การพัฒนาแบบหมาเห็นเงา(5)

การพัฒนาแบบหมาเห็นเงา(5)

การเผาป่ากับการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นสองประเด็นร้อนในตอนนี้ รายงานของสื่อต่างๆ บ่งว่าการเผาป่าถูกประณามอย่าง

กว้างขวาง แต่อะไรจะเกิดตามมาบ้างยังมองไม่ออก ส่วนทางด้านการพัฒนาประชาธิปไตย ก้าวต่อไปคงได้แก่การแสวงหาการยอมรับให้แก่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สองประเด็นนี้ดูจะไม่มีอะไรเกี่ยวกันนอกจากจะจงใจมองให้มี

ขอเสนอให้ลองมองย้อนไปถึงสมัยไทยและญี่ปุ่นเปิดรับฝรั่งหลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม สิ่งหนึ่งซึ่งไทยและญี่ปุ่นทำเหมือนกัน ได้แก่ การส่งคนรุ่นหนุ่มไปศึกษาหาความรู้ในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของเทคโนโลยีใหม่ที่นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม

การศึกษาหาความรู้ของนักศึกษาไทยและนักศึกษาญี่ปุ่นนั้นนำไปสู่การปฏิบัติที่ต่างกันมาก กล่าวคือ นักศึกษาไทยใช้ความรู้ใหม่หวังยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนระบบการปกครองโดยอ้างว่าเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย หลังเวลาผ่านไปกว่า 80 ปี สิ่งที่เกิดมิใช่ประชาธิปไตย หากเป็นการยึดอำนาจสลับกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประกอบกับความฉกฉวยผลประโยชน์ของชนชั้นผู้นำ ผู้ต้องการจะเปลี่ยนระบบการปกครองของไทย จึงไม่ต่างอะไรกับหมาโง่เห็นเงา ซึ่งละทิ้งสิ่งที่มีอยู่แล้วเพราะหวังจะได้สิ่งใหม่ที่ตนมองเห็นว่าใหญ่กว่า โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงเงา

การเปลี่ยนระบบการปกครองตามมาด้วยสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจ” ซึ่งมีนโยบายหลากหลายอย่างสนับสนุน นโยบายเหล่านั้นนำไปสู่การตัดและเผาต้นไม้ในป่าเพื่อนำที่ดินมาปลูกพืชเศรษฐกิจแบบเชิงเดี่ยว และการชักชวนชาวต่างชาติให้มาลงทุนในด้านการอุตสาหกรรมซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ กระบวนการตัดและเผาต้นไม้นั้นดำเนินมาจนถึงวันนี้ มันเป็นประเด็นร้อน เพราะต้นไม้ที่ถูกตัดและเผาในขณะนี้อยู่ในป่าต้นน้ำ และป่าที่มีกฎหมายคุ้มครองให้สงวนไว้ด้วยเป้าหมายบางอย่าง อาทิเช่น การปกป้องสัตว์ป่าซึ่งหายาก

นอกจากนั้น กระบวนการตัดและเผาต้นไม้ในป่าเป็นประเด็นร้อนในตอนนี้ เพราะชาวไทยจากหลากหลายสายงานมองว่า กระบวนการนั้นเป็นต้นเหตุสำคัญของความร้อนระอุ และความแห้งแล้งจนทำให้แหล่งน้ำต่างๆ แห้งเหือด จริงอยู่ไม่มีใครรู้แน่นอนว่าการลดลงของพื้นที่ป่าทำให้เกิดความแห้งแล้งโดยตรงดังที่ปรากฏอยู่หรือไม่ แต่เหตุการณ์ในอดีตบ่งบอกว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก

ทั้งนี้เพราะการค้นคว้าได้ข้อสรุปว่าในย่านตะวันออกกลางและย่านอเมริกากลาง ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรแอสซีเรีย บาบิโลเนีย และอาณาจักรมายา ตามลำดับนั้น มีป่าไม้ครอบคลุมอยู่มาก การตัดและเผาต้นไม้เพื่อนำเนื้อไม้มาใช้ และนำที่ดินมาผลิตพืชอาหารนำไปสู่การเกิดความแห้งแล้งร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยแห่งการล่มสลายของอาณาจักรเหล่านั้น

