แนวโน้มสำคัญในการทำงานในปี 2560

แนวโน้มสำคัญในการทำงานในปี 2560

พอเริ่มปีใหม่เราจะเริ่มเห็นการพยากรณ์แนวโน้มต่างๆ สำหรับต่อไป ปรากฎว่าในช่วงสิ้นปี

ที่แล้วต่อต้นปีนี้กลับเห็นสำนักข่าวหลายๆ แห่งของต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับแนวโน้มหรือ Trend หนึ่งในปี 2560 นี้อย่างพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมาย นั้นคือแนวโน้มของที่ทำงาน (Workplace) ที่จะเปลี่ยนไปในปี 2560 ผมเลยขอรวบรวมจากรายๆ แหล่งที่น่าสนใจมาแบ่งปันกันนะครับ

แนวโน้มประการแรก คือ บทบาทของฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลหรือ HR ที่จะเปลี่ยนไป และหันมาเน้นในด้านของ People Science มากขึ้น เนื่องจากกระแสของ Big Data ที่เข้ามาในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นกลับพบว่าไม่ค่อยได้เข้ามามีบทบาทในงานด้าน HR เท่าไร ดังนั้น จึงมีผู้คาดการณ์แล้วว่า Big Data จะเข้ามามีบทบาทในงานด้าน HR มากขึ้นในใหม่นี้ โดยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของพนักงานแต่ละคนตั้งแต่เริ่มเข้ามาจนกระทั่งพัฒนาและเติบโตไปตามตำแหน่งต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของ HR ได้ดีขึ้น

ประการที่สองคือแนวโน้มของการใช้อีเมลที่ลดน้อยลง ในปัจจุบันองค์กรชั้นนำหลายแห่งก็ได้มีความพยายามและแนวโน้มที่จะลดการใช้อีเมลลง บริษัทในฝรั่งเศสแห่งหนึ่งถึงขั้นระบุว่าเพียงแค่ร้อยละ 10 ของอีเมลที่พนักงานได้รับในแต่ละวันที่มีประโยชน์ และร้อยละ 18 ของอีเมลในแต่ละวันเป็น spam ดังนั้น CEO ของบริษัทดังกล่าวพยายามให้พนักงานเขาลดการใช้อีเมลเพื่อสื่อสารภายในองค์กรและใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น พวก messaging หรือ chat แทน

ดังนั้นอย่าแปลกใจนะครับถ้าเราจะเห็นแนวโน้มการสนับสนุนให้ใช้อีเมลน้อยลง รวมทั้งมีเครื่องมือในการสื่อสารใหม่ๆ เข้ามาช่วยเรื่องการสื่อสารภายในองค์กรมากขึ้น

แนวโน้มประการที่สามคือสิ่งตอบแทนที่องค์กรให้กับพนักงานในรูปแบบที่ไม่ธรรมดาเริ่มจะได้รับความนิยมน้อยลง ตัวอย่างของสิ่งตอบแทนพวกนี้ได้แก่ สมาชิกคลับออกกำลังกาย หรือ การบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลในนามของพนักงาน ซึ่งได้มีการวิจัยแล้วพบว่าสิ่งตอบแทนต่างๆ ข้างต้นนั้นไม่ได้ทำให้ความพึงพอใจของพนักงานเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ส่วนสิ่งตอบแทนที่ทำให้ความพึงพอใจของพนักงานเพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นพวกประกันสุขภาพ หรือการเพิ่มวันหยุดพักร้อน ดังนั้น ถ้าองค์กรต่างๆ ต้องการเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน ก็ควรจะหันกลับไปมุ่งเน้นในผลตอบแทนที่เป็นหลักๆ พื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิตพนักงานมากกว่า

แนวโน้มประการที่สี่คือ เวลาในการทำงานจะมีความยืดหยุ่มากขึ้น (มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย) เนื่องจากคนยุคใหม่ได้ให้ความสนใจกับ work-life balance มากขึ้น ดังนั้น ถ้าเลือกได้ คนรุ่นใหม่ก็ยินดีที่จะเลือกทำงานในสภาพแวดล้อมที่เวลาในการทำงานมีความยืดหยุ่น ประกอบกับพัฒนาการของเทคโนโลยี ก็ไม่จำเป็นที่ทั้งองค์กรและพนักงานจะยึดติดกับเวลาและกำหนดการทำงานแบบเดิมๆ

แนวโน้มประการที่ห้าคือกระแสของ Gig Economy หรือ Freelance Economy จะซาลง โดยในช่วงหลายปีท่ีผ่านมามีความตื่นตัวใน Gig / Freelance Economy ที่คนรุ่นใหม่จะไม่ทำงานประจำและหันมารับงานเป็นครั้งๆ ไป ประกอบกับกระแสของ Sharing Economy ที่ทำให้ธุรกิจอย่าง Uber หรือ Airbnb มีการเติบโตขึ้น และคาดกันว่าคนจะทำงานประจำน้อยลงและมารับงานเป็นจ๊อบๆ กันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลวิจัยล่าสุดของ J.P.Morgan Chase พบว่าประมาณ 4.3% ของผู้ใหญ่สหรัฐที่มีรายได้จาก Gig Economy เหล่านี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในรอบสามปีที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกัน ก็มีงานวิจัยอื่นๆ ที่มาสนับสนุนว่า Gig / Freelance Economy นั้นไม่ได้มีการเติบโตอย่างที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นเราอาจจะเห็นแนวโน้มที่พนักงานที่ลาออกไปประกอบอาชีพอิสระจะเริ่มกลับมาทำงานประจำกับองค์กรกันมากขึ้น

ก็ต้องรอดูต่อไปนะครับว่าแนวโน้มต่างๆ ในการทำงานเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่