เลี้ยงไก่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

เลี้ยงไก่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

ในช่วงสัปดาห์ของการรณรงค์หยุดใช้ยาปฏิชีวนะแบบพร่ำเพรื่อ หรือ The World Antibiotic

Awareness Week 14-20 Nov 2016 ที่องค์การอนามัยโลกจัดโดยมีวัตถุประสงค์ ในการสร้างการตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลเพื่อป้องกันการดื้อยา น่าจะทำให้หลายคนได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้มากขึ้น

ในประเทศไทย นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโต้โผรณรงค์ให้คนไทยใช้ยาให้ถูกต้อง โดยสวมหมวกประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) รณรงค์ในเรื่องนี้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนัก ถึงภัยร้ายแรงของเชื้อดื้อยา บุคลากรทางการแพทย์บางแห่งยังจ่ายยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นให้ประชาชนในอัตราสูง รวมถึงร้านขายยาจำนวนมากที่ขายยาปฏิชีวนะให้กับลูกค้าโดยไม่แยกแยะว่า เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจริงหรือไม่ ทางฝ่ายผู้ป่วยเองก็ออกอาการดีใจเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะชื่อแปลกๆ ราคาแพงๆ ด้วยคิดว่าจะเป็นผลดีต่อการรักษา ที่จริงนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้วยังเป็นการสร้างและสะสมเชื้อดื้อยาชนิดร้ายแรงไว้ในร่างกาย

แต่นับว่ายังเป็นโชคดีของคนไทยที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างยิ่ง โดยออกเป็นนโยบาย Service Plan ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีตัวชี้วัดคือลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ในโรคไอ เจ็บคอ ท้องร่วง และอาหารเป็นพิษ ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 20 ครอบคลุมโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขราว 1,000 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีก 10,000 แห่ง ก่อเกิดเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน ซึ่งจะช่วยป้องกันการดื้อยาของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่อาจยังคงต้องรณรงค์สร้างการตระหนักรู้และขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชน คลินิค ร้านขายยา ตลอดจนขอการบังคับใช้กฏหมายกับการขายยาที่ไม่ถูกต้อง ตามร้านของชำ หรือรถเร่ ต่อไป

สำหรับภาคปศุสัตว์ นพ.พิสนธิ์ ระบุว่า “การแก้ไขเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นนั้นจะเห็นผลรวดเร็วและชัดเจนจาก ภาคปศุสัตว์ เมื่อได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทั้งรัฐและภาคเอกชนที่จะลดปัญหาเชื้อดื้อยาในสัตว์ด้วยการลดใช้ยาปฏิชีวนะ ไปจนถึงมีแผนที่จะงดใช้ยาเป็นรายชนิด แม้จะยังไม่ครอบคลุมภาคปศุสัตว์ทั้งหมดแต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

เกริ่นมาพอสมควรด้วยอยากให้เห็นภาพความพยายามของหลายภาคส่วนที่มีเป้าประสงค์เดียวกัน ในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ... ในฐานะที่ผู้เขียนมีข้อมูลในแวดวงปศุสัตว์ จึงจะขอยกตัวอย่างความพยายามของบริษัทเอกชนรายใหญ่ ที่ต้องการส่งผ่านผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค และมีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมผ่าน โครงการการเลี้ยงไก่ปลอดยาปฏิชีวนะ ที่เกิดขึ้นได้แล้วจริงๆ ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศไทย

อย่าเพิ่งกังวลว่าที่ผ่านมามีการใช้ยาเยอะเกินความจำเป็น เพราะในวงการปศุสัตว์รายใหญ่ที่มีการส่งออกนี้ จะมีมาตรฐานการผลิตสินค้าอาหารปลอดภัย (Food Safety) กำกับอยู่ โดยจะใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาเฉพาะกรณีที่สัตว์ป่วยเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์คือต้องให้การรักษาสัตว์ป่วยตามสิทธิที่สัตว์มี ขณะเดียวกันการใช้ยาทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การสั่งยาและควบคุมโดยสัตวแพทย์ หากมีการใช้ยาก็จะหยุดการใช้ตามข้อกำหนดระยะหยุดยาตามหลักวิชาการ จนปลอดจากยาตกค้างแล้วจึงจะส่งเข้าโรงงานแปรรูปต่อไป

