ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นเรื่องที่กฎหมายทั้งของต่างประเทศ

และกฎหมายไทยให้การรับรองและคุ้มครอง อันมีที่มาจากความจริงพื้นฐานว่ามนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า เป็นสังคม ย่อมประสงค์ความสงบเรียบร้อยในหมู่คณะในสังคม มิฉะนั้นก็จะไม่อาจอยู่รอดปลอดภัย  

ส่วนศีลธรรมเป็นธรรมเนียมประเพณีของสังคม ที่เป็นตัวช่วยให้ให้สังคมอยู่กันด้วยความเรียบร้อย สงบสุข การกระทำที่เป็นการขัดขวางวัตถุประสงค์ ที่จะก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของสังคม จึงทำให้มีบทบัญญัติของกฎหมาย ให้การกระทำหรือเจตนาจะกระทำการที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็จะมีผลให้การกระทำนั้น ใช้ไม่ได้ ไม่มีผล เป็นโมฆะ หรืออาจเป็นองค์ประกอบของความผิดที่มีโทษทางอาญาบางกรณีด้วย

กฎหมายไทยที่ให้การรับรองคุ้มครอง เรื่อง ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร มีประมาณ50ฉบับ ที่สำคัญที่เป็นหลักของการทำนิติกรรม คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ที่บัญญัติว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการ พ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 372 บัญญัติว่า ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถาน หรือกระทำโดยประการอื่นใดให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณ หรือสาธารณสถาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

ส่วนที่บัญญัติในพระราชบัญญัติ เช่น พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 5 การอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลดีและผลเสียด้านต่างฯ ก็ให้คำนึงถึง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 20 ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดันของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้

การกระทำที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นั้น ไม่มีกฎหมายฉบับใด กำหนดคำนิยามหรือให้ความหมายหรือบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้ จึงเป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาล

ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นแนวบรรทัดฐานมากมายหลายคดี เช่น

คำพิพากษาฎีกาที่4899/2551 ที่วินิจฉัยว่า ข้อตกลงที่จะยินยอมให้โจทก์ทั้งสองระบุจำนวนค่าเช่าให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยตามกฎหมายนั้น ย่อมเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาฎีกาที่ 2065/2527 ที่วินิจฉัยว่า การจัดหาหญิงส่งไปเป็นนางบำเรอพวก เศรษฐีในฮ่องกง เป็นมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1584/2555 วินิจฉัยว่า ข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างทนายความที่ระบุว่า จำเลยทั้งเก้าตกลงให้ค่าจ้างจำนวนร้อยละ 10 ของจำนวนเงินค่าเสียหาย ดอกเบี้ย และผลประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือจากต้นเงินที่ซื้อขายที่ดิน... มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดีที่รับว่าความ จึงไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความถือว่าเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของ ประชาชน

เรื่องอำนาจฟ้อง ศาลถือว่าเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้หลายคดี เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2558 วินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่า หนังสือมอบอำนาจ โจทก์มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นการไม่ชอบ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจไม่ชอบอย่างไรตั้งเป็นประเด็นไว้และก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรมาแต่แรก และเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้

สำหรับ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมและผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้วเมื่อต้นเดือน ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ในส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา20 ก็ยังคงให้เจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนคล้ายหลักการตามมาตรา20 เดิม แค่มีการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำ เพิ่มเติมองค์ประกอบ ขั้นตอนวิธีการปฏิบัติ และเพิ่มให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองในการใช้ดลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการร้องขอต่อศาล

ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่อาจถูก ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกไปนั้น จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นใหม่ แต่เป็นบทบัญญัติตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่มีอยู่เดิม เพียงแต่มีถ้อยคำที่เพิ่มเจ้ามาเป็นการขยายความให้ชัดเจนขึ้น คำว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็เป็นบทบัญญัติที่ใช้ในกฎหมายไทยมานานแล้ว และใช้อยู่มากหลายสิบฉบับ และก็มิใช่เป็นถ้อยคำที่กว้างจนหาขอบเขตมิได้ การวินิจฉัยเป็นอำนาจของศาลซึ่งมีขอบเขตในการวินิจฉัยตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นแนวบรรทัดฐานที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว มากมายหลายคำพิพากษา