สำหรับด้านการชักชวนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในการอุตสาหกรรม ซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ยังไม่เกิดการพัฒนาตามความคาดหวัง ทั้งนี้เพราะ ณ วันนี้ไทยยังไม่มีความสามารถที่จะยืนอยู่บนขาของตัวเอง จึงยังคงชักชวนต่างชาติให้มาลงทุนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องไทยยังหวังพึ่งจมูกต่างชาติหายใจแม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีแล้ว

ทางด้านนักศึกษาญี่ปุ่น พวกเขากลับมาใช้ความรู้ใหม่พัฒนาการอุตสาหกรรมเป็นหลัก ในกระบวนการพัฒนานั้น ชาวญี่ปุ่นไม่พึ่งพาทุนจากต่างชาติ หากพึ่งทุนจากภาคเกษตรกรรมของตนเองอย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่พยายามขยายผลผลิตของภาคเกษตรกรรมโดยการตัดและเผาต้นไม้ในป่า เพื่อนำที่ดินมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ณ วันนี้ พื้นที่ของญี่ปุ่นจึงมีป่าปกคลุมอยู่เกินร้อยละ 70 การมีพื้นที่ป่ามากขนาดนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ของญี่ปุ่นชุ่มชื้นและมีน้ำเหลือใช้ ญี่ปุ่นพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าไม่น้อยกว่าชาติอื่น

การมองย้อนไปถึงสมัยไทยและญี่ปุ่นเปิดรับฝรั่งดังที่เขียนมา น่าจะก่อให้เกิดข้อคิดหลายอย่าง ขอพูดถึงสองเรื่องซึ่งไทยต่างกับญี่ปุ่นแบบอยู่คนละขั้ว เรื่องแรก ได้แก่การพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติ ไทยทำเช่นนั้นมาตั้งแต่เริ่มคิดจะพัฒนาประเทศให้ทันสมัย แต่ญี่ปุ่นไม่ทำ น่าจะถึงเวลาที่ไทยจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาเสียใหม่โดยเลิกอาศัยทุนต่างชาติ

เรื่องที่สอง ได้แก่การตัดและเผาต้นไม้ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อนำที่ดินมาใช้ในกิจการอื่น เมื่อเกิดนโยบายห้ามตัดต้นไม้ ชนชั้นผู้นำของญี่ปุ่นไม่ละเมิดนโยบายเสียเอง ส่วนในเมืองไทย ป่าที่ถูกทำลายดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ หากชนชั้นผู้นำไม่ทำเสียเองบ้าง หรือทั้งผู้นำและผู้ทำหน้าที่ดูแลป่าไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้ภาคเอกชนทำตามใจชอบบ้าง ซึ่งรวมกันเป็นข้ออ้างการกระทำที่คอยฉกฉวยผลประโยชน์โดยตรงและโดยการละเลยหน้าที่ ฉะนั้น การจะปกปักรักษาป่าและการจะพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปจะทำไม่ได้ หากชนชั้นผู้นำและผู้มีหน้าที่ต่างๆ ไม่ลดความเอารัดเอาเปรียบของตนลง พร้อมกับการหยุดทำลายป่าและปลูกป่าใหม่ขึ้นมาทดแทนป่าที่ถูกทำลาย

เมื่อพูดถึงการตัดต้นไม้เพื่อนำพื้นที่มาใช้ทำอย่างอื่น ขอขยายต่อไปถึงแนวคิดที่จะนำที่ดินของการรถไฟในย่านมักกะสันมาใช้ทำศูนย์การค้าและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกาสิโน หรือโรงแรม การทำเช่นนั้นอาจจะดูดีในแง่เพิ่มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี แต่มันจะมีผลร้ายซึ่งคิดเป็นตัวเลขได้ยาก และจากมุมมองหนึ่งอาจจะร้ายยิ่งกว่าการตัดและเผาต้นไม้ในป่า ทั้งนี้เพราะหลังป่าถูกเผาเราอาจปลูกต้นไม้ได้ทันทีเมื่อมีความชุ่มชื้น ส่วนในพื้นที่มักกะสัน เราจะทำเช่นนั้นได้ยากเนื่องจากจะต้องทุบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งลงทุนไปมหาศาล ผลสุดท้ายการจะใช้ที่ดินนั้นเพื่อการก่อสร้างดังกล่าวจะเป็นเสมือนการพัฒนาแบบหมาโง่เห็นเงาเช่นเดียวกับการเปลี่ยนการปกครอง