ทะลุทะลวงป้อมค่ายเสมา

ทะลุทะลวงป้อมค่ายเสมา

21 มี.ค.2559 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

  ที่ 10/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2559 ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวน 18 ภาค ทำหน้าที่แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ประถมศึกษา และอ.กค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มัธยมศึกษาและให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาคจังหวัด 77 จังหวัด

สองคำสั่งดังกล่าว ครูทั้งประเทศเรียกว่า “ยุทธการทะลุทะลวงกระทรวงศึกษาธิการ”

มีรายงานข่าวว่า ครูหนุ่ยพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ บอกกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเสมา ว่า เบื้องต้นคำสั่งนี้ มีอายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน และหัวหน้า คสช.ยื่นดาบให้ทะลุทะลวงกระทรวงศึกษาธิการ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ ดาบนั้นจะคืนสนองมาตัดคอครูหนุ่ยนั่นเอง

ครูหนุ่ยเล่าว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯลุงตู่ พูดสั้นๆว่า “ท่านจะถูกตัดคอเป็นคนที่หนึ่ง ผมเป็นคนที่สอง ดังนั้น งานนี้ต้องสำเร็จ”

ทะลุทะลวงจุดใด? และครูหนุ่ยจะแตกหักกับใคร?

กระทรวงศึกษาธิการใหญ่โต มีข้าราชการ 5-6 แสนคน แต่ คสช.และครูหนุ่ย ต้องการแตกหักมีเพียงจุดเดียว

นั่นคือ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา

ย้อนไปปี 2546 รัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยมีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รุกฝ่ายข้าราชการด้วยนโยบายปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

ในปีนั้น ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษา โดยมีการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างของหน่วยงานการศึกษาที่มีนัยสำคัญ

เริ่มจากการยุบรวมของ 3 หน่วยงาน คือ การยุบทบวงมหาวิทยาลัยและสภาการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) มาอยู่ภายใต้โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ

มีการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรในกระทรวงศึกษาฯ เป็น 5 หน่วยงานหลัก หรือที่เรียกกันว่า “5 แท่ง” ประกอบไปด้วย 1.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 3.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 4.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ 5.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

เฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รวมครูประถม ครูมัธยม ศึกษาธิการ และนักวิชาการครูมาไว้ที่เดียวกัน

ด้านหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาในยุคพรรคไทยรักไทย ได้ก่อให้เกิด ระบอบอุปถัมภ์ใหม่ในวงการศึกษา

เมื่อมีองค์กรที่ชื่อว่า คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา) ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547

อ.ก.ค.ศ.ยึดกุม “ครูฐานราก” จำนวน 3-4 แสนคน ไว้ในมือ โดยอ้างถึงหลักการกระจายอำนาจ

อ.ก.ค.ศ. มีอำนาจอยู่หลายอย่าง แต่ทำอยู่ 2 เรื่องคือ การบรรจุแต่งตั้ง กับลงโทษทางวินัย เพื่อเป้าหมายการสร้างระบอบอุปถัมภ์ขึ้นมาในภูมิภาค

เนื่องจาก อ.ก.ค.ศ. เป็นรูปคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม และเปิดทางให้ “คนนอก” เข้ามาเป็นกรรมการด้วย

เหนืออื่นใด อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาจำนวนหนึ่ง ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ

รัฐมนตรีศึกษา ไม่ว่าจะมาจากค่ายทักษิณ หรือค่าย ปชป. ต่างก็ใช้ อ.ก.ค.ศ. เป็นฐานบัญชาการคุม ครูฐานรากเพื่อหวังผลทางการเมือง

คสช.เอง ก็ต้องการ “ครู” เป็นฐานกำลัง ในการฝ่าด่านประชามติ และการเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแมพ ซึ่งมีเวลาเหลืออยู่ 1 ปี 6 เดือนโดยประมาณ

ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารไม่สามารถเข้าถึง “ครูฐานราก” ได้โดยตรง ต้องเผชิญด่านอรหันต์ อ.ก.ค.ศ.

ยุทธการพังทลายป้อมค่าย อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ด้วยมาตรา44 จึงบังเกิดขึ้น พร้อมกับสถาปนา ศึกษาธิการภาค และ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ขึ้นมาใหม่ เป็นเครื่องมือเข้าไปคุมครูฐานราก

เห็นชัดว่า คสช.มอบให้กระทรวงศึกษาธิการ จับมือกระทรวงมหาดไทย เข้ามาจัดโครงสร้างการบริหารครูในภูมิภาค

พูดง่ายๆ คสช.ต้องการเห็น รัฐราชการรวมศูนย์ ไม่ต้องการ การกระจายอำนาจ แบบอุปถัมภ์โดยนักการเมือง 

ทั้งนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาดอกผลการรัฐประหารไม่ให้เสียของ และ อยู่ยาวนั่นเอง