ต้องแก้เชิงโครงการสร้าง

ต้องแก้เชิงโครงการสร้าง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 (สศช.) รายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยระบุว่า ความยากจนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยปี 2558 สัดส่วนคนจนลดลงเหลือ 7.2% จาก 10.5% ในปี 2557 ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลงแต่ยังอยู่ระดับค่อนข้างสูง โดยดูจากสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ด้านรายได้ลดลงเหลือ 0.445 ในปี 2558 จาก 0.465 ในปี 2556 โดยกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้สูงสุดมีสัดส่วนถือครองรายได้สูงถึง 35% สูงกว่าประชากร 10% ที่มีรายได้ต่ำสุดประมาณ 22 เท่า ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ด้านสินทรัพย์ พบว่า สินทรัพย์ทางการเงินกระจุกอยู่ในคนจำนวนน้อย โดยบัญชีเงินฝากประมาณ 0.1% ของบัญชีทั้งหมดมีวงเงินฝากสูงถึง 49.2% ของเงินฝากทั้งหมด ขณะที่การถือครองที่ดินของกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้สูงสุดมีสัดส่วนถือครองที่ดินถึง 61.5% ซึ่งสูงกว่าประชากรที่เหลืออีก 90% ที่มีสัดส่วนถือครองที่ดินเพียง 38.5% ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการทางสังคมในส่วนของบริการภาครัฐ แม้จะมีการขยายการให้บริการอย่างทั่วถึงแล้ว รวมถึงการคุ้มครองแรงงานที่มีประกันทางสังคมครอบคลุมเพียง 36.3% แม้จะขยายการคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบ

จากรายงานของสศช.ฉบับล่าสุด ถือเป็นรายงานความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังเผชิญกับปัญหาเดิมๆ สนั่นคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งทางด้านรายได้และการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาโดยตลอด ในขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญบ้าง ไม่ให้ความสำคัญบ้าง ขึ้นกับแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในช่วงที่ผ่านมาแทบไม่ขยับไปจากเดิม แม้ว่าประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น จนกลายเป็นวิกฤติการเมืองของประเทศยืดเยื้อยาวนาน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง

แม้ตัวเลขความยากจนของประเทศลดลงไปมาก แต่ตัวเลขความยากจนเป็นตัวเลขแบบคร่าวๆเท่านั้น ไม่ได้บอกถึงปัญหาอะไรมากนัก และยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีมากขึ้น ย่อมทำให้รายได้ของประเทศโดยรวมมากขึ้น ซึ่งทำให้ตัวเลขยากจนลดลงไปในตัวอยู่แล้ว แต่การกำหนดตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำสำหรับผู้ที่ถือว่าเป็นคนยากจนคือ 2,644 บาท/เดือน อาจเป็นตัวเลขที่น้อยเกินไป เพราะปัจจุบัน ค่าครองชีพและการใช้จ่ายของคนไทยในชีวิตประจำวันก็มากกว่านี้เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งหากสศช.ยึดตัวเลขนี้อาจหมายถึงว่าคนที่มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากอย่างยิ่งสำหรับผู้มีรายได้ระดับนี้

ดังนั้น จากรายงานดังกล่าวจำเป็นต้องพิจารณาตัวเลขต่างๆ ประกอบกันหลายด้าน หากเราต้องการเข้าใจปัญหาที่แท้จริง แต่จากตัวเลขที่ชี้ให้เห็นข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับสังคมไทย ซึ่งเราไม่ทราบว่าปัญหาและอุปสรรคที่แท้จริงอยู่ตรงไหน แต่จากช่องว่างรายได้และทรัพย์สินที่ไม่ยอมขยับลง ชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก ทั้งๆที่นโยบายการแก้ปัญหาความเท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น

เราเห็นว่าการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลที่ผ่านๆมามักจะมุ่งแก้ปัญหาระยะสั้นเป็นสำคัญ อาทิ การใช้งบประมาณช่วยเหลือปัญหาเฉพาะ ในขณะที่การแก้ปัญหาระยะยาวก็ไม่มีความต่อเนื่อง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งเราเชื่อว่าการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง ดังนั้นหากรัฐบาลหรือคนในสังคมต้องการแก้ปัญหานี้จริงๆ ก็จำเป็นต้องมาตกลงกันว่าเราจะร่วมมือร่วมใจปัญหาทางโครงสร้างกันอย่างไร หาไม่แล้วการแก้ปัญหาความยากจนก็เป็นเพียงสโลแกนของรัฐบาลทุกยุค