ฟ้องอุตลุดปาล์มอินโดฯ

ฟ้องอุตลุดปาล์มอินโดฯ

กำลังกลายเป็น มหากาฬ ปาล์มอินโดนีเซีย ที่ใครๆ อยากรู้กับการลงทุน

โครงการปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซีย ของบริษัทปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) เมื่อ 7-8 ปีก่อน บริษัทแห่งนี้จดทะเบียนที่สิงคโปร์ ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 40 ล้านเหรียญสิงคโปร์  มีปตท.ถือหุ้น 100% เพื่อเป็นตัวแทนลงทุนโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์ม และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย แต่การเข้าไปลงทุนของ PTTGE กลายเป็นคดีความกันไปซะแล้ว 

หากจะต้องให้ไล่เรียงที่ไปที่มา ความเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ รวมไปถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น พื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นมันซับซ้อนและยืดยาวเหลือเกิน

เอาเป็นว่าใครที่ติดตามเรื่องนี้มาแต่ต้น น่าจะพอเข้าใจอยู่ไม่น้อย ว่าเกิดอะไรที่ เกี่ยวโยงกับใครอย่างไร พื้นที่ตรงนี้คงไม่ต้องสาธยายอะไรมากมาย

ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง กับการเข้าไปซื้อสวนปาล์มที่อินโดนีเซีย กันยกใหญ่ก่อนนำไปสู่การยื่นฟ้องร้อง ทั้งในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เท่านี้ไม่พอยังมีการยื่นฟ้องเกิดขึ้น

เริ่มจากเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท PTTGE ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องศาลแพ่ง นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้จัดการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ถูกดึงมาเป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม

นิพิฐ ถูกกล่าวหาว่า เป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีการซื้อที่ดินเป็นที่ดินทับซ้อน พื้นที่ป่าสงวนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่สามารถขอให้หน่วยงานในอินโดนีเซีย ออกเอกสารแสดงสิทธิทำเกษตรกรรมได้ ยังมีค่านายหน้าการจัดซื้อที่ดินสูงผิดปกติ 30-40% สำนวนคำฟ้องระบุว่า การจัดหาที่ดินปลูกปาล์มในโครงการ และการดำเนินงาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดการเสียหาย และสูญเสียเงินลงทุน

ทำให้เกิดความเสียหายแก่ปตท. และ PTTGE ที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย มีการเรียกค่าเสียหาย 5 โครงการที่เข้าไปลงทุนอยู่ถึง 2 หมื่นล้านบาท

 คดีความในส่วนนี้ก็ต้องสู้กันไประหว่าง นิพิฐ กับปตท. ส่วนจะจบลงอย่างไร ใครจะเกี่ยวข้องก็ต้องให้กระบวนการยุติธรรมว่าไป

 ที่น่าสนใจตอนนี้ดูเหมือน ขั้วอำนาจเปลี่ยน อะไรก็เกิดขึ้นได้  ไม่แปลกหากจะพูดว่า ทีใครทีมัน

 ยิ่งเห็นเมื่อเร็วๆนี้ นิพิฐ ให้สัมภาษณ์ปรากฏบนหน้าสื่อ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา บอกว่าเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เรียกคณะผู้บริหารบางคน เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3) ตามกฎหมายแล้ว อาจจะฟ้องใครบางคนเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ย ค่าเสียหายได้ เนื่องจากเป็นผู้กระทำละเมิดต่อปตท.และ PTTGE ทำให้ได้รับความเสียหาย

     สิ่งที่น่าสนใจ นิพิฐ ยังพูดถึงกระบวนการที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับปตท.และ PTTGE โดยการขายที่ดินและทรัพย์สินของบริษัท PT.MAR ต่ำกว่าราคาตลาด 

 จริงๆเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง บ้างก็บอกว่า จำเป็นต้องขายขาดทุน หากมีไว้ก็เป็นภาระเพราะที่ดินมีปัญหา โครงการมีปัญหา ขณะที่บางส่วนมองว่า ไม่ควรเร่งรีบการขาย เรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบจะรีบขายไปทำไม?

 ว่ากันว่าเรื่องนี้มีการนำเสนอเข้าบอร์ดปตท.รับรู้รับทราบการขายที่ดินแล้ว ส่วนจะขายถูกขายแพงอย่างไร ใครที่นั่งอยู่ในบอร์ดปตท.อยู่ย่อมรู้ดี 

 หากขายที่ดินและทรัพย์สินบริษัท PT.MAR ราคาถูกกว่าราคาตลาดอย่างนี้ก็ตัวใครตัวมัน หนักไปกว่านี้ดูเหมือนจะขายเกือบทุกโครงการไปซะแล้ว 

 การที่ นิพิฐ ยื่นฟ้องกลับกำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นเวลานี้ ที่จะ "ลากใครบางคน" เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขายขาดทุนอยู่เหมือนกัน งานนี้บอกได้เลย "จบยาก" แม้ใครที่ผ่านพ้นองค์กรแห่งนี้ไปแล้ว มีหวังบั้นปลายชีวิตอาจจะต้องวนเวียนอยู่กับคดีความ  

 จริงๆก็ปรากฏชัดอยู่แล้วความเสียหายช่วงต้นที่ซื้อดินมาแบบมีปัญหา แต่เหตุไฉนผู้บริหารปตท.ถึงต้องเร่งรีบขายสวนปาล์มออกไป ในราคาถูกกว่าราคาที่ซื้อมา หรือเป็นเพราะที่ดินแห่งนี้ ไร้ซึ่งมูลค่าอย่างนั้นหรือ ? 

 ยิ่งกว่านี้หากเป็นการขายที่ดินที่มีเอกสารสิทธิิ์ทำไม? ถึงขายถูก  

เชื่อเถอะ...คงจะไม่จบลงง่ายๆ มีหวังใครที่เกี่ยวข้องกับการขาย หรือรับช่วงบริหารจัดการโครงการช่วงหลัง มีสิทธิจะถูกลากเข้ามาร่วมรับผิดชอบ แต่ที่แน่การบริหารจัดการโครงการช่วงหลัง ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด มีการใช้เงินทองอยู่ไม่น้อยส่วนจะถูกต้องแค่ไหนเป็นเรื่องน่าคิด  

แว่วๆว่ามีการเก็บข้อมูลการใช้เงินที่ผิดแปลกแหวกแนวอยู่เหมือนกัน บอกได้คำเดียวงานนี้มหากาฬสวนปาล์มอินโดฯ