รัฐประหารครั้งสุดท้าย!

รัฐประหารครั้งสุดท้าย!

“สารจากใจ” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่าส่งถึงประชาชน

ผ่านโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันเสาร์มีมากมายหลายประเด็น แต่ที่เป็นหัวใจของเนื้อหาน่าจะเป็นประโยคที่ว่า...

“...สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อไม่ให้ประเทศชาติและประชาชน กลับไปอยู่ในสถานการณ์เช่นเดิมอีก ไม่ได้ต้องการเป็นศัตรูกับใคร แต่ขอยืนยันว่าจะไม่ยอมให้ใครก็ตามที่มุ่งร้ายต่อสถาบัน ทุจริต ทำร้ายพี่น้องประชาชน ทำร้ายประเทศ มากดดันการทำงานของ คสช. รัฐบาลและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ...”

และต่อด้วยข้อความที่ว่า

“....ในการทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีอนาคต เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คสช. และรัฐบาลหวังว่าการเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศของทหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 จะเป็นการแก้ปัญหาโดยทหารครั้งสุดท้าย...”

แปลความได้ไหมว่าถ้า คสช. และรัฐบาลไม่สามารถทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็น ครั้งสุดท้ายนั่นคือความล้มเหลว?

คงไม่ต้องทำโพลล์ถามความเห็นของคนไทยทั่วไป ว่าอยากจะเห็นรัฐประหารอีกหรือไม่ เพราะการยึดอำนาจด้วยกำลัง ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของบ้านเมืองนั้น ย่อมไม่เป็นสิ่งพึงประสงค์และมีผลทำให้บ้านเมืองต้องถอยหลังเสมอ

อำนาจเป็นสิ่งอันตราย ไม่ว่าอำนาจนั้นตกอยู่กับใคร หรืออำนาจนั้นจะมาด้วยวิธีการใด หากปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลแล้ว ไม่ว่าจะอ้างเป็น อัศวินขี่ม้าขาว หรือ ประชาธิปไตย” ก็ล้วนแล้วแต่คุกคามการสร้างชาติสร้างบ้านเมืองอย่างถูกต้องเป็นธรรมทั้งสิ้น

คสช. อ้างความวุ่นวายทางการเมืองเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เหตุเพราะคนในสังคมแตกแยกกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ภารกิจจึงต้องอยู่ที่การ ปฏิรูปและ ปรองดองเพื่อให้คนไทยส่วนใหญ่เดินหน้าฟื้นฟูประเทศ

แต่การหวังว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะทำให้เกิดการปฏิรูปและปรองดอง ย่อมเป็นเพียงความฝันเท่านั้น เพราะไม่ว่า “ล้อมกรอบ” หรือ “ล้อมคอก” ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตอย่างไร ความขัดแย้งก็จะยังดำรงอยู่หาก “เงิน” และ “อิทธิพล” ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ

กลไกของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ภายใต้ระบอบรัฐสภาเดิมล้มเหลวเพราะเรายอมให้ ศรีธนญชัยมีอำนาจเหนือ ศรีปราชญ์และทุกฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมือง ตีความกฎหมายและกติกาบ้านเมืองให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์เท่านั้น ไม่มองประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่ก็จะอ้าง “เสียงส่วนใหญ่” ว่าเป็นของฝ่ายตน จึงทำให้เกิดกรณีว่าใครมีเสียงในสภาก็ทำอะไรได้ทั้งสิ้น โดยไม่สนใจความเป็นธรรมและสิทธิของคนส่วนอื่นของบ้านเมือง

สารนายกฯบอกว่าจะผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็น “สากล” และจะรับฟังความเห็นจากทุก ๆ ฝ่ายของสังคมอย่างกว้างขวางที่สุด

แต่ขณะเดียวกันก็จะให้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ “สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย”

นี่คือโจทย์ใหญ่ ถ้าเราจะใช้มาตรฐาน “สากล” ก็ต้องถามตัวเองว่าวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของไทยเราที่ว่านี้เป็น “สากล” เพียงใด? หรือเราจะต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราอ้างว่า “เหมาะสมกับความเป็นไทย” นั้นความจริงก็คือสิ่งที่ไม่ค่อยจะเคารพกติกาและเป็นไปในลักษณะ “ใครมือยาว สาวได้สาวเอา” อีกทั้งยังยึดเอา “ตัวบุคคล” มากกว่า “หลักการ”?

รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ ยารักษาสารพัดโรคหากแต่เป็นกติกาที่คนในสังคมตกลงกันว่าจะถือเป็นหลักปฏิบัติร่วมกัน และกติกานี้จะตกลงกันได้ก็มิได้อยู่ที่นักกฎหมายหรือนักรัฐศาสตร์ หรือนักการเมืองมาตั้งวงเขียนขึ้นมาแล้วบอกว่า “เอานี่ไปใช้” หากแต่ต้องสะท้อนถึงความต้องการของทุกภาคส่วนของสังคม ในอันที่จะร่วมกันแสดงเจตนารมย์ที่จะเดินหน้า เพื่อสร้างสังคมใหม่ภายใต้กติกาใหม่อย่างพร้อมเพรียง

ผมยังเชื่อในหลักการ “พลเมืองเป็นใหญ่” ของร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไป เพราะหากพลเมืองร่วมกันกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองได้, การปฏิรูปที่แท้จริงก็เกิดขึ้นได้, การปรองดองก็มีแนวทางที่สร้างขึ้นได้

เพราะพลเมืองที่แท้จริงจะไม่ใช่เพียงแสดงสิทธิในคูหาเลือกตั้งไม่กี่นาทีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผู้มีบทบาทคึกคัก ร่วมกิจกรรมของบ้านเมืองเป็นวิถีชีวิตประจำวันตลอดเวลา

เมื่อพลเมืองแต่ละคนมีสิทธิมีเสียงของตน พวกเขาก็จะหวงแหนสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริง ไม่ใช่นิยามที่นักเลือกตั้งยัดเยียดให้ และไม่ต้องการ “อัศวินม้าขาวในเครื่องแบบ” มา “ช่วยระงับเหตุ” อย่างที่ผ่านมา

เมื่อสร้างพลเมืองที่มีพลังหรือ active citizens แล้วก็จะไม่มีใครกล้าคิดสร้าง “เผด็จการรัฐสภา” หรือทำรัฐประหารอีก เพราะถึงจุดนั้น ทหารทุกคนก็จะเป็น active citizens เหมือนเพื่อนร่วมชาติในทุกสาขาวิชาชีพ

เพราะ active citizens ย่อมเป็นพลังที่แท้จริงของแผ่นดิน และย่อมไม่ยอมให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กุมอำนาจปกครองบ้านเมืองไว้แต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป

เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเหตุการณ์ 22 พ.ค. 2557 ต้องเป็น รัฐประหารครั้งสุดท้ายปฐมบทแห่งความ ปรองดองก็ควรจะเกิดขึ้น

เพราะหากยังมีความคลางแคลงในความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อยว่า นี่อาจมิใช่ครั้งสุดท้ายของการใช้กำลังทหารเข้าแก้ปัญหาบ้านเมือง สังคมไทยก็เลิกตั้งความหวังในการ “ปรองดอง”

และฝังกลบความคิดเรื่อง ปฏิรูปอย่างถาวรได้เลย!