โลกไม่เหมือนเดิม... แต่เราจะขอให้เหมือนเดิม

โลกไม่เหมือนเดิม... แต่เราจะขอให้เหมือนเดิม

อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

 ไปพูดเรื่อง โลกที่ไม่เหมือนเดิม เมื่อเร็ว ๆ นี้ในเวทีสัมมนาที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” มีเนื้อหาที่คนไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชน ควรจะต้องนำมาใคร่ครวญและปฏิบัติอย่างยิ่ง

เพราะเมื่อโลกไม่เหมือนเดิม แต่ไทยเรายังจะทำอะไรเหมือนเดิม เราก็คงจะถูกเตะกระดอนหายไปจากกระแสโลก

หรือหากใช้ภาษาซ้ายเก่าหน่อย ก็จะบอกว่าหากเรายังหมกมุ่นอยู่กับการทำอะไรแบบ “ไทยๆ” ไม่ช้าไม่นานจากนี้เราก็จะถูกโยนใส่ ถังขยะของประวัติศาสตร์

กล่าวเฉพาะภาครัฐก็มีเรื่องที่ต้องทำให้ “ไม่เหมือนเดิม” หลายเรื่อง

คุณประสารระบุชัดเจนว่า ภาครัฐจะต้องปรับตัวอย่างน้อย 2 ส่วนที่สำคัญนั่นคือ

1. เปลี่ยนบทบาทที่เน้นการควบคุมและกำกับมาเป็นการสนับสนุน และปล่อยให้กลไกตลาดที่เสรี (market mechanism) มีพลวัตต่อเนื่อง ให้ทำงานได้มากขึ้น

2. บทบาทที่รัฐต้องทำควรแบ่งแยกให้ชัดเจน

สองข้อนี้หากทำได้จะต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพราะหากจะให้ปรับบทบาทของรัฐ จากกำกับควบคุมมาสนับสนุน จะต้องยกเลิก แก้ไขและร่างกฎระเบียบกติกาใหม่อย่างจริงจังและกล้าหาญ

เชื่อหรือไม่ว่ามีการประเมินกันว่าทุกวันนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ รวมกันไม่ต่ำกว่า 1 แสนฉบับ และใบอนุญาตกว่า 1,500 ใบ

คุณประสารอ้างผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า กฎระเบียบที่มีมากมายเกินความพอดีเหล่านี้ อาจจะมีต้นทุนสูงถึง 10-20% ของผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ของประเทศกันเลยทีเดียว

เขายกตัวอย่างเกาหลีใต้ที่ทบทวน และยกเลิกกฎระเบียบและกฎหมายกว่า 5,000 ฉบับหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (อันเป็นช่วงเดียวกันกับที่ไทยเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง)

ที่ต้องทบทวนแก้ไขเป็นพิเศษสำหรับเกาหลีใต้ในขณะนั้น คือกฎระเบียบทุกอย่างที่เขียนขึ้น เพื่อคุ้มครองบริษัทใหญ่ ๆ ที่เรียกว่า เชโบล” (Chaebol)

เขาจึงฟื้นจากวิกฤตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

อีกประเด็นหนึ่งคือการแบ่งแยกหน้าที่ของรัฐให้ชัด

คุณประสาร เล่าว่าจากประสบการณ์ งานปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ พบว่าหนึ่งในต้นตอสำคัญของปัญหา คือการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ไม่ชัดเจน

เพราะหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งเล่น ทุกบท คือเป็นทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล ผู้ทำหน้าที่เจ้าของ ผู้ให้บริการ

ยกตัวอย่าง classic คือกรณี ธกส. ซึ่งตั้งเมื่อประมาณปี 2500 โครงสร้างตอนตั้งอาจจะตอบโจทย์ขณะนั้น แต่เมื่อสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป โครงสร้างที่วางไว้ก็สร้างปัญหา เพราะ ธกส. มีบทบาททับซ้อนจนนำไปสู่ปัญหาเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวที่ใช้เงินจำนวนมากมายอย่างที่เห็น

หากจะนำพาประเทศให้พ้นจาก กับดัก ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นตัวถ่วงความก้าวหน้าของบ้านเมือง ภาครัฐก็จำเป็นต้องปรับตัว สร้างระบบสถาบันของภาครัฐที่เข้มแข็ง สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นกระแสไปทั่วโลก

คุณประสารบอกว่า ข่าวดีคือมีความพยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปภาครัฐในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกฎหมายและระเบียบต่างๆ ให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเนื่องกับการทำธุรกิจ กฎหมายด้านศุลกากร สิ่งแวดล้อม การเงินการคลัง การกำกับดูแลและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

แต่ “ข่าวร้าย” (คุณประสารไม่ได้พูด ผมพูดเอง) ก็คือการจะผลักดันให้แนวคิดการปฏิรูปให้เกิดขึ้นได้จริงยังเป็นเรื่องที่ “ท้าทาย”

คุณประสารบอกว่า “ผมขอเอาใจช่วย” ให้การปฏิรูปนี้เกิดขึ้นให้สำเร็จเพราะหากไม่เปลี่ยน ประเทศไทยจะอยู่ยากขึ้นทุกวัน

ความจริง คุณประสารไม่ได้แค่ “เอาใจช่วย” แต่ได้มีส่วนร่วมกับคนเก่ง ๆ จำนวนไม่น้อยที่เข้าไปร่วมผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ในหลายกรณีอุปสรรคที่เจอยังมีมากพอที่จะทำให้เกิดคำถามว่าแม้ “อำนาจเบ็ดเสร็จ” ก็ยังขยับเขยื้อน “แรงเฉื่อย” และความพยายามจะปกป้องผลประโยชน์เก่าๆ ไม่ได้

น่าสลดเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยคิดว่าการจะปฏิรูปสำเร็จต้องใช้ อำนาจเบ็ดเสร็จจึงจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

ทั้งๆ ที่คนไทยควรจะต้องเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนกำหนดพฤติกรรมของนักการเมือง และข้าราชการที่อาสามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ควรจะเป็นกระบวนการที่ได้ผลยั่งยืนมากกว่า

ทำไมยังมีคนบอกว่า ถ้าไม่รีบปฏิรูปตอนนี้ หากการเมืองกลับมาภาวะปกติจะไม่มีทางแก้ไขได้”?

นี่คือปรากฏการณ์ที่ฟ้องว่าอะไร ๆ ในกระบวนการเมืองของไทยเรา มีความผิดเพี้ยนไปจากความปกติที่ควรจะเป็น

เพราะหากความเชื่อเช่นนี้เป็นจริง สิ่งที่เราเห็นขณะนี้ย่อมไม่ใช่ New Normal หากแต่เป็น Old Abnormal

ยิ่งต้องตอกย้ำว่าคนไทยต้องทำให้ โลกไม่เหมือนเดิมจริง ๆ เท่านั้นเราจึงจะรอดวิกฤตลากยาวอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่