ฟิลเตอร์ในโซเชียลปรับหน้าสวยจึ้ง! กระตุ้น Gen Z ‘ฉีดโบท็อกซ์’ เพิ่มขึ้น 73%

ฟิลเตอร์ในโซเชียลปรับหน้าสวยจึ้ง! กระตุ้น Gen Z ‘ฉีดโบท็อกซ์’ เพิ่มขึ้น 73%

ผลสำรวจชี้ Gen Z อาจเสพติดการฉีดโบท็อกซ์? เมื่อฟิลเตอร์ในโซเชียลช่วยปรับสีผิว-ใบหน้าให้สวยจึ้ง! กระตุ้นคนรุ่นใหม่ ‘ฉีดหน้า’ เสริมความงามเพิ่มขึ้น 73%

KEY

POINTS

  • ใบหน้าสวยเนียนกริบ ผิวไร้รูขุมขน คิ้วโค้งงออย่างสมบูรณ์แบบ ลดไขมันกระพุ้งแก้ม และริมฝีปากอวบอิ่ม กลายเป็นมาตรฐานความงามในโลกโซเชียลมีเดียของผู้คนยุคนี้ไปแล้ว
  • การทำหัตถการความงามบนใบหน้าอย่างการฉีดฟิลเลอร์-ฉีดโบท็อกซ์ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2019 - 2022 โดยการฉีดโบท็อกซ์เพิ่มขึ้นถึง 73% 
  • สาเหตุหนึ่งที่มีส่วนกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันไปทำหัตถการความงามใบหน้ามากขึ้น อาจมาจาก “บิวตี้ พรีวิเลจ (Beauty Privilage)” ที่หลายคนอยากได้รับจากสังคมเชิดชูคนสวยหล่อ

 

เชื่อว่าในยุคนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักการใช้ “ฟิลเตอร์” แต่งรูปที่เป็นฟังก์ชันอยู่ในแอปฯ โซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Tiktok, Instagram, Snapchat เพื่อปรับสีผิวและดึงรูปหน้าให้ดูดีขึ้นกว่าเดิม ก่อนจะโพสต์หรือแชร์รูปตนเองสู่โลกออนไลน์ ยิ่งในยุคนี้มีเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก แอปฯ ต่างๆ ได้นำ AI เข้ามาพัฒนาฟิลเตอร์จนช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถปรับรูปหน้าและผิวหน้าให้สวยสมจริงมากขึ้นจนแทบแยกไม่ออก

โดยเฉพาะฟิลเตอร์ที่ชื่อว่า Augmented Reality (AR Filters) กลายเป็นกระแสไวรัลขึ้นมา เพราะได้รับความนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากความสามารถในการย่อขนาดจมูกและทำให้สีผิวดูสว่างขึ้น ซึ่งการใช้ฟิลเตอร์ปรับแต่งรูปหน้าและสีผิวของคนยุคนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ชาว Gen Z ดูจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว (ใครจะไม่ทำบ้างล่ะ?) 

ทั้งนี้เนื่องจากใบหน้าสวยเนียนกริบ ผิวไร้รูขุมขน คิ้วโค้งงออย่างสมบูรณ์แบบ ลดไขมันกระพุ้งแก้ม และริมฝีปากอวบอิ่ม ถือเป็นสัญลักษณ์และมาตรฐานความงามในโลกโซเชียลมีเดียไปแล้ว ที่น่าสนใจคือ การปรับแต่งใบหน้าเหล่านั้น กำลังเกิดขึ้นในชีวิตจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีใครที่จะอยากโดนว่า “หน้าไม่ตรงปก” นั่นกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันไปทำหัตถการใบหน้าประเภท “ฉีดโบท็อกซ์-ฟิลเลอร์” เพิ่มขึ้นอย่างมากจนน่าตกใจในช่วง 2-3 ปีมานี้   

ชาว Gen Z ทำหัตถการเสริมความงาม "ฉีดโบท็อกซ์" เพิ่มขึ้นถึง 73% 

อีฟ อัปตัน-คลาร์ก รายงานผ่าน Business Insider ว่า การทำหัตถการความงามบนใบหน้าที่ไม่ต้องผ่าตัดและช่วยดูแลริ้วรอย อย่างการฉีดฟิลเลอร์ริมฝีปาก และการฉีดโบท็อกซ์จุดต่างๆ บนใบหน้า กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2019-2022 โดยกระบวนการเสริมความงามบนใบหน้าเพิ่มขึ้น 18% ส่วนเฉพาะการฉีดโบท็อกซ์นั้นเพิ่มขึ้นถึง 73% 

