ความตกลง TPP กับ ความปลอดภัยด้านอาหาร

ความตกลง TPP กับ ความปลอดภัยด้านอาหาร

ประเด็นหนึ่งที่ความตกลง TPP ถูกจับตามองและวิจารณ์คือ ผลกระทบทางด้านการสาธารณสุข อันเนื่องมาจาก

การเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตร ได้แก่ การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา ความล่าช้าในการจดสิทธิบัตร การเปิดโอกาสให้นำยาที่ใกล้พ้นระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรกลับมาจดสิทธิบัตรใหม่ได้ โดยการปรับปรุงสูตรยาและข้อบ่งชี้การใช้ (evergreening) และการคุ้มครองข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยของยา (จะส่งผลให้ราคายาเพิ่มสูงขึ้น และลดโอกาสการเข้าถึงยาของผู้ป่วยที่ยากไร้ลง) นอกจากปัญหาผลกระทบทางการสาธารณสุขอันเป็นผลจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวแล้ว ผลกระทบอีกประการหนึ่งของการสาธารณสุขจากการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP คือ ปัญหาความปลอดภัยทางด้านอาหาร

เงื่อนไขหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาเรียกร้องกับประเทศที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP คือ ให้ประเทศนั้นปรับกฎระเบียบภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอาหารที่รับรองโดยคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ แอลิเมนแทเรียส (Codex Alimentarius) ดังเช่นที่สหรัฐอเมริกาได้ยื่นเงื่อนไขนี้กับไต้หวันในช่วงการเจรจาความตกลง TPP นั่นคือ การกำหนดค่าสูงสุด (maximum residue limits: MRLs) ของสารแรคโตพามีน (Ractopamine) ตกค้างในเนื้อสัตว์ตามที่คณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ฯ ได้กำหนดไว้เมื่อปี ค.ศ. 2012 โดยในเนื้อมีสารตกค้างได้ไม่เกินกว่า 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตับมีสารตกค้างได้ไม่เกินกว่า 40 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และไตมีสารตกค้างได้ไม่เกินกว่า 90 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ทั้งนี้สหรัฐอเมริกามักมีข้ออ้างว่า เมื่อคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ฯ ได้กำหนดค่าสารตกค้างสูงสุดแล้ว ประเทศต่างๆ ควรกำหนดค่าสารตกค้างตามมาตรฐานระหว่างประเทศดังกล่าว เนื่องจากเป็นค่าสารตกค้างที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปลอดภัย และถือว่าประเทศนั้นไม่ใช้มาตรการด้านความปลอดภัยอาหารเป็นอุปสรรคการค้า

สารแรคโตพามีนเป็นสารกลุ่มแบต้าอะโกนิสต์ (ß-Agonist) มีสรรพคุณขยายหลอดลม รักษาโรคหอบหืด ช่วยให้กล้ามเนื้อขยายตัว และเพิ่มการสลายตัวของไขมันที่สะสมในร่างกาย ดังนั้นจึงมักใช้ในการผลิตยารักษามนุษย์ แต่อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้มีอาการกล้ามเนื้อสั่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย วิงเวียน ปวดศรีษะ เป็นต้น และอาจเป็นอัตรายต่อสุขภาพอย่างมากกับกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ

ในสหรัฐอเมริกา เริ่มใช้สารแรคโตพามีนผสมในอาหารสัตว์ ทดแทนการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 เพื่อช่วยเพิ่มการเติบโตและปริมาณเนื้อแดงในสัตว์ และลดต้นทุนอาหารสัตว์ในช่วงเวลาที่ข้าวโพดอาหารสัตว์มีราคาแพง องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์เลี้ยงสุกรในปี ค.ศ. 1999 เลี้ยงโคในปี ค.ศ. 2003 และเลี้ยงไก่งวงในปี ค.ศ. 2008 ในปัจจุบัน การเลี้ยงสุกรเกือบกึ่งหนึ่งและโคเกือบหนึ่งในสามของสหรัฐอเมริกาใช้สารแรคโตพามีนผสมในอาหารสัตว์

แม้ว่ามีกว่า 20 ประเทศ ซึ่งรวมสหรัฐอเมริกา แคนาดา และบราซิล ที่อนุญาตให้ใช้สารแรคโตพามีนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ แต่มีอีกกว่า 100 ประเทศ ซึ่งรวมสหภาพยุโรป จีน (สหภาพยุโรปและจีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเนื้อโคและสุกรรายใหญ่ของโลก) ไต้หวัน รัสเซีย และไทย ยังห้ามใช้สารแรคโตพามีนผสมในอาหารสัตว์ เนื่องจากเกรงผลกระทบเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภค

สำหรับในประเทศไทยเอง มีกฎระเบียบกำกับดูแลเรื่องสารแรคโตพามีนทั้งการขึ้นทะเบียนยา การผสมในอาหารสัตว์ และการปนเปื้อนในอาหาร แม้ว่าไทยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยาที่มีสารแรคโตพามีนเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 แต่ก็ห้ามจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีสารแรคโตพามีนปนเปื้อน เนื่องจากเกรงถึงผลกระทบด้านสุขภาพของผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คนไทยบริโภคเครื่องในสัตว์เกือบทุกชิ้นส่วน ขณะที่คณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ฯ รับรองมาตรฐานสารแรคโตพามีนตกค้างได้สูงสุดเพียงเฉพาะเครื่องในส่วนตับและไตเท่านั้น ไม่ได้กำหนดค่า MRLs สารแรคโตพามีนในเครื่องในส่วนอื่นๆ เช่น ปอด ไส้ กระเพาะ ซึ่งคนไทยรับประทานกัน

หากไทยยอมกำหนดค่า MRLs สารแรคโตพามีนตามข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกา นอกจากความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว ยังอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งอาหารสัตว์ (ที่ไม่ได้ใช้สารแรคโตพามีนในปัจจุบัน) การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ที่ไม่พัฒนาเนื้อแดงตามธรรมชาติ) และการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไทยอนุญาตให้ใช้สารแรคโตพามีนผสมในอาหารสัตว์ ก็อาจมีสารแรคโตพามีนปนเปื้อนในอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ได้ และก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไปจำหน่ายในประเทศที่ห้ามมีสารแรคโตพามีนปนเปื้อนอย่างสหภาพยุโรปได้

การตัดสินใจเรื่องเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิกความตกลง TPP หรือไม่นั้น เป็นการตัดสินใจทางด้านการเมือง ผู้มีอำนาจตัดสินใจควรคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพจากการกำหนดค่าสารแรคโตพามีนตกค้าง (และกรณีอื่นๆที่กำลังอาจจะมีการเรียกร้องในอนาคต) ในสมการการชั่งน้ำหนักแห่งประโยชน์และผลกระทบที่จะตามมาจากการเข้าร่วมความตกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว เมื่อผลกระทบนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพประชาชนชาวไทย

----------------------------

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ, ผศ.สิทธิกร นิพภยะ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์