แม่ทัพบก 'หมวกแดง'

แม่ทัพบก 'หมวกแดง'

มาแล้ว!! นักรบหมวกแบเร่ต์แดง..

โผทหารล่าสุด ทุกสำนักข่าวชี้ไปทางเมืองละโว้

บิ๊กตู่หักบิ๊กป้อม หรือบิ๊กป้อมยอมบิ๊กตู่ ก็สุดแท้แต่การพาดหัวของแต่ละสำนัก

ชื่อของ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ขยับขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 40 เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

พล.อ.เฉลิมชัย เติบโตมาจาก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) อันเปรียบได้กับ “กองทัพภาคที่ 5” ของกองทัพบก

ด้านหนึ่ง พล.อ.เฉลิมชัย ยังเป็นความหวังของเตรียมทหารรุ่นที่ 16 (ตท.16) และรุ่นเดียว พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แต่วาสนา “บิ๊กโชย” ไปไม่ถึงดวงดาว

เพื่อนๆ จึงฝากความหวังที่ “บิ๊กเจี๊ยบ” หรือ “เมสซี่เจี๊ยบ” แข้งทองแห่งรบพิเศษป่าหวาย

ที่ผ่านมา มีผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) 3 คน เป็น ผบ.ทบ. คือ พล.อ.วิมล วงศ์วานิช, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

ในหน้าประวัติศาสตร์กองทัพบกไทย นสศ.ก็มีเกียรติประวัติในการทำศึกสงคราม จนเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คน

ยุคสงครามเย็น คอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่หลวง จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยรบพิเศษขึ้น เป็นหน่วยแรก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2497 ที่บ้านป่าหวาย ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี

เบื้องแรก ใช้ชื่อ“กองพันทหารพลร่ม” หรือที่รู้จักกันดีในนามของ พลร่มป่าหวาย

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เริ่มทำสงครามประชาชน กองทัพบกได้ใช้หน่วยรบพิเศษ เข้าต่อสู้กับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ และจัดตั้ง ศูนย์สงครามพิเศษ ขึ้น เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2509 กองทัพบก

ปี 2525 สถานการณ์การต่อสู้ด้วยอาวุธภายในประเทศ ได้เบาบางลง ขณะเดียวกัน ภัยคุกคามจากภายนอกประเทศกลับเพิ่มขึ้น จึงได้จัดตั้งหน่วยรบพิเศษเข้าปฏิบัติการ

วันที่ 25 มีนาคม 2526 จึงได้มีการจัดตั้ง หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษสงครามพิเศษ

ผบ.นสศ.คนแรก คือ พล.ท.เอนก บุนยถี และเมื่อพ้นจากตำแหน่งแม่ทัพป่าหวาย ก็ได้ลงสมัคร ส.ส.เขต 1 ลพบุรี ในนามพรรคชาติไทย และได้เป็น ส.ส.ลพบุรี อยู่ 2 สมัย

พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ก็เคยเป็น ผบ.นสศ. ก่อนที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

ดังที่ทราบกัน ในรอบ 24 ปี มี ผบ.นสศ. 3 คน เป็น ผบ.ทบ.มาแล้ว

บิ๊กเจี๊ยบจะเป็นนักรบหมวกแดงคนที่ 4 ที่ได้เป็นแม่ทัพบกหรือไม? ก็น่าติดตามยิ่ง