เมื่อจีนครองนวัตกรรมโลก

เมื่อจีนครองนวัตกรรมโลก

ใครๆ ก็รู้ว่า หัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนคือ การยกระดับนวัตกรรมภายในประเทศ

ข้อนี้พูดอีกก็ถูกอีก แต่พูดแสนง่ายทำแสนยาก มิฉะนั้นป่านนี้ประเทศไทยก็คงหลุดจากหุบเหวกับดักรายได้ปานกลางไปแล้ว !!

วันนี้ผมขอชวนคิดจากประสบการณ์การยกระดับนวัตกรรมของประเทศจีน ถึงแม้ว่าหลายคนจะยังร้องยี้กับสินค้าจีน แต่อย่าลืมนะครับว่าประเทศจีนเมื่อ 30 ปีที่แล้วเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจมาจากจุดที่ต่ำเตี้ยเพียงใด ภายในระยะเวลาเพียง 30 ปี จีนได้อัพเกรดตัวเองจากประเทศเกษตรกรรม มาเป็น “โรงงานโลก” อย่างเต็มตัว และในวันนี้รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมาย “Made in China 2025” โดยประกาศก้องว่า ภายใน 10 ปี ข้างหน้า เราจะเห็นสินค้าจีนที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและนวัตกรรม ไม่แพ้สินค้าญี่ปุ่น เยอรมัน และสหรัฐฯ

จีนใช้วิธีอะไรไล่กวดญี่ปุ่น เยอรมัน และสหรัฐ ล่ะครับ? คำตอบสั้นๆ ก็คือ ในอดีตที่ผ่านมา จีนใช้วิธีนำเข้าและเลียนแบบนวัตกรรมของประเทศเหล่านี้ ส่วนในปัจจุบัน จีนกำลังใช้วิธีกว้านซื้อบริษัทนวัตกรรมใหม่ๆ ของประเทศเหล่านี้ พร้อมกับเริ่มวางแผนลงทุน R&D ด้วยตัวเองเพื่ออนาคตด้วย

เวลาเราพูดถึง นวัตกรรม เรากำลังพูดถึง 1) การสร้าง ผลิตภัณฑ์ใหม่ (สินค้าตัวใหม่) ที่มีการเพิ่มมูลค่าจากเดิมหรือที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด (นึกถึงวันที่ iPhone ออกมาวันแรกสิครับ) และ 2) การสร้าง กระบวนการผลิต ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้นหรือใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิม (นึกภาพสายพานการประกอบรถยนต์ครับ)

สามสิบกว่าปีที่ผ่านมา จีนใช้วิธี นำเข้าเทคโนโลยี เป็นหลัก คือใช้ประโยชน์จากความล้าหลังของตัวเอง จีนไม่จำเป็นต้องลงทุนทำ R&D เพราะแค่จีนมองไปยังญี่ปุ่น เยอรมัน และสหรัฐฯ ก็จะเห็นตัวอย่าง “สินค้าใหม่” ที่ยังไม่มีในตลาดจีนสมัยนั้น หรือตัวอย่าง “เทคโนโลยีการผลิต” ที่ดีกว่า บางครั้งจีนยังใช้เทคนิควิชามารเรียน (เลียน) แบบเอาเลยด้วยซ้ำ

รัฐบาลจีนทำหน้าที่เป็นผู้ประสานและวางแผนการยกระดับสินค้าและเทคโนโลยี โดยศึกษาข้อมูลว่า ในแต่ละภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตใดน่าจะเป็นก้าวต่อไปสำหรับผู้ประกอบการจีน จากนั้นจึงประกาศเป็นแผนอุตสาหกรรมแห่งชาติ

ข้อดีของการนำเข้าเทคโนโลยี ก็คือ จีนไม่ต้องเสียต้นทุนในการทำ R&D เพราะ R&D เอง ก็เป็นอะไรที่พูดง่ายทำยากนะครับ ไม่ใช่คิดค้นแล้วจะได้ผลออกมาเสมอไป ที่หว่านเงินละลายแม่น้ำไปก็มาก ต้องลองผิดลองถูกกันหลายรอบกว่าจะได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมา

ดังนั้น เวลามีคนบอกว่า ประเทศที่เจริญแล้วทุกประเทศล้วนมีการลงทุน R&D ในสัดส่วนที่สูง แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ต้องหว่านเงินทำ R&D กันมหาศาลเสียก่อน ประเทศจึงจะเจริญได้นะครับ สาเหตุที่ประเทศที่เจริญแล้วต้องลงทุน R&D สูง เพราะเขามีทั้งนวัตกรรมสินค้าและกระบวนการผลิตที่ก้าวหน้าที่สุดแล้ว จึงไม่รู้จะไปนำเข้าหรือเลียนแบบนวัตกรรมขั้นต่อไปจากใครได้ ทางเดียวที่จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรอบใหม่ก็คือต้องลงทุนใน R&D เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่องครับ

