตำแหน่งผ่าน Twitter ทำให้เกิดความสับสนว่ามาตรการหรือข้อเสนอใดจะถูกขับเคลื่อนให้ออกมาเป็นนโยบายจริง 

ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจนั้นประธานธิบดีทรัมป์จะ Tweet บ่อยครั้งเพื่อตำหนิบริษัทรถยนต์ที่ประกอบรถยนต์ในต่างประเทศ เช่น เม็กซิโกและนำรถคันดังกล่าวมาขายในสหรัฐ โดยไม่ต้องเสียภาษีภายใต้สนธิสัญญาการค้าเสรีนาฟต้า โดยทรัมป์ขู่ว่าหากทำเช่นนั้นจะถูกเก็บภาษีศุลกากร 35% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลของสหรัฐในขณะนี้ 

การนำเอาภาษี 2 ระบบดังกล่าวมาโยงกัน ดูเสมือนว่าทรัมป์จะสับสน แต่อาจเป็นแนวคิดที่กำลังจะถูกนำมาพัฒนาเป็นนโยบายภาษีรูปแบบใหม่อย่างจริงจังใน 2-3 เดือนข้างหน้าก็เป็นได้

ทั้งนี้เพราะนาย Paul Ryan ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐและประธานคณะกรรมการด้านการค้าและภาษีของสภาผู้แทนฯ (Way and Means Committee) นาย Kevin Brady ก็มีแนวคิดทำนองเดียวกันภายใต้ชื่อ Border Adjustable Tax หรือ destination-based cash flow tax (BDCFT) ซึ่งหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดดังกล่าว แต่เป็นข้อเสนอที่มีเงื่อนไขเพื่อเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าและคืนภาษีให้กับสินค้าส่งออก ซึ่งเป็นแนวทางที่นายทรัมน่าจะสนับสนุนในหลักการ

ดังนั้นแนวคิด Border Adjustment Tax (BAT) นี้จึงเป็นเรื่องที่นาย Paul Ryan และ นาย Kevin Brady จะผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีรายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 8 ม.ค. นาย Ryan เชิญทีมงานทำเนียบขาวของนายทรัมป์ (ซึ่งรวมถึงลูกเขยของนายทรัมป์) ไปประชุมกันเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีเป็นเวลากว่า 2 ชม. ซึ่งฝ่ายทีมงานของทรัมป์กล่าวกับนักข่าวว่าทีมงานทรัมป์เห็นด้วยกับหลักการที่จะปรับภาษีที่ชายแดน (Border adjustment tax) 

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้จะถูกนำขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจังใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะสร้างความกังวลให้กับประเทศคู่ค้าของสหรัฐอย่างมากและน่าจะเป็นมาตรการที่ขัดต่อกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก ตลอดจนอาจส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างฉับพลัน

BAT หรือการปรับภาษีที่ชายแดนนั้นคือแนวคิดที่จะยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลให้กับการส่งออกของสหรัฐทั้งหมด โดยอ้างว่าผู้ผลิตสหรัฐเสียเปรียบประเทศคู่ค้าที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ประมาณ 20% แต่รัฐบาลกลางสหรัฐไม่เก็บแวต (แม้ว่าจะมีการเก็บภาษีในอัตราต่างกันในระดับมลรัฐ) 

ในขณะเดียวกันแผนปฏิรูปภาษีของนาย Ryan นั้น เสนอให้ลดภาษีรายได้นิติบุคคลจาก 35% ลงมาที่ 20% แต่ในกรณีของผู้ส่งออกนั้นเสนอให้ ปรับภาษีที่ชายแดน ให้เหลือ 0% ซึ่งจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในเชิงของภาษีเมื่อแข่งขันในตลาดโลกและทำให้ผู้ส่งออกสหรัฐไม่ต้องเสียเปรียบเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้

แต่ในทำนองเดียวกันนาย Ryan มองว่าผู้ส่งออกต่างชาติที่ส่งสินค้ามาขายในสหรัฐก็ได้เปรียบผู้ผลิตภายในสหรัฐอย่างมาก เพราะเมื่อส่งออกสินค้าก็จะได้รับคืนภาษีแวตเต็มจำนวน ดังนั้นสหรัฐจึงจะต้องเก็บภาษีสินค้านำเข้าในอัตรา 20% เท่ากับภาษีรายได้นิติบุคคลที่ธุรกิจสหรัฐจะต้องจ่าย 

แนวคิดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในเชิงรายได้ภาษี เพราะสหรัฐขาดดุลการค้าประมาณ 3% ของจีดีพี จึงจ่ายภาษีคืนผู้ส่งออกน้อยกว่าเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้านำเข้า ทำให้มีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 0.6% ของจีดีพี (20% ของ 3%) หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านเหรียญต่อปี

ผมสรุปว่ามาตรการ BAT นี้ควรจะต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นแนวคิดที่ผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองสหรัฐให้การสนับสนุนและเป็นมาตรการที่จะส่งผลกระทบกับประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกอย่างมีมีนัยสำคัญ หากพิจารณาจากมุมมองของฝ่ายสหรัฐนั้นต้องยอมรับว่า BAT นั้นมีข้อดีอยู่มาก กล่าวคือ

ช่วยให้ผู้ส่งออกสหรัฐแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ในตลาดโลกได้ดีขึ้น

ช่วยลดการนำเข้าและส่งเสริมให้หันมาผลิตหรือใช้ทรัพยากรภายในประเทศมากขึ้น

ทำให้รัฐบาลกลางมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีหลายฝ่ายที่น่าจะต่อต้าน BAT อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผู้ค้าปลีกซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าและโรงกลั่น ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบ ตลอดจนผู้ผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีระบบการผลิตที่กระจายออกไปทั่วโลก เพราะจะได้รับผลกระทบในทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะต้องปรับขึ้นราคาค้าปลีก ซึ่งจะกระทบกับผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย (ที่ต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจาก Wal-Mart ที่นำเข้าจากจีน เป็นต้น)

แต่เรื่องนี้ก็ถูกโต้แย้งจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการบางส่วนว่าผลกระทบต่อผู้บริโภคจะมีไม่มากนักหรืออาจไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะเงินสหรัฐจะแข็งค่าขึ้นและในเชิงทฤษฎีนั้นจะสามารถแข็งค่าขึ้นจนกระทั่งราคาสินค้ารำเข้าคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่แตกต่างจากก่อนเก็บภาษี กล่าวคือหากเก็บภาษีสินค้านำเข้า 20% ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 20% ได้เช่นกัน และในเชิงเดียวกัน ผู้ส่งออกก็จะไม่ได้มีภาระทางภาษีที่ดีขึ้นกว่าเดิม 

นอกจากนั้น การขาดดุลการค้าของสหรัฐก็จะไม่เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นเดียวกัน (จึงทำให้รัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะต้องถามว่าแล้วใครเป็นผู้สูญเสียจาก BAT เพราะในเชิงทฤษฎีนั้นเป็นไปได้ที่ผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและผู้บริโภค ไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบ แต่รัฐบาลสหรัฐเก็บภาษีเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 แสนล้านเหรียญต่อปี