นอกจากนี้ ตามข้อมูลของ American Academy of Facial Plastic and Reconstructive Surgery ก็พบด้วยว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่มีความต้องการทำหัตถการความงามเหล่านั้นมากขึ้น โดยมีการสำรวจข้อมูลจากศัลยแพทย์ตกแต่งใบหน้าในปี 2022 พบว่า 75% ของศัลยแพทย์ฯ รายงานว่า มีลูกค้าอายุต่ำกว่า 30 ปี เข้ามาฉีดฟิลเลอร์ที่หน้าผากและริมฝีปากอวบอิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาต้องการถ่ายรูปเซลฟีแล้วดูสวยเป๊ะมากขึ้น

ฟิลเตอร์ในโซเชียลปรับหน้าสวยจึ้ง! กระตุ้น Gen Z ‘ฉีดโบท็อกซ์’ เพิ่มขึ้น 73%

บิวตี้อินฟลูเอนเซอร์ อิทธิพลหลักของคนรุ่นใหม่ที่อยากสวยตามมาตรฐานโลกโซเชียล

สิ่งนี้ทำให้ คลาร์ก ตั้งข้อสังเกตว่า “โซเชียลมีเดีย” และ “บิวตี้อินฟลูเอนเซอร์” ชื่อดัง ได้เข้ามามีอิทธิพลในการกำหนดรูปลักษณ์ของผู้คน โดยในปี 2019 The New Yorker ได้นิยามปรากฏการณ์นี้ไว้ว่าเป็น “The Age of Instagram Face” หรือเทรนด์การทำหน้าให้สวยเป๊ะตามมาตรฐานความงามของโลกไอจี 

โดยลุคที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคหนึ่งก็คือ ลุคความงามแบบ Kardashians กล่าวคือ ต้องมีโหนกแก้มกลมสวยชัดเจน ดวงตาเหมือนแมว และริมฝีปากอวบอิ่ม ช่วงนั้นจะพบว่าผู้คนเริ่มมีหน้าตาเหมือนกัน และเทรนด์ความงามนี้ดูจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ 

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ “การฉีดโบท็อกซ์-ฟิลเลอร์” ได้รับความนิยมในกลุ่ม Gen Z มากขึ้นในช่วงหลังมานี้ ได้แก่ ราคาที่เอื้อมถึง, มีคลินิกจำนวนมากทำให้เข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น, การตีตราที่ลดลง รวมถึงความกดดันใหม่ที่เกิดขึ้นในแวดวงความงาม หลายคนอยากแสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็มีกำลังจ่ายในการทำหัตถการได้เหมือนคนรวย-คนดังต่างๆ เช่นกัน จากปัจจัยเหล่านี้ล้วนผลักดันให้วงการศัลยกรรมพลาสติกเติบโตอย่างรวดเร็ว 

วิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกัน ผู้ที่ใช้ฟิลเตอร์แต่งรูป มักจะอยากทำหัตถการฉีดใบหน้ามากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบการศึกษาหรืองานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ชี้ตรงกันว่า คนรุ่นใหม่ชาว Gen Z หันมาฉีดหน้าเสริมความงามมากขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากโซเชียลมีเดีย ได้แก่

- การศึกษาในปี 2020 โดย City University of London พบว่า 90% ของผู้หญิงอายุ 18-30 ปีล้วนใช้ฟิลเตอร์ในโซเชียลมีเดียเพื่อปรับปรุงรูปลักษณ์ของพวกเขา 

- การศึกษาในปี 2019 พบว่าผู้ที่ใช้ YouTube, Tinder และ Snapchat โดยเฉพาะฟีเจอร์การแก้ไขภาพ มีแนวโน้มที่จะยอมรับการทำศัลยกรรมความงามมากกว่า

- การศึกษาในปี 2022 ที่ศึกษาผู้ใช้ Instagram รุ่น Gen Z พบว่า ผู้ที่ใช้ฟิลเตอร์ในการแก้ไขรูปภาพมีแนวโน้มที่จะทำหน้าหรือเสริมความงามมากกว่า

- ผลการศึกษาในปี 2022 พบว่าผู้ที่ติดตามอินฟลูเอนเซอร์ที่เคยทำศัลยกรรมความงาม มักจะอยากเข้ารับการทำหัตถการของตนเองมากกว่า

- ผลสำรวจผู้ใช้ Vice of Snapchat ในสหราชอาณาจักร ปี 2019 พบว่า 59% ของวัยรุ่นอายุ 13 - 24 ปี ระบุว่า พวกเขามองว่าการฉีดโบท็อกซ์และฟิลเลอร์ เทียบได้กับการตัดผมหรือทำเล็บ เมื่อพิจารณาจากราคาแล้ว การไปร้านทำผมระดับไฮเอนด์และการย้อมผมกับการทำโบท็อกซ์ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก

