ไม่เลือกเธอ เขามาแน่

ไม่เลือกเธอ เขามาแน่

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายนนี้จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ไม่เพียงแต่ผู้ลงทุนทั่วโลกเท่านั้น แต่นักการเมือง ผู้บริหารธุรกิจ และประชาชน

ของประเทศต่างๆทั่วโลกก็พากันจับตามองเพราะเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ท่านที่ ทราบกันดีก็คงจะทราบว่าไม่ใช่วันเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาโดยตรง แต่เป็นวันเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งคณะผู้เลือกตั้งจะเป็นผู้ไปเลือกประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่งค่ะ

ทุกคนต่างใจหายใจคว่ำกับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นพิเศษเนื่องจากผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน (ต่อไปนี้จะขออ้างถึงโดยใช้สรรพนามว่า "เขา") มีการหาเสียงในลักษณะหวือหวาหวาดเสียวมาก เกี่ยวกับนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ

แต่ในช่วงท้ายท้ายนี้เนื่องจากมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้คะแนนนิยมของผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคเดโมแครต (ต่อไปนี้จะอ้างถึงโดยใช้สรรพนามว่า "เธอ") ดูจะตกลงไปเล็กน้อยจึงทำให้โอกาสของผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น

ทำไมคนถึงกลัวผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ประเด็นอยู่ที่วิธีการหาเสียงแบบเสนอในสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งก็อาจจะเป็นลักษณะของการที่ดึงดูดคนส่วนหนึ่งซึ่งเบื่อการเมืองได้ แต่พอถึงเวลาที่จะต้อง นำไปปฏิบัติจริงอาจมีปัญหา

ดิฉันมองแล้วหากดิฉันเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต ดิฉันจะเสนอแคมเปญหาเสียงในช่วงสุดท้ายว่า "ไม่เลือกเธอ เขามาแน่" ซึ่งจะดึงให้ผู้ที่ยังลังเลไม่ได้ตัดสินใจรีบตัดสินใจมาเลือก "เธอ" แม้แต่ผู้เป็นสมาชิกพรรค รีพลับลิกัน ที่ไม่ชื่นชอบในนโยบายและสไตล์ของ "เขา"

นโนยายของเขาในเรื่องเศรษฐกิจ ออกจะมีทัศนคติในเชิง ไม่เปิดกว้างเรื่องการค้าเสรี ไม่ต้องการนำเข้าสินค้าต่างประเทศมากนัก เพราะมองว่าต้นเหตุของการที่คนอเมริกันมีงานทำน้อยลงก็เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการยกเลิกการผลิตในประเทศกันมาก และหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

นักวิเคราะห์จึงมองว่า หาก "เขา" ได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะกีดกันการค้าระหว่างประเทศ และหันไปส่งเสริมการผลิตในประเทศแทน ซึ่งก็จะทำให้การค้าการลงทุนในโลกซบเซาลงจากในปัจจุบัน ที่ก็ไม่ได้ดีเท่าไรนัก

สหรัฐอเมริกาเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก การจับจ่ายใช้สอยของคนอเมริกันจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

นโยบายภาษีของ "เขา" ก็ทำให้ชนชั้นกลางหวาดเสียวเช่นกัน จากนโยบายที่ให้ไว้  ดูเหมือนว่า ผู้มีรายได้สูงจะเสียภาษีน้อยลง และโดยนัย ผู้เสียภาษีในระดับอื่นจะต้องแบกรับภาระภาษีเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณอยู่แล้ว ในระยะยาวก็ต้องหารายได้มาขดเชย

นอกจากนั้น "เขา" ยังแสดงวิสัยทัศน์กีดกันคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา อีกด้วย ชนกลุ่มน้อยและผู้อพยพจึงหวาดหวั่นอยู่ลึกๆ ว่าอนาคตจะมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น หาก "เขา" ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

ขณะเดียวกัน หาก"เธอ"ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี นโยบายหลายๆอย่างที่ทำไว้ในสมัยปัจจุบัน เช่น เรื่องของการส่งเสริมการค้าโลก การดูแลสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับการสานต่อ และยังจะมีนโยบายเพิ่มในเรื่องของเด็กและสตรีด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน จึงย่อมลุ้นอยากให้ "เธอ" ได้รับการเลือกตั้งมากกว่า "เขา" เพราะตลาดทุนไม่ชอบความไม่แน่นอนค่ะ

ผลกระทบด้านลบต่อตลาดทุนในกรณีที่ "เขา" ชนะการเลือกตั้ง น่าจะมีดังนี้คือ ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากเดิมคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในการประชุมเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

คาดว่าราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้น จากการที่นักลงทุนคาดว่าความไม่แน่นอนในโลกจะเพิ่มสูงขึ้น

โลกการเมืองยังหวาดๆด้วยว่า หาก "เขา" ได้รับขัยชนะ โอกาสเกิดสงครามหรือเกิดการปะทะทางอาวุธกัน ก็จะสูงขึ้น เพราะ"เขา" พูดจาชวนทะเลาะอยู่บ่อยๆ ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศก็คงหนักใจเป็นพิเศษในการแสดงบทบาทและท่าทีของประเทศที่มีต่อประชาคมโลก 

สรุปแล้ว ผู้ลงทุนอยากให้ "เธอ" ได้รับเลือกตั้ง มากกว่า "เขา"

แต่ถ้าถามคนอเมริกัน จะพบว่า หลายคนอยากหมุนเวลากลับไป ถึงช่วงเลือกตัวแทนทั้งสองพรรค และเลือกคนอื่นเข้ามาเป็นผู้สมัครแทน และหลายคนก็เฝ้าถามตัวเองว่า "ประเทศของเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร"

เพราะมีคนจำนวนมากก็ไม่ชอบ "เธอ" และมองว่าเธอคิดทุกอย่างเป็นการเมืองไปหมด และขาดความจริงใจ 

ตอนนี้เป็น "Point of no return" คือไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ต้องเลือกคนที่มีข้อเสียน้อยที่สุด  

คาดว่าแม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่"เธอ" น่าจะไดรับเลือกตั้งไปตามความคาดหมาย

ทั้งนี้ ต้องรอลุ้นกันในวันพุธของบ้านเรา เมื่อมีการปิดหีบนับคะแนนค่ะ

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