ต้องสลัดคราบภาครัฐ

ต้องสลัดคราบภาครัฐ

รัฐบาลเตรียมผลักดัน ตั้งคณะกรรมการประชารัฐภาคสังคม

 โดยจะมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสังคมที่กำลังเป็นภัยคุกคามสำคัญ ในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทย หากสามารถขับเคลื่อนและจัดตั้งคณะทำงานได้จริง เราเชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาในหลายๆ ด้านของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวมีให้เห็นในหลายเรื่องที่เกิดจากความร่วมมือ อาทิ โครงการเมาไม่ขับ เป็นต้น

จากแนวความคิดของรัฐบาลที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา จะเป็นลักษณะเดียวกับนโยบายด้านประชาสังคมทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลผลักดันมาก่อนหน้านั้น ดังจะเห็นได้จากทุกวันนี้เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับนโยบายประชารัฐ ในเรื่องต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีการขับเคลื่อน และยังมีพลังในการผลักดันเพื่อให้สัมฤทธิผลตามเป้าหมาย โดยถือว่าเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น

ประเด็นสำคัญของนโยบายประชารัฐในขณะนี้ หลังจากรัฐบาลผลักดันด้านเศรษฐกิจมาแล้ว คือ การประเมินผลความสำเร็จที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้เรายังไม่เห็นการประเมินผลออกมาอย่างชัดเจนว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินงานไปแค่ไหน และเห็นผลมากน้อยแค่ไหน แต่เราเห็นการขับเคลื่อนในวาระต่างๆหลายเรื่อง ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการผลักดันนโยบายประชารัฐด้านสังคม อาจทำเป็นต้องมีการประเมินผลนโยบายประชารัฐ ในช่วงที่ผ่านมาว่าผลดำเนินงานเป็นอย่างไร

จากติดตามสื่อต่างๆ ของรัฐบาลที่พยายามนำเสนอการดำเนินงานของประชารัฐด้านเศรษฐกิจ เราพบว่ามีลักษณะเหมือนกันประการหนึ่งคือ เป็นการขับเคลื่อนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในระดับจังหวัดและมีนักธุรกิจประจำจังหวัดเข้าร่วมด้วย แต่การประเมินผลภาคปฏิบัติจริงๆนั้นเรายังไม่เห็นชัด ซึ่งหากมีการประเมินผลออกมาและปรากฏว่ามีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจริงๆ เราเชื่อว่าจะทำให้โครงการในลักษณะนี้ของรัฐบาลได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

ความจำเป็นต้องมีวิธีการติดตามและประเมินผลที่ดีย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประชารัฐเพื่อสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและเห็นเป็นรูปธรรมไม่ง่ายนัก อีกทั้งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้น รูปแบบการทำงานจึงมีความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเราเห็นว่าประเด็นเรื่องงบประมาณ หรือเรื่องแหล่งเงินทุนมาใช้ในโครงการนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเราเชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เข้ามาร่วมสามารถจัดหามาได้

ที่สำคัญอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาในประเด็นทางสังคม ยังมีความยุ่งยากในเรื่องการบริหารจัดการ เพราะจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในทุกระดับ และแต่ละเรื่องก็มีปัญหาต่างๆกัน ซึ่งประเด็นสังคมไม่เพียงแค่ปัญหาสังคมผู้สูงอายุและเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่รวมในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งหมด ดังนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหาจึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะหาไม่แล้วก็ไม่ต่างจากหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลในทุกวันนี้

แต่การที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการทำงานในรูปแบบของประชารัฐ ได้ชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐเอง มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาและอาจดูแลไม่ทั่วถึง ดังนั้นเราเห็นว่าการทำงานของคณะกรรมการ ที่จัดตั้งขึ้นมาควรเป็นหน่วยงานที่มีอิสระมากพอ โดยไม่ติดกรอบการคิดและกฏระเบียบของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันอย่างแท้จริง แต่หากยังให้บทบาทภาครัฐเป็นแกนหลักสำคัญ คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาก็คงไม่ต่างจากแขนขาของหน่วยงานรัฐและอาจจะเผชิญกับปัญหาการทำงานแบบเดิมๆ นั่นคือไม่เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง