ปัญหาผู้ลี้ภัยในยุโรปส่อแววเรื้อรัง

ปัญหาผู้ลี้ภัยในยุโรปส่อแววเรื้อรัง

ช่วงสงกรานต์ หากใครได้มีโอกาสแวะเวียนไปเที่ยวแถวยุโรป อาจสังเกตเห็นความแตกต่างไม่มากก็น้อยของประชากร

ที่มีหลากหลายชนชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะในเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก นอกจากพลเมืองยุโรปเองยังมีผู้อพยพจำนวนมากเข้ามาพำนักอาศัยในหลายประเทศ และส่วนมากเป็นผู้ลี้ภัยที่หนีจากสงครามซีเรีย (จำนวนมากที่สุด) นอกจากนั้นก็มีที่มาจากอัฟกานิสถาน อิรัก โคโซโว และจาก Eritrea ในแอฟริกา

สังคมหลากหลายเชื้อชาติคงเป็นรูปแบบ ใหม่ของสังคมยุโรปในอนาคต ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผู้อพยพ แม้จะมีประชาชนที่สนับสนุนการช่วยเหลือผู้อพยพและผู้ลี้ภัยสงครามด้วยเหตุผลทางด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก แต่ก็มีประชาชนยุโรปอีกจำนวนมากที่ต่อต้านการรับผู้อพพยเหล่านี้ด้วยเหตุผลด้านสังคม และปัญหาสังคมอื่นๆ ในอนาคต

ข้อมูลล่าสุดของสหภาพยุโรปแสดงว่า ยุโรปรับผู้อพยพเข้ามากถึง 1.3 ล้านคน

ในปี 2558 เยอรมนีเป็นประเทศที่รับผู้อพยพเข้ามามากที่สุด กล่าวคือจำนวน 476,000 คน (แบบเป็นทางการ กล่าวคือได้ตอบรับใบสมัคร asylum) แต่ในความเป็นจริงมีจำนวนผู้อพยพกว่า 1 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาถึงและพำนักอยู่ในเยอรมนี (ก่อนที่จะมีการส่งต่อไปยังประเทศอื่นที่ยอมรับใบสมัคร) ฮังการีเป็นอันดับที่ 2 ที่ตอบรับใบสมัคร asylum กล่าวคือจำนวน 177,130 ณ ธ.ค. 2558 ซึ่งส่วนมาเป็นผู้อพยพที่เดินทางผ่านเข้ามาทางภาคพื้นดินผ่านกรีซและภูมิภาคบาลข่านตะวันตก

เป็นเรื่องยากที่สหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสมาชิก 28 ประเทศจะมีนโยบายร่วมกันด้านผู้ลี้ภัย เนื่องจากแต่ละประเทศมีนโยบาย กฎหมาย และมาตรการเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ และการดูแลจัดการกับผู้ลี้ภัยที่แตกต่างกัน ทำให้การตกลงกำหนดโควต้าว่าให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องรับจำนวนผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในยุโรปแล้วไปช่วยกันดูแลจึงเป็นเรื่องแสนยาก

อียูพยามกำหนดโควต้าให้ประเทศสมาชิกแบ่งกันรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียและแอฟริกาไปช่วยกันดูแล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผู้นำยุโรปตกลงกันได้เพียงว่าจะช่วยกันรับผู้ลี้ภัย “ตามความสมัครใจ”ประเทศยุโรปที่รับผู้ลี้ภัยมากที่สุด (เทียบกับจำนวนประชากร) ได้แก่ สวีเดน ส่วนฮังการี เยอรมนี มอลต้า สวิตเซอร์แลนด์ ก็รับผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากเช่นกัน

จำนวนผู้ลี้ภัยเป็นแสน เป็นล้านคนที่หลั่งไหลเข้ามาในยุโรปแล้ว และที่กำลังเดินทางเข้ามาอีก นับเป็นปัญหาใหญ่ของยุโรปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับผู้อพยพที่เข้ามาแล้ว ต้องมีการจัดที่พักอาศัยและสิ่งของจำเป็น ยกตัวอย่างในเยอรมนี (อาทิ เมืองเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวง) มีการดัดแปลงสถานที่ออกกำลังการในร่ม ค่ายทหาร และสถานที่ราชการหลายแห่งให้เป็นแหล่งพำนักของผู้ลี้ภัย และในระยะยาวจะตามมาด้วยการดูแลให้ความรู้และการศึกษาเพื่อให้การบูรณาการเข้ากับสังคมของประเทศนั้นๆ ได้

นับได้ว่า สำหรับผู้ลี้ภัยที่ได้รับการยอมรับให้มีสถานะถูกต้องอยู่ในยุโรปย่อมเป็นชีวิตที่ดีกว่าอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับการมีชีวิตอยู่ในสงครามกลางเมือง ท่ามกลางความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความแร้งแค้น

แต่คำถามที่ตามมามากมาย ก็คือแต่ละประเทศจะควบคุมจำนวนผู้อพยพได้อย่างไร ส่วนมากผู้ที่เข้ามาแล้ว ก็ต้องการให้ครอบครัวติดตามมาด้วย ดังนั้น ในระยะยาวจึงเปรียบเสมือนกับรับการรับภาระของจำนวนผู้อพยพที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเท่าตัว หรือเป็นทวีคูณ? ปัญหาต่อไปคือจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นแบบควบคุมไม่ได้

ผู้นำอียูกำลังพยายามอย่างมาก ที่จะจัดการกับวิกฤติผู้ลี้ภัย ล่าสุดได้ตกลงกับตุรกีซึ่งเป็นประเทศเขตพรมแดนติดต่อกับอียู (ยังไม่ได้เป็นสมาชิกอียู) ว่าจะมีการจัดการประเด็นผู้ลี้ภัยอย่างไร โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้ามาทางทะเล (จากตุรกีเข้ามายังกรีซเป็นจำนวนประมาณ 2,000 คนทุกๆ วัน) ปัจจุบัน คาดว่า มีจำนวนผู้ลี้ภัยจากสงครามซีเรียเข้ามาพำนักในตรุกีประมาณ 3 ล้านคน และผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องการเดินทางต่อไปยังยุโรปผ่านทางเรือ

เมื่อปลายปี 2558 อียูได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากให้ตุรกี เพื่อแลกกับการรับไปจัดการการหลั่งไหลเข้ามาในอียูของผู้อพยพ ล่าสุดผู้นำอียูและตุรกี เกือบจะตกลงกันได้เรื่องการส่งกลับผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาทางเรือและมาถึงกรีซแล้ว แต่อียูต้องการให้รัฐบาลตุรกีตกลงที่จะรับผู้อพยพกลับไปพำนักในตุรกี มาตรการดังกล่าวหากทำได้จริง จะเป็นความหวังของการปิดช่องทางการทางเดินเข้ามาทางเรือของผู้ลี้ภัยจำนวนมากสู่ยุโรป และผ่อนปรนสถานการณ์เรื่องผู้ลี้ภัยได้ในระดับหนึ่ง

แต่ในความเป็นจริงปัญหาผู้ลี้ภัยมิได้หยุดอยู่ที่เพียงแค่สิทธิที่จะไดัรับอาหาร การปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐาน (first aid) และการดูแลให้ที่พักที่ศูนย์พักพิงในช่วงระยะสั้น แต่ในระยะยาวหมายถึงบูรณาการดูแลให้การศึกษาแก่บุคคลและครอบครัวของผู้อพยพเหล่านั้น ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมยุโรป ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม การใช้ชีวิต ให้ผสมกลมกลืน และรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว จนกลายเป็น คนยุโรปมิฉะนั้นปัญหาเรื่องความแบ่งแยกทางเชื้อชาติ และรวมทั้งปัญหาสังคมอื่นๆ จะตามมาแบบควบคุมไม่ได้เลยทีเดียว

 ---------------

ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu

รือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd