การฟังเสียงผู้อื่น คือวิธีการแก้ปัญหา

การฟังเสียงผู้อื่น คือวิธีการแก้ปัญหา

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

(กพช.) ได้มีมติในเรื่องการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 หลังจากมีการถกเถียงกันมานานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน โดยให้เปิดประมูลเป็นการทั่วไปเพื่อขจัดความสงสัย หรือข้อครหาว่าเอื้อประโยชน์หากต้องใช้วิธีเจรจากับเอกชนรายเดิมที่ได้รับสัมปทาน อีกทั้งต้องจัดการประมูลภายในเวลา 1 ปีนับจากนี้ไป ซึ่งหากไม่มีเอกชนรายใดยื่นประมูลก็ให้เจรจากับเอกชนรายเดิม คือ  บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณและบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้ดำเนินการแหล่งบงกช

กพช.ได้ชี้แจงถึงข้อดีและข้อเสียของทั้งสองแนวทางคือ การเปิดประมูลและการเจรจาว่ามีด้วยกันทั้งสองแนวทาง โดยข้อดีของวิธีประมูลคือทำให้เกิดความความโปร่งใส แต่ข้อเสีย คือ การผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะไม่ต่อเนื่องและลดลงเป็นเวลา 7-8 ปี ส่งผลให้นำเข้าก๊าซจากต่างประเทศมาทดแทนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งคลังและท่อเพื่อรองรับการนำเข้า ส่วนข้อดีของการเจรจากับผู้ผลิตรายเดิม คือ การผลิตก๊าซในอ่าวไทยจะต่อเนื่องในช่วงหมดสัญญาสัมปทาน แต่จุดอ่อนคือประชาชนมองว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิม ทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์มากกว่า หากมีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป

มติของกพช.อาจสร้างความไม่พอใจกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ต่างออกมาชื่นชมให้การสนับสนุน ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาในเรื่องที่เกิดความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายของรัฐบาล แม้ว่ากพช.อาจมีมติออกมาโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน โดยยึดตามความเห็นของหน่วยงานที่ดูเรื่องพลังงานของประเทศโดยตรง อย่างกระทรวงพลังงานก็ได้ แต่กพช.ก็เลือกแนวทางที่ลดปัญหาความขัดแย้ง โดยเลือกอีกวิธีนั่นคือการเปิดประมูล และหากฟังเหตุผลในการพิจารณาของกพช. ก็จะเห็นว่าทุกแนวทางในการแก้ปัญหานั้นล้วนแต่มีข้อดีข้อเสียทั้งสิ้น

ตัวอย่างจากกรณีนี้แสดงในประเด็นที่เป็นเรื่องความขัดแย้งในสังคมนั้น ย่อมมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดขึ้นสองฝ่ายเสมอ ดังนั้น การตัดสินใจว่าจะเลือกทางใดนั้นก็ขึ้นกับว่าเราประเมินกันอย่างไรและให้น้ำหนักกับปัจจัยอะไรมากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่าในครั้งนี้กพช.อาจให้น้ำหนักไปที่ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในสังคม จึงต้องการทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใสด้วยวิธีการเปิดประมูล ในขณะที่ฝ่ายหน่วยงานรัฐที่ต้องการบริหารจัดการในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานก็อาจเห็นว่าทำให้เกิดความล่าช้าและสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น แต่ทางเลือกใดจะถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องตอบได้ยาก ดังนั้นขึ้นกับการให้น้ำหนักกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาความขัดแย้ง

เราเห็นว่ากรณีนี้อาจเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย และวิธีการแก้ปัญหามีหลากหลายมาก อีกทั้งในเรื่องที่เป็นนโยบายสาธารณะย่อมเกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการเลือกวิธีการแก้ปัญหา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งว่าเราจะเลือกอย่างไรและจะให้น้ำหนักด้านไหนมากกว่ากัน แต่คนในสังคมก็ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่ง คือผลที่ตามมาจากการเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ตามมาและก็ต้องยอมรับไปตามนั้น และหากพิจารณาลึกลงไปก็ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการแก้ปัญหาอย่างสันติ และลดความขัดแย้งลงก็เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยนั่นเอง เป็นสิ่งที่คนไทยอาจต้องค่อยๆเรียนรู้กันไปจนกว่าจะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์