So Long …. AFET

So Long …. AFET

AFET ประสบความสำเร็จตามสมควร เนื่องจากปริมาณการซื้อขาย RSS3 แซงหน้า SICOM

บทความวันนี้ตั้งใจให้มีชื่อไปละม้ายกับบทความเก่าของผมเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2555 ที่ชื่อ “So long...Tokyo Grain Exchange” ซึ่งเป็นการเขียนถึง การอำลาตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า Tokyo Grain Exchange (TGE) สถานการณ์จะคล้ายกับในตอนนี้ที่ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทย หรือThe Agricultural Futures Exchange of Thailand (AFET) ก็กำลังจะปิดตัวลงอย่างถาวรในอีก 2-3 เดือน ข้างหน้า หรือในช่วงปลายปี 2559 นี้ 

TGE เป็นตลาดล่วงหน้าเอกชนมีชื่อเดิมว่า Tokyo Rice and Commodities Exchange ซึ่งมีแต่สินค้าข้าว เปิดซื้อขายเมื่อปี 2417 ต่อมาในปี 2482 เมื่อญี่ปุ่นอยู่ในภาวะสงครามและข้าวจัดได้เป็นยุทธภัณฑ์อย่างหนึ่ง รัฐได้สั่งหยุดการซื้อขายข้าวทำให้ TGE ก็ต้องปิดตัวลงโดยปริยาย ซึ่งต่อมาเมื่อสงครามยุติลง TGE ก็ได้กลับมาเปิดให้มีการซื้อขายสินค้าอีกครั้งในปี 2495 ด้วยสินค้า 3 ตัว ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วแดงและ แป้งมันฝรั่ง

TGE นี้ถือได้ว่าเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่คนไทยรู้จักกันดีในยุคเฟื่องฟูของธุรกิจ “คอมมอดิตี้” เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว โดยในบ้านเราได้นำเอาราคาจากกระดานของ TGE เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง มา Settle กับคำสั่งซื้อขายของลูกค้าที่ได้ทำการซื้อและขายไว้กับบริษัท (บริษัทรับ Order ของลูกค้าเอง) ในลักษณะที่เรียกกันว่า Bucket Shop โดยไม่มีคำสั่งของลูกค้าส่งเข้าไปใน TGE จริง ๆ ก่อให้เปิดเรื่องราวตามมามากมาย เช่น กรณีฉ้อโกงที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในเวลานั้น

ปริมาณการซื้อขายของ TGE ก่อนปิดตัวก็ไม่ขี้เหร่นะครับ โดยในปี 2554 TGE มีปริมาณการซื้อขายโดยเฉลี่ยที่ 10,860 สัญญาต่อวัน แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ผู้ถือหุ้นของ TGE จึงได้อนุมัติให้ TGE ปิดตัวลง โดยสัญญาเก่า ๆ ของ TGEได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และ ถั่วแดงได้ถูกส่งไม้ต่อให้นำไปซื้อขายต่อที่ Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) และสินค้า Rice Futures ได้ถูกนำซื้อขายที่ Osaka Dojima Commodity Exchangeตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556

ย้อนกับมาดู AFET ของบ้านเราที่เป็นตลาดที่ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พรบ.การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ทำการเปิดซื้อขายมาตั้งแต่ 28 พ.ค. 2547 ในสินค้ายางพาราล่วงหน้า (หรือ Rubber Futures ชนิดยางแผ่นชั้น 3 หรือ RSS3) และต่อมาก็เห็นว่ามีการนำสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เข้า Listing เพิ่มเติม อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และสับปะรด

การดำเนินการที่ผ่านมาของ AFET จะเห็นได้ว่าสินค้าที่พอจะมีปริมาณซื้อขายให้เห็นอย่างสม่ำเสมอก็คือ RSS โดยในระหว่างปี 2551-2554 AFET มีปริมาณการซื้อขาย RSS3 เฉลี่ยอยู่ที่ 390 - 520สัญญาต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงภาวะขาขึ้นของราคายางพารา ที่ราคาไปสร้างจุด Peak ที่ราคา190 บาท/กก.(ณ วันนี้ราคายางโลละ 50 บาทครับ) โดยในช่วงนั้น AFET เหมือนจะประสบความสำเร็จตามสมควร เนื่องจากปริมาณการซื้อขาย RSS3 สามารถแซงหน้า Singapore Commodity Exchange (SICOM) ตลาดเก่าแก่ของสิงคโปร์ได้ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา และราคา RSS3 ของ AFET เริ่มถูกนำมาใช้เป็น Price Reference ของการค้ายางโลกบ้างแล้ว

ผลงานอีกอย่างหนึ่งของ AFET ในสินค้าข้าวก็คือ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของรัฐบาลในการเพิ่มทางเลือกในการระบายในสต็อกของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2550 ทั้งในรัฐบาลของท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์และนายกฯ อภิสิทธิ์ ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันดีว่าการประมูลข้าวแบบนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างโปร่งใส โดยรัฐบาลก็ได้ใช้กลไกนี้ระบายข้าวในสต็อกไปเป็นจำนวนหลายแสนตัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากTrend ของการยุบรวมของ Exchange ทั่วโลก ประกอบกับเหตุผลในเรื่องของ Economy of Scale รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีนโยบายที่จะรวมการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าไว้ที่เดียว เป็นเหตุให้ AFET ถูกยุติบทบาทของตนไป และการซื้อขาย Rubber Futures และ/หรือ สินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่แต่เดิมอยู่ภายใต้ AFET ก็ได้ถูกย้ายให้ไปซื้อขายกันที่ Thailand Futures Exchange หรือ TFEX แทน

นับเป็นการปิดตัวลงของ Futures Exchange อีกแห่งหนึ่ง หลังจากที่เปิดซื้อขายมาได้เป็นเวลากว่า 12 ปี