เมื่อประมาณการเศรษฐกิจถูกตั้งคำถาม

เมื่อประมาณการเศรษฐกิจถูกตั้งคำถาม

ช่วงปีใหม่เป็นช่วงที่หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินจะออกมาประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจว่า

เศรษฐกิจปีนี้จะโตเท่าไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ต้องระวัง หรืออะไรจะเป็นโอกาสทางธุรกิจ ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนที่จะทราบถึงแนวโน้มเศรษฐกิจเพื่อสามารถปรับตัวและวางแผนธุรกิจได้อย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนที่จะทราบทิศทางของเศรษฐกิจและตลาดการเงิน เพื่อเลือกและปรับพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีเหตุมีผล และเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายหรือหน่วยงานเศรษฐกิจของทางการที่จะทราบว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ควรต้องเปลี่ยนนโยบายหรือทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นและมีเสถียรภาพ ประโยชน์ดังกล่าว ทำให้การประมาณการเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องปรกติ มีทำกันทุกประเทศเป็นประจำ และสื่อมวลชนก็ให้ความสำคัญ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเศรษฐกิจทั่วไป

แต่ที่เป็นประเด็นวันนี้ มาจากการแสดงความเห็นของนาย Andy Haldane หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางสหราชอาณาจักร หรือ Bank of England เมื่อเร็วๆนี้ ที่ออกมายอมรับว่า ประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบของการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป หรือ Brexit ที่จะมีต่อเศรษฐกิจอังกฤษผิดพลาด เพราะวิเคราะห์ว่า ถ้าผลประชามติออกมาเป็นการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงมาก คือเป็นผลในแง่ลบ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ เศรษฐกิจอังกฤษสามารถปรับตัวต่อผลของประชามติได้เป็นอย่างดี มีการฟื้นตัวที่รวดเร็วในปีที่ผ่านมา และกลายเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีมากประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ต่างโดยสิ้นเชิงกับการวิเคราะห์ของธนาคารกลางอังกฤษที่ออกมาก่อนช่วงการลงประชามติว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะชะลอตัวรุนแรงถ้าผลประชามติออกมาเป็นการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป

ข้อมูลจริงที่ชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษไม่ได้ชะลอตัวรุนแรงปีที่แล้ว ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะจากนักการเมืองที่มองว่า ธนาคารกลางอังกฤษไม่ได้วิเคราะห์อย่างเป็นกลาง และอาจมีประเด็นอยู่ในใจที่อยากให้ผลประชามติออกมาอย่างที่ธนาคารกลางอังกฤษต้องการ จึงประโคมผลการวิเคราะห์ไปในแบบนั้น ขณะที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารกลางอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจาก จุดอ่อนของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่หลักทฤษฎียืนอยู่บนข้อสมมติว่าพฤติกรรมของคนในระบบเศรษฐกิจมีเหตุมีผล (Rational behavior) แต่ถ้าพฤติกรรมของคนเป็นแบบไม่ค่อยมีเหตุมีผล (Irrational) กรอบการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์ที่ใช้กันในปัจจุบันก็จะไม่สามารถสะท้อนสิ่งเหล่านี้ได้ และได้พูดเลยไปว่า วิชาเศรษฐศาสตร์กำลังมีวิกฤติ ที่กรอบการวิเคราะห์ไม่สามารถคาดการณ์หรือประมาณสถานการณ์เศรษฐกิจได้ดีพอ โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่วิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ปัญหาอยู่ที่การนำหลักเศรษฐศาสตร์ไปใช้ โดยไม่ตระหนักถึงข้อจำกัดที่มีอยู่ ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนต้องเข้าใจ เพื่อใช้ข้อสรุปและตีความผลการวิเคราะห์และการคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง กรณี Brexit นี้ไม่ใช่ครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกครั้งใหญ่ปี 2008 การประทุขึ้นของวิกฤติเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ที่ทำการวิเคราะห์เศรษฐกิจในช่วงนั้นคาดไม่ถึง ไม่สามารถบอกได้ล่วงหน้าว่าวิกฤติเศรษฐกิจกำลังจะเกิดขึ้น ไม่มีใครมองเห็น จนพระราชินี อลิซาเบธที่สอง (Queen Elizabeth II) ของอังกฤษ ถึงกับปรารภตอนเสด็จเยี่ยม London School of Economics and Political Science หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ว่า ทำไมวิกฤติใหญ่ขนาดนี้ไม่มีใครมองเห็น

