'Thailand Economy 4.0' ความหวังไทย

'Thailand Economy 4.0' ความหวังไทย

การก้าวผ่านประเทศรายได้ปานกลาง

ในช่วง1 เดือนที่ผ่านมาหากมีโอกาสได้ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในเวทีต่างๆ จะพบว่ามีประเด็นเศรษฐกิจเรื่องหนึ่งที่สอดแทรกอยู่คือ นโยบายประเทศไทย 4.0” หรือ “Thailand Economy 4.0” แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักแต่พอจับใจความได้ว่า เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ให้พัฒนามากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

การเดินหน้าโมเดลประเทศไทย 4.0 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เป็นผู้ผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยใช้แนวทางการขับเคลื่อนแบบ ประชารัฐ” มุ่งสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน สถานศึกษา และสถาบันการเงินต่างๆ ที่จะมาทำงานร่วมกันซึ่งรูปแบบนี้ประเทศเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมาแล้ว

รมช.พาณิชย์เล่าให้ฟังว่าในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจมาแล้ว3 ช่วงสำคัญ คือในช่วงที่ 1 เราพัฒนาประเทศบนฐานรายได้ภาคเกษตรเป็นหลัก ใช้ทรัพยากรเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนในระยะต่อมาคือการพัฒนาประเทศโดยใช้อุตสาหกรรมเบา มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ทำให้สามารถยกระดับจากประเทศรายได้ต่ำขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ส่วนในช่วงของประเทศไทย3.0 ประเทศไทยเร่งรัดการผลิตโดยใช้อุตสาหกรรมหนักเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งในช่วงนี้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาก็คือการผลิตโดยใช้เครื่องจักรหนักและแรงงานเข้มข้น ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้นในโมเดลประเทศ 4.0 คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ

สิ่งที่รัฐบาลอยากไปให้ถึงก็คือ การที่ประเทศไทยสามารถสร้างและส่งออกเทคโนโลยีของตัวเองได้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 5 อุตสาหกรรมที่เรามีองค์ความรู้ และศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดได้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรและไบโอเทคโนโลยี (Food, Agriculture & Bio-tech) กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (HeaIth , Wellness &Bio-Medical) กลุ่มอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Smart Devices Robotics &Mechatronics) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล พัฒนาระบบการสื่อสาร และเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Digital &Embedded Technology) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการเพิ่มมูลค่าการบริการ (Creative, Culture &High Value Service)

สุวิทย์บอกด้วยว่าการพัฒนาในแนวทางนี้ ยังถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี โดยได้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบแล้วว่าสิ่งที่ต้องเดินหน้าปฏิรูป เพื่อผลักดันโมเดลประเทศไทย 4.0 มี 3 เรื่องที่ต้องปฏิรูปไปพร้อมๆกันคือ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่เป็นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักรและทรัพยากรต้องเปลี่ยนเป็นการผลิตบนฐานความรู้ และเทคโนโลยี (Technology Base) การพัฒนาภาคบริการ รวมทั้งต้องมีการปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา ดึงสถาบันวิจัยระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศไทย และการปฏิรูประบบการศึกษา ต้องเน้นไปที่การสร้างแรงงานที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี เพื่อสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต

นโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่เป็นการวางรากฐาน การพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมีเป้าหมายที่ผลักดันให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้ประเทศหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่อยู่ในกับดักรายได้ปานกลางในที่สุด ที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดการวางแผนทางเศรษฐกิจในระยะยาว จะมีก็เพียงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเท่านั้น ขณะที่หลายประเทศมีการวางแผนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยการวางแผนที่ออกมาต้องไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมมากที่สุด