ภารกิจพิชิต 'ธัมมชโย'

ภารกิจพิชิต 'ธัมมชโย'

ขณะที่นั่งเขียนคอลัมน์อยู่นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ

 ยังไม่กำหนดวันเข้าค้นและจับกุมตัว ธัมมชโย” แต่ภารกิจสำรวจสภาพพื้นที่ภายในวัดธรรมกาย เดินหน้าในทุกมิติทั้งภาคพื้นดิน และภาพมุมสูง

กรมสอบสวนคดีพิเศษ แบ่งภารกิจ เป็น 2 ส่วนที่จะทำงานสอดประสานกัน

ชุดที่ 1 ชุดโอปะเรชั่น มีรองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล เป็นผบ.ควบคุมสถานการณ์ มีผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษ พ.ต.ต.จตุพล บงกชมาศ คุมกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษ ดีเอสไอ อีก 150 คน เข้าประจำ “จุด” ที่กำหนดเอาไว้แล้ว

ชุดนี้จะประสานความร่วมมือกับตำรวจ และกำลังพลจากหน่วยสนับสนุนอื่น เข้าตรวจค้นวัดธรรมกาย ตามที่ได้รับอนุมัติจากศาลอาญา มุ่งการจับกุม ผู้ต้องหา คือ “ธัมมชโย” เป็นสำคัญ ชุดโอปะเรชั่น จะได้การสนับสนุนจากชุดสืบสวนสะกดรอย ที่แทรกซึมอยู่ภายใน และโดยรอบวัด และชุดเซอร์เวย์ภาพมุมสูงจากอากาศยานไร้คนขับบังคับระยะไกล เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนภายในวัดแบบเรียลไทม์ จะได้ไม่พลาดขณะลงมือปฏิบัติการ

ส่วนดีเอสไอ ชุดที่ 2 คือ ชุดสอบสวน มี ผู้บัญชาการสำนักการเงิน การธนาคาร พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล เป็นหัวหน้าชุด มี พล.ต.ต.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ เป็นที่ปรึกษา คณะทำงานประกอบด้วย อัยการ ขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ และทีมอัยการ 4-5 คน

ชุดพนักงานสอบสวน จะเป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว ไม่ประจำจุด เมื่อได้ตัวผู้ต้องหา คือ “ธัมมชโย” แล้ว ชุดนี้จะเข้าสอบปากคำ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะสอบที่สภ.คลองหลวง หรือที่ดีเอสไอ เมื่อสอบปากคำแล้วจะแจ้งข้อหา 3 ข้อหา คือฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร พร้อมแจ้งสิทธิ์ผู้ต้องหาตามกฎหมาย ขั้นตอนสุดท้ายคือพิมพ์ลายนิ้วมือทำประวัติ ถือว่าเสร็จสิ้น ภารกิจแรก

ภารกิจต่อไป คือ ส่งผู้ต้องหาให้กับอัยการ จากนั้น เป็นดุลยพินิจของอัยการว่า จะให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือไม่ กรณีที่ไม่ให้ประกันตัวอัยการจะส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาล ตามหมายจับที่ออกมาจากศาลอาญา ถึงกระนั้น ผู้ต้องหา ยังมีสิทธิยื่นประกันตัวในชั้นศาล

ภารกิจนี้ ยังจะมีปัจจัยแทรกซ้อนที่ต้องประเมินตามสถานการณ์ แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าจะมี แรงต้านที่ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานนี้ไปให้ได้