ผมคิดว่า ประเด็นหลักที่ทำให้การวิเคราะห์หรือประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่มีข้อจำกัด ก็เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีตัวแปรมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องหรือเข้ามากระทบ และจากตัวแปรที่มีมากนี้ เศรษฐศาสตร์จึงไม่ใช่วิชาแบบวิทยาศาสตร์ที่สามารถคำนวณหรือคาดการณ์อะไรได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญ ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการนำแบบจำลองคณิตศาสตร์เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์เศรษฐกิจ โดยยึดหลักของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ที่พยายามระบุความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจเป็นสมการคณิตศาสตร์ ทำให้ต้องตั้งข้อสมมติหลายอย่างเกี่ยวกับพฤติกรรม และความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อจำลองเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ ทำให้กรอบการวิเคราะห์ออกมาเป็นแบบพื้นๆ ไม่สามารถนำปัจจัยสำคัญอื่นๆ เชิงคุณภาพที่มีผลต่อพฤติกรรมของเศรษฐกิจมาร่วมวิเคราะห์ได้

การวิเคราะห์กลายเป็นเรื่องเทคนิค ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ และผลวิเคราะห์ที่ออกมาก็สะท้อนความเข้าใจพฤติกรรมตามข้อสมมติที่ตั้งไว้ มากกว่าสะท้อนพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในเศรษฐกิจ นำไปสู่ช่องว่างระหว่างการประเมินเศรษฐกิจกับภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เช่น ตัวเลขประมาณการผิดเทียบกับข้อมูลจริง หรือ ตัวเลขประมาณการใกล้เคียงกับข้อมูลจริง แต่เหตุผลที่ใช้ผิด หรือ ตัวเลขประมาณการอยู่ใน range ที่กว้างมาก เช่น เศรษฐกิจขยายตัวระหว่าง 3-4 เปอร์เซนต์ จนไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ข้อมูลได้

ในความเห็นของผม สาเหตุหลักที่ทำให้การประมาณการเศรษฐกิจอย่างที่ทำในปัจจุบันมักผิดพลาด น่าจะมาจากสามเรื่อง

หนึ่ง การวิเคราะห์ไม่ได้นำปัจจัยที่สำคัญจริงๆต่อพฤติกรรมเศรษฐกิจมาวิเคราะห์อย่างครบถ้วน ยึดแต่ปัจจัยที่มีอยู่ในแบบจำลองเศรษฐกิจ ที่มักไม่ครบถ้วนหรือเป็นข้อสมมติที่พื้นๆเกินไปจนไม่สะท้อนพฤติกรรมแท้จริงที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น ในกรณีของไทย ก็เช่น ตัวเลขการส่งออกที่มีการประมาณการเป็นตัวเลขบวกมาตลอด ทั้งที่ข้อเท็จจริงตัวเลขติดลบมาตลอด เพราะมองแต่ความต้องการต่างประเทศ ราคาและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยหลักในการประมาณการการส่งออก ไม่ได้ลงลึกถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การส่งออกจะติดลบในช่วงสองปีที่ผ่านมา

สอง นักวิเคราะห์ไม่มีข้อมูลมากพอในเรื่องฐานะการเงินที่แท้จริงของหน่วยธุรกิจ รวมถึงรายละเอียดของนโยบายที่สำคัญของทางการ ทำให้ไม่สามารถคาดเดา (anticipate) เหตุการณ์ในเชิงวิกฤติได้ นอกจากนี้ การไม่มีข้อมูลด้านนโยบายมากพอ ทำให้นักวิเคราะห์จะมองโลกในแง่ดี ไม่ทราบถึงเงื่อนเวลาหรือข้อจำกัดของการออกนโยบาย รวมถึงความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการการทำนโยบาย ตัวอย่างเช่น ประเทศเรา นักวิเคราะห์ได้พูดตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมาว่า การลงทุนภาครัฐจะเป็นกลไกเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ การลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศเรายังไม่เกิดขึ้นจริงจัง

สาม การวิเคราะห์เป็นประเภทคิดเหมือนกันหมด หรือ Groupthink ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองแนวโน้มเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน มีผลสรุปคล้ายกัน แตกต่างก็เฉพาะตัวเลขจีดีพีเป็นทศนิยม เหมือนไม่มีใครกล้าแตกแถว ทำให้ไม่สามารถชี้ประเด็นปัญหาที่ประเทศมีอยู่จริงได้ การประมาณการเศรษฐกิจที่ออกมา จึงเป็นเหมือนกิจกรรมทำนายตัวเลขจีดีพีที่ทางการจะประกาศออกมาในที่สุด มากกว่าที่จะวิเคราะห์แนวโน้มและปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ จุดอ่อนจึงไม่ได้อยู่ที่วิชาเศรษฐศาสตร์ แต่อยู่ที่นักเศรษฐศาสตร์ที่นำวิชาเศรษฐศาสตร์ไปใช้โดยไม่ตระหนักถึงข้อจำกัด เป็นปัญหาของนักร้อง ไม่ใช่เพลง