อย่ารอนสิทธิประชาชน

อย่ารอนสิทธิประชาชน

จากเวทีเสวนา “มุมมองภาคประชาชน

ต่อแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย กสทช.” ที่จัดโดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อรวบรวมความเห็นภาคประชาชน เกี่ยวกับการจัดทำร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฉบับที่..​พ.ศ.... (พ.ร.บ.กสทช.) ซึ่งเป็นการปรับปรุงพ.ร.บ.กสทช. พ.ศ.2553 ที่ขณะนี้อยู่ในของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 ซึ่งถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากร่างได้รับหลักการจาก สนช. แล้ว และอยู่ในชั้นกรรมาธิการ เชื่อว่าการแก้ไขร่างจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี มีปัจจัยทางการเมืองที่จะส่งผลต่อร่างกฎหมาย คืออนาคตของร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนประชามติ หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ อาจต้องยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรกำกับดูแลกิจการฯ แต่ไม่ได้ระบุถึงการจัดสรรคลื่นความถี่จึงต้องยกร่างกฎหมายใหม่ภายใน 180 วัน จึงเป็นไปได้ที่จะต้องทบทวนกฎหมายฉบับนี้ใหม่ทั้งหมด

ในเวทีเสวนา มีผู้เสนอความเห็นหลากหลาย นางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อสารมวลชน สถาบันอิศรา เห็นว่า การแก้ไขพ.ร.บ.กสทช. ครั้งนี้ เป็นผลกระทบจากการทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมาทั้งสิ้น เมื่อศึกษาร่างแล้วเห็นว่าไม่ได้ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่า โดยเธอตั้งข้อสังเกตส่วนหลักความเป็นอิสระของหน่วยงานซึ่งกำหนด กสทช. ต้องทำแผนแม่บทให้สอดคล้องกับแผนและนโยบายระดับชาติ และการให้มีกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาว่าด้วยการดำเนินการของ กสทช. สอดคล้องกับแผนระดับชาติหรือไม่ ถือเป็นการขัดต่อหลักความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างร้ายแรง พร้อมแนะให้กลับไปใช้หลักการของร่างเดิมจะเหมาะสมกว่า ส่วนกระบวนการสรรกำหนดให้หน่วยงานธุรการทำหน้าที่สรรหา เปลี่ยนจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการเสนอรายชื่อผู้มีคุณสมบัติ นอกจากนี้กรรมการสรรหาซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายตุลาการ ไม่ได้เชี่ยวชาญและเข้าใจในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม

ขณะที่นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม เห็นว่า การกำหนดคุณสมบัติในแง่ของประสบการณ์ไม่ได้สะท้อนความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง การปรับยศของข้าราชการทหารและตำรวจที่ต้องมียศพลโทขึ้นไป และหากกำหนดให้พลเรือนที่จะเข้ามารับตำแหน่งต้องมีอายุ 45 ปีขึ้นไป สเปคของ กสทช. ชุดใหม่ที่ได้จะเป็นทหารตำรวจสูงวัย หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนกรรมการที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคกำหนดให้มีประสบการณ์มากถึง 10 ปี ซึ่งมีน้อยมาก จนอาจทำให้ตัวแทนจากผู้บริโภคไม่มีเลยใน กสทช. ชุดใหม่

นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ มูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เหมือนการเอาสิ่งที่เป็นของประชาชนโดยชอบธรรมไปเป็นของรัฐ เพราะกำหนดให้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ เป็นของรัฐ ไม่ใช่ของประชาชน เอากรรมการสรรหาที่ประชาชนเคยมีส่วนร่วมออกไป เอากรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคออกไป เอาเงินกองทุนที่ควรนำไปช่วยผู้บริโภคและคนพิการออกไป เอากระบวนการตรวจสอบองค์กรกำกับดูแลออกไป การให้อำนาจสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีทีจัดการสรรหา กสทช. อาจทำให้ กสทช. ที่ไม่เชี่ยวชาญหรือสนใจด้านคุ้มครองผู้บริโภค 

ทั้งนี้ การจะดูแลผู้บริโภคให้ได้ผล ต้องมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปออกสิทธิ ออกเสียง เสนอแนะ อย่าหาทางรอนสิทธิ์ประชาชนง่ายๆ ด้วยการออกกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นตัดสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชนไปอย่าไร้ความไยดี