'ฟินเทค' เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต

'ฟินเทค'  เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต

ช่วงนี้หลากหลายองค์กร กำลังตื่นตัวกับการนำ “เทคโนโลยีการเงิน”

 (Financial Technology) หรือ Fin Tech มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการออนไลน์ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ชื่นชอบความสะดวกและรวดเร็ว 

ไม่เว้นแม้แต่แวดวง “ตลาดเงินตลาดทุน” สะท้อนผ่านการทุ่มเงินลงทุนหลายสิบล้านของเหล่าโบรกเกอร์ เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับการ “ซื้อขายหลักทรัพย์ หลังซุ่มศึกษารูปแบบการนำเทคโนโลยีฟินเทค มาประยุกต์ใช้ในการซื้อขายหุ้นนานหลายปี

แน่นอนว่า เป้าหมายของแอพพลิเคชั่น คือ เพิ่มปริมาณการซื้อขาย ,เพิ่มลูกค้ารายใหม่ ,กระตุ้นให้ลูกค้าเก่าเคลื่อนไหวพอร์ตลงทุน,ลดการแย่งตัวเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน หรือ Investment Consultants (IC) เป็นต้น

ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัว บริษัท กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเงินรองรับกระแสฟินเทคที่กำลังฮอตฮิต ด้วยการเปิดตัวสำนักงานในเมืองทองธานี สะท้อนการตื่นตัวของแวดวงสถาบันการเงิน

เทคโนโลยีฟินเทค เริ่มเข้ามามีบทบาทในหมู่นักธุรกิจสหรัฐอเมริกา เมื่อ 8-10 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะเข้ามาสู่เมืองไทยในช่วง 5 ปีก่อน ผ่าน “ธุรกิจสตาร์ตอัพ” (Startup) และ “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ” (e-Commerce)

หนึ่งในเทคโนโลยีที่เหล่าสตาร์ตอัพเมืองไทยนิยมใช้ในช่วงตั้งต้นทำธุรกิจ คือ การระดมทุนจากมวลชน หรือ crowdfunding ซึ่งแพลตฟอร์มนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่นักธุรกิจสหรัฐอเมริกา 

วิธีการ คือ นำเสนอโปรโจคต่างๆผ่านเวปไซด์ที่จัดตั้งขึ้นมา 

“ธนธรณ์ ชัยมณี” ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจอิเลคทรอนิกส์ บล.กสิกรไทย เล่าว่า เทคโนโลยีฟินเทค กำลังจะเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในหลากหลายวงการ หลังเมื่อ 2 ปีก่อน เริ่มเข้ามามีบทบาทในหลายๆธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องทำธุรกรรมผ่านออนไลน์

ในส่วนของสถาบันการเงิน ฟินเทคถูกนำมาปรับใช้ในการทำธุรกรรมโอนเงินออนไลน์ หรือจ่ายบิลต่างๆ หลายคนรู้จักกันดีในชื่อ “internet banking” ถือเป็นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สำหรับตลาดหุ้น หลายโบรกเกอร์เริ่มจัดทำบทวิเคราะห์ และประมวลหุ้นเด่นให้นักลงทุนหาจังหวะลงทุน

โดยรูปแบบการให้บริการดังกล่าว เริ่มเป็นที่สนใจของลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนผ่านสัดส่วนการใช้งานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ,คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์มีสัดส่วน 50:50 เทียบกับปี 2557 ที่มีสัดส่วน 40:60 ตามลำดับ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์มีสัดส่วนไม่ถึง 10%

จากนี้คงจะเห็นหลากหลายวงการนำเทคโนโลยีฟินเทคมาปรับใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น แม้การลงทุนพัฒนาระบบในช่วงแรกจะใช้เงินสูง แต่ถือว่า คุ้มค่าอย่างน้อยก็ช่วยลดต้นทุนการจ้างพนักงาน และช่วยเพิ่มวอลุ่ม

ทว่า ความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเป็นระบบ 4 จี และ 5จี ในอนาคต อาจทำให้นักลงทุนหันมาซื้อขายหุ้น ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ มากกว่าสั่งซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนก็เป็นได้ 

ถ้าเป็นเช่นนั้นตำแหน่งไอซี อาจมีความสำคัญลดลงเมื่อเทียบกับทีมวิเคราะห์ โดยเฉพาะทีมที่สามารถจัดทำบทวิเคราะห์เอ็กซ์คลูซีฟได้อย่างสม่ำเสมอ