ฟิลเตอร์ในโซเชียลปรับหน้าสวยจึ้ง! กระตุ้น Gen Z ‘ฉีดโบท็อกซ์’ เพิ่มขึ้น 73%

“โซเชียลมีเดีย” เป็นอันตรายต่อความความพึงพอใจในตัวเองของหนุ่มสาว Gen Z

ด้าน เฮเทอร์ วิดโดวส์ ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัย Warwick กล่าวว่า “เรามักจะเปรียบเทียบใบหน้าและร่างกายของเรากับโปรไฟล์ Instagram ของคนอื่นเสมอ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ดีว่า ตัวจริงของคนเหล่านั้น ไม่มีใครดูดีเป๊ะปังได้เหมือนรูปโปรไฟล์ไอจีของพวกเขาหรอก” 

“การทำหัตถการใบหน้าสมัยนี้ ไม่ใช่แค่ทำเพื่อให้ตนเองดูดีขึ้นเท่านั้น แต่มันกลายเป็นว่าเรารู้สึกเหมือนล้มเหลวถ้าเราไม่ทำตามเทรนด์นั้น”

นี่ยิ่งตอกย้ำว่า “แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย” เป็นอันตรายต่อความรู้สึกความพึงพอใจในตัวเองของคนหนุ่มสาวชาว Gen Z มานานแล้ว จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่นในปี 2018 พบว่า ยิ่งพวกเขาใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้นเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งมีโอกาสพบกับ “ความไม่พอใจทางร่างกายตนเอง” และภาวะซึมเศร้า มากขึ้นเท่านั้น 

ขณะที่งานวิจัยที่ตีพิมพ์โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกันในปี 2023 พบว่า วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวที่ลดเวลาเล่นโซเชียลมีเดียลง 50% เป็นเวลาสองสามสัปดาห์ รู้สึกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเกี่ยวกับน้ำหนักและรูปร่างหน้าตาของตนเอง แต่นั่นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะทุกวันนี้เราต่างก็ใช้เวลาในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งผ่านโซเชียลมีเดียและผ่านช่องทาง Zoom

การฉีดหน้าเสริมความงาม อาจเป็นเรื่องจำเป็น เพราะสะท้อนถึง “บิวตี้ พรีวิเลจ” ในสังคมเชิดชูคนสวยหล่อ

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่มีส่วนส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มองว่า การทำหัตถการความงามใบหน้านั้นเป็นเรื่องจำเป็น มากกว่าแค่ความรู้สึกอยากสวย เพราะมันยังอาจสะท้อนถึงสิ่งที่เรียกว่า “บิวตี้ พรีวิเลจ (Beauty Privilage)” ได้ด้วย

บิวตี้พรีวิเลจ คือ สิทธิพิเศษที่คนหน้าตาดีมักได้รับมาง่ายๆ แต่กลับเกิดขึ้นได้ยากกับคนที่หน้าตาไม่ดีตามมาตรฐานสังคม หากมีคุณสมบัติ “หน้าตาดี” นี้ เพียงข้อเดียวเท่านั้น คุณก็จะได้รับความรักและการปฏิบัติที่ดีจากสังคมรอบข้าง เพราะมาตรฐานความงามเป็นพิเศษเหล่านั้นทำให้พวกเขาเจริญหูเจริญตา 

ข้อมูลจากเครือข่ายการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ปี 2559 ที่ศึกษาเกี่ยวกับสิทธิพิเศษของความหน้าตาดีที่ส่งผลต่อจำนวนเงินเดือนของ CEO บริษัทต่างๆ พบว่า เหล่า CEO ที่มีบุคลิกน่าสนใจและน่าดึงดูด จะมีเงินเดือนที่สูงกว่าอีกกลุ่มที่มีหน้าตาธรรมดา และให้ผลสรุปว่า รูปลักษณ์ที่ดีส่งผลต่อความมั่นใจในตนเอง

สอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ แดเนียล ฮาร์เมอร์เมช (Daniel Hamermesh) ได้เขียนหนังสือตั้งคำถามว่า ทำไมผู้คนที่มีเสน่ห์ถึงประสบความสำเร็จมากกว่า และเขาให้ข้อสรุปไว้ในทำนองเดียวกันว่าในทุกวงการ คนที่มีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าจะมีโอกาส “ได้รับการจ้างงาน” มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีคำอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า รูปร่างหน้าที่ดีมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการตอบรับที่ดีของผู้อื่น เพราะการดึงดูดทางกายภาพ สามารถนำไปสู่เหตุการณ์ที่สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตและสังคมโดยรอบของเราได้ สิ่งนี้เรียกว่า “lookism” หมายถึง อคติหรือการเลือกปฏิบัติที่พิจารณาจากรูปลักษณ์ของบุคคล โดยคนที่น่าตาดีมักจะมีโอกาสได้อยู่ในสังคมที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

จึงไม่แปลกที่หนุ่มสาวสมัยนี้จะหันไปพึ่งการทำหน้าหรือเสริมความงามกันตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อใช้มันเป็นต้นทุนชีวิตเพื่อไต่เต้าในเรื่องหน้าที่การงาน รวมไปถึงการหนุนให้ตนเองประสบความสำเร็จได้เร็วกว่า นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมนั่นเอง