'ปรับตัว' รับการเปลี่ยนแปลง

'ปรับตัว' รับการเปลี่ยนแปลง

โครงการ “ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต” ของ บมจ.ทีโอที

 ที่ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ทีโอทีมีอยู่ทั่วประเทศ 1.2 แสนตู้ แบ่งเป็นในเขต กทม. 2 หมื่นตู้ และเขตภูมิภาค 1 แสนตู้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

โดยติดตั้งเครื่อง Automated External Defibrillator (AED) หรือ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งติดตั้งในสถานที่ที่มีโอกาส และความเสี่ยงในการเกิดภาวะฉุกเฉินนอกสถานพยาบาล และสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีประชาชน เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ได้แก่ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารประจำทาง สนามบิน ท่าเรือ และการขนส่งมวลชนที่มีระยะทางไกลและมีผู้โดยสารจำนวนมาก ฟิตเนสเซ็นเตอร์ สปอร์ตคลับ หรือสนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า และย่านร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณผู้มาใช้บริการ 5,000 คนต่อวันรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ ตามแผน 4 ปีติดตั้ง 300 ตู้จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล

ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต เป็นอีกหนึ่งในแผนของการพลิกฟื้น ตู้โทรศัพท์สาธารณะของทีโอที นอกเหนือจากแผนบริการตู้เติมเงินจากบริการบุญเติม ใช้เติมเงินโทรศัพท์มือถือ เกมออนไลน์ จ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค โดยมีสัญญาร่วมกับบริษัท ฟอร์ท ตามแผน 2 ปีต้องติดตั้ง 6,000 ตู้ ปีนี้ติดตั้งไปแล้ว 3,000 ตู้ มีรายได้จากค่าเช่าต่อตู้เดือนละ 650 บาท 

แผนบริการโฆษณาติดที่ตู้สาธารณะ รายได้เดือนละ 800 บาทต่อตู้ ปัจจุบันมีสัญญากับบริษัท แพลนบี จำกัด ติดโฆษณาในตู้เขตนครหลวง รวมถึงแผนบริการติดตั้งไวไฟตามตู้สาธารณะบริเวณป้ายรถเมล์ และรถไฟฟ้า ซึ่งฝ่ายงานธุรกิจโมบายจะเลือกว่าจะให้บริการบนคลื่นความถี่ใดระหว่าง 2100 หรือ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการหาบริการท็อปอัพจากรายได้เฉลี่ยของตู้สาธารณะแต่ละปี

ในอดีตตู้โทรศัพท์สาธารณะ ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะทุกบ้านไม่ได้มีโทรศัพท์ใช้งาน หรือเวลาออกนอกสถานที่ ก็ต้องใช้โทรศัพท์สาธารณะติดต่อสื่อสารกัน ต่างจากยุคนี้ ที่ใช้โทรศัพท์มือถือกันอย่างแพร่หลาย กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ใครๆ ก็ซื้อหามาใช้ได้ ด้วยระดับราคาที่หลากหลาย อัตราค่าบริการที่พอจับจ่าย ทำให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะปัจจุบัน รกร้างการใช้งาน หลายตู้ดูทรุดโทรมเกินจะเข้าไปใช้ บางตู้ก็ใช้งานไม่ได้ ปล่อยเสียหาย น่าเสียดาย 

ทีโอที เผยตัวเลขที่น่าตกใจของรายได้ตู้โทรศัพท์สาธารณะว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยทำรายได้จากตู้โทรศัพท์สาธารณะได้ตู้ละกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน ทำรายได้ต่อปีให้ทีโอทีหลายหมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบัน รายได้ลดลงเหลือเพียง 250 บาทต่อตู้ต่อเดือน ลดลงนับร้อยเท่า!!! 

แต่..ตู้โทรศัพท์สาธารณะยังมีความจำเป็นต้องมีตามกฎหมาย ที่กำหนดให้ทุก 50 เมตรต้องมีตู้โทรศัพท์สาธารณะ 1 ตู้ ทีโอทีจึงต้องปฎิบัติตาม แต่จะให้บริการโดยไม่มีรายได้คงไม่ใช่ ดังนั้นการหารายได้อื่นๆ ควบคู่ไปกับบริการโทรศัพท์สาธารณะจำเป็นต้องมี และต้องทำ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นประชาชน ยังได้พึ่งพาโทรศัพท์สาธารณะได้ และในประเทศที่เจริญแล้ว แม้พื้นที่ห่างไกลก็ยังมีโทรศัพท์สาธารณะไว้ให้บริการ ถือว่าเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนได้ทางหนึ่ง