มาถึงวันนี้ เมื่อบริษัทจีนเริ่มทำกำไรและสะสมทุนจนมี ทุนหนา แล้ว จึงเริ่มขยับไปใช้วิธีกว้านซื้อบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีเสียเลย เรียกว่าได้มาทั้งเทคโนโลยี ได้ทั้งทีม R&D ไว้พัฒนาปรับปรุงต่อยอด ตอนนี้นักลงทุนจากจีนนับเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดใน Silicon Valley แหล่งรวมเทคโนโลยีใหม่ๆ ของสหรัฐ นอกจากนั้น ยังมีสถิติว่ามีบริษัทจีนเข้าซื้อบริษัทเทคโนโลยีของเยอรมันอย่างน้อย 1 แห่งต่อสัปดาห์ในช่วงปีที่ผ่านมา

โมเดลธุรกิจที่ผู้ประกอบการจีนใช้ ก็คือ เข้าซื้อบริษัทเทคโนโลยีที่ดูมีแวว และนำเทคโนโลยีนั้นมาพัฒนาเป็นสินค้าสำหรับตลาดจีนที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล โดยอาศัยข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าในประเทศจีน

ตัวอย่างเช่น Beijing Electric Vehicle เข้าซื้อ Atieva บริษัทเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐ และตั้งเป้าพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกสำหรับขายตลาดชนชั้นกลางและล่างในเมืองระดับรองและในชนบทของจีน หรืออีกตัวอย่างที่โด่งดังคือ Midea Group ของจีน เข้าซื้อบริษัทผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของเยอรมันอย่าง Kuka AG ด้วยเงิน 5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าเอาเทคโนโลยีของ Kuka AG มาพัฒนาระบบโรงงานภายในจีนให้ใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานที่นับวันจะมีค่าแรงที่สูงขึ้น

เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการสัมมนาใหญ่เรื่องนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง หยางยู่ฉวน นักลงทุนชื่อดังของจีน ได้ให้ข้อคิดว่า ผู้ประกอบการจีนต้อง เล่นเกมเพื่อยึดครองนวัตกรรมโลกให้เป็น โดยการยึดครองนวัตกรรมต้องอาศัยสามปัจจัย คือ

หนึ่ง ต้องรู้ว่าเทคโนโลยีใดอยู่ในระดับแนวหน้าที่สุดของโลก ซึ่งต้องอาศัยทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นนำระดับโลกมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท เขาจึงแนะนำให้บริษัทจีนสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยเชื้อสายจีนที่ทำงานในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำทั่วโลก

สอง ต้องนำนวัตกรรมนั้นมาพัฒนาเป็นสินค้าสำหรับตลาดจีน ซึ่งต้องอาศัยผู้ประกอบการในภาคการผลิตจริง และอาศัยประโยชน์จากตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของจีน

สาม ต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อต้องการจะขยายกำลังการผลิต จึงต้องอาศัยนักลงทุนและกองทุนต่างๆ เข้าร่วมลงทุน เพราะบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในต่างประเทศมักยินดีให้สิทธิการใช้เทคโนโลยีแก่บริษัทจีน โดยขอแลกเป็นหุ้นในบริษัทจีน แต่ตัวบริษัทจีนเองมักต้องการเงินทุนอีกมากเพื่อทำการผลิตให้รองรับตลาดจีนได้

ดังนั้น เพื่อยึดครองนวัตกรรม จึงต้องประสานความร่วมมือให้ได้ทั้งสามฝ่าย คือ นักวิจัยชั้นนำที่รู้ว่านวัตกรรมใดกำลังมีแวว ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในภาคการผลิตจริง และนักลงทุนที่มีเงินหนาพอที่จะสนับสนุนการผลิต

ส่วนโจวฉีเหริน นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ก็กล่าวในงานสัมมนาว่า จีนมีความจำเป็นต้องยกเครื่องระบบ R&D เพราะในบางภาคอุตสาหกรรมที่จีนทำได้ดี เริ่มไม่มีตัวอย่างจากประเทศเจริญแล้วว่าจะก้าวสู่ขั้นต่อไปอย่างไร (เพราะจีนได้ก้าวทันประเทศเหล่านั้นแล้ว) ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาลจึงอาจใช้ไม่ได้ผลเหมือนแต่ก่อน และถึงคราวจำเป็นต้องอาศัย R&D และการลองผิดลองถูกมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งในปัจจุบันทั้งภาคธุรกิจและภาควิชาการของจีนยังสู้ประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้ในเรื่องระบบ R&D

มองย้อนกลับมา หนทางสำหรับ ไทยแลนด์ 4.0” ก็คือ เราเองต้องพัฒนานวัตกรรมให้ได้ไม่ว่าจะใช้กระบวนท่าไหน ในบางภาคอุตสาหกรรมที่ไทยยังล้าหลัง สามารถนำเข้าเทคโนโลยีได้ ในบางภาคอุตสาหกรรมที่เราเริ่มก้าวทันแล้ว ก็ต้องพยายามส่งเสริม R&D ส่วนใครที่มีทุนหนาพอ ก็น่าจะเสาะหาโอกาสเข้าซื้อบริษัทต่างประเทศหรือขอร่วมทุนกันในไทย เพื่อยึดครองเทคโนโลยีแนวหน้ามาใช้บ้าง ถึงเวลาแล้วครับที่ไทยเราต้องมีหัวขบวนกลุ่มบริษัทที่เป็นเลิศด้านนวัตกรรม เพื่อนำไทยให้หลุดจากหุบเหวของประเทศรายได้ปานกลางเสียที