 “โครงการการเลี้ยงไก่ปลอดยาปฏิชีวนะ” เป็นการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงให้สูงขึ้นอีก โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยาในสัตว์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเชื้อดื้อยาในคน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้นในด้านความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ “ซีพีเอฟ” ผู้ประกอบการรายใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทย สามารถเลี้ยงไก่ปลอดยาปฏิชีวนะได้สำเร็จแล้วจากโครงการนำร่องตั้งแต่ ปี 2557 โดยมีผลผลิตไก่เนื้อปลอดยาปฏิชีวนะออกมาแล้วราว 57 ล้านตัว และกำลังขยายผลต่อยอดโครงการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สพ.ญ.จิตสุภา วุฒิกรวิภาค สัตวแพทย์ผู้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ปลอดยาปฏิชีวนะของซีพีเอฟ พูดถึง หลักการเลี้ยงไก่ปลอดยาปฏิชีวนะว่า ต้องเริ่มต้นที่การคัดเลือกลูกไก่จากฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ มีอายุไข่ที่เหมาะสม มีการฆ่าเชื้อไข่ฟัก และมีการจัดการโรงฟักที่ดี เมื่อได้สายพันธุ์ที่ดีแล้ว การบริการจัดการสถานะฝูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากเทียบเท่ากับวินัยในการรักษาสุขอนามัยของคนเลยทีเดียว โดยสถานะฝูงต้องมีระบบป้องกันโรค (Biosecurity) ที่เข้มงวด มีการล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรงเรือน มีการควบคุมการจัดการภายในโรงเรือนที่ดี และเน้นการทำวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้ตัวไก่ นอกจากนี้ต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติ เป็นการปลูกฝังวินัย และต้องมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง เนื่องจากหากละเลยแม้เรื่องเล็กน้อย ย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

ขณะเดียวกัน ต้องเสริมความสามารถในการย่อยและดูดซึมอาหารของไก่ เพื่อไม่ให้อาหารที่ย่อยและดูดซึมไม่หมดต้องตกค้างจนกลายเป็นสารอาหารให้เชื้อแบคทีเรียก่อโรค เช่น อีโคไล ซาโมเนลล่า หรือ คอสตริเดียม รวมถึง ต้องเพิ่มจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ (Probiotic) หลายๆ ชนิดในลำไส้ไก่

เมื่อมีระบบการป้องกันที่ดี มีวิธีการช่วยลดแบคทีเรียก่อโรค และเพิ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์ เป็นการดูแลสุขภาพไก่อย่างดีที่สุด เป็นการป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้ไก่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อใดๆ ทำให้ไก่ในโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และสามารถดำรงสุขภาพอย่างแข็งแรงได้ตั้งแต่ฟักเป็นตัวกระทั่งเข้าสู่โรงงานแปรรูป โดยตลอดเส้นทางดังกล่าว แม้จะไม่มีการใช้ยาแต่ก็ยังคงต้องตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างตามระบบปกติ เพื่อยืนยันให้แน่ใจว่า ไม่พบสารตกค้างใดๆ และปลอดภัยต่อผู้บริโภคแน่นอน

นวัตกรรมการเลี้ยงไก่ของประเทศไทยก้าวหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีพัฒนาการของระบบการป้องกันโรคทางชีวภาพ (good biosecurity) เพื่อลดความเสี่ยง หรือในระดับการผลิต ก็มีนวัตกรรมระบบโรงเรือนและอุปกรณ์การเลี้ยง ตลอดจนความเข้มแข็งในวิธีการจัดการการเลี้ยงที่ดี (good management practice) ซึ่งทั้งหมดสะท้อนความสำเร็จอย่างงดงาม ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยไม่เคยพบโรคระบาดอย่างไข้หวัดนกอีกเลยหลังจากปี 2547

หากประเด็นเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นเรื่องของสุขภาพสัตว์และสุขภาพคนจะเข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคต....เชื่อได้ว่าภาคปศุสัตว์ของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสัตว์ปีกจะสามารถตอบโจทย์และสนองตอบต่อทิศทางดังกล่าวได้อย่างทันเหตุการณ์...ในเมื่อเรามีกรมปศุสัตว์ที่เข้มแข็ง มีสัตวแพทย์และภาควิชาการที่ชัดเจนในข้อมูล มีงานวิจัยคุณภาพและมีภาคธุรกิจที่ตระหนักถึง Food Safety ที่ไม่เคยหยุดนิ่งในการวิจัยพัฒนา...จุดเริ่มต้นดีๆ ก็เกิดขึ้นแล้วจริงๆ

 ------------------

เพ็ญภัสสร์ วิจารณ์ทัศน์