40 ปีสัมพันธ์ไทย-จีน : เกาะไหหลำบนเส้นทางสายไหม-ทางทะเล

40 ปีสัมพันธ์ไทย-จีน : เกาะไหหลำบนเส้นทางสายไหม-ทางทะเล

ข้อเสนอ One Belt and One RoadInitiative เป็นชื่อทางการจีนใช้ หมายถึง เส้นทางสายไหม-ทางทะเลนี่เอง

จะเปิดศักราชใหม่ทางการค้าและทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงในภูมิภาคและในโลกอย่างยิ่ง อาจจะมากยิ่งกว่าเส้นทางสายไหม-ทางบกที่เคยมีเส้นเดียวในอดีตเสียอีก

ไหโข่ว (Haikou) เมืองหลวงของเกาะไหหลำ ก็จะเปลี่ยนสถานภาพไปมากทีเดียว เพราะจะเป็นเมืองท่าหนึ่ง บนเส้นทางการค้าการเชื่อมโยงทางทะเลแห่งความฝันอันยิ่งใหญ่ของจีนสายนี้

จากที่แต่ไหนแต่ไร ไหโข่วไม่เคยสามารถเทียบเคียงอะไรได้เลย กับเมืองใหญ่เมืองท่าใดบนฝั่งตะวันออกของผืนแผ่นดินใหญ่ หรือเกาะไต้หวันเกาะฮ่องกง ไม่ว่าจะเรื่องการค้า การพาณิชย์ การส่งเข้าส่งออกและความทันสมัยอื่นๆ ยังไม่ทันไร ขณะนี้ไหโข่วก็ได้รับการขัดสีฉวีวรรณให้พ้นสภาพเมืองในเกาะบ้านนอก มีตึกระฟ้าเต็มเมือง สนามบินทันสมัย ถนนหนทางเข้าตัวเมืองได้มาตรฐาน ความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยบ้านเมืองสองข้างทางน่าประทับใจ นับว่ากินขาด เส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิของเราเข้าสู่ตัวเมืองกรุงเทพฯ เป็นสัญญาณว่าจีนเอาแน่ตามแผนพัฒนาเปลี่ยนโฉมเกาะไหหลำ จากเกาะไกลปืนเที่ยงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีความพร้อมระดับ 5 ดาว ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากตะวันตกแบบเดียวกับเกาะบาหลี เกาะภูเก็ต เลยทีเดียว

เมื่อปี 2532 ไหโข่วจัดประชุมครั้งใหญ่ของชาวไหหลำโพ้นทะเล พ่อกับแม่ได้กลับไปเกาะไหหลำอีกครั้ง เมืองไหโข่วพัฒนาขึ้น ดูจากรูปถ่ายก็รู้ว่า เมืองไหโข่วเปลี่ยนไปไม่น้อย จากที่พ่อกับแม่กลับไปครั้งแรก ประมาณปี 2520 กว่าๆ ครั้งนั้นจำได้ แม่เล่าขนาดว่าโรลพลาสติกม้วนผม ญาติพี่น้องยังขอไว้ใช้ อีกเพียง 10 กว่าปีให้หลังเอง ทั้งถนนหนทาง โรงแรมและการคมนาคมดีขึ้นผิดหูผิดตา ญาติพี่น้องในหมู่บ้านไม่ได้ขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้เหมือนแต่ก่อน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองเท้า ฯลฯ ทุกอย่างมีพร้อม อุดมกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี เกาะไหหลำที่ผู้เขียนเพิ่งได้เห็นมาเมื่อเดือนมิถุนายน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จะเปรียบเทียบอย่างไร จากเดิมที่เคยได้ยินและได้เห็นจากภาพสมัยก่อน แค่ตลาด-องเขี่ยน ที่เป็นตลาดระดับอำเภอใกล้หมู่บ้านเหลี่ยมทิของพ่อ ในจังหวัดบ่วนเซียว ผู้เขียนก็รู้สึกว่าตลาด-องเขี่ยน ช่างคึกคักกว้างขวางกว่าตลาดอำเภอเมืองพะเยา ที่เป็นตลาดระดับจังหวัดเสียอีก เล่นเอารู้สึกแปลกๆ งงๆ กับความเป็นจริงที่ว่าเมืองพะเยาในวันนี้ดูเล็กและคึกคักน้อยกว่าตลาด-องเขี่ยน ขัดกับความรู้สึกที่ตลอดเวลาผู้เขียนเติบโตมาอย่างที่มีความนึกคิดว่า เมืองพะเยาคึกคักใหญ่กว่าแหล่งแห่งที่พ่อตัดสินใจจากมาอย่างแน่นอน

แต่ที่ไหนได้ ตกกลางคืน เพียงทุ่มหนึ่ง มองจากหน้าต่างโรงแรมที่พักบนถนนใกล้ตลาด-องเขี่ยน ถนนหนทางเงียบลงถนัดใจ ร้านรวงปิดไปตั้งแต่สี่ห้าโมง มีแสงไฟเปิดอยู่หน้าร้านบางแห่ง รถจอดอยู่บนถนนประปราย ผู้เขียนถึงเริ่มรู้สึกว่า ที่นี่ไม่ต่างจากตลาดเมืองพะเยานัก ที่พอค่ำก็เงียบสงบลง ตามแบบฉบับเมืองในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะใหญ่คึกคักตอนกลางวันแค่ไหน ย่อมไม่มีชีวิตกลางคืนเหมือนเมืองใหญ่เมืองหลวงที่ไฟฟ้าสว่างไสวไปจนถึงหลังเที่ยงคืน ขนาดใกล้โรงแรมเล็กที่เราพักอยู่ มีงิ้วไหหลำเล่นสามคืน ฉลองเจ้าของโรงแรมใหญ่ได้ลูกชายสมใจนึก สามทุ่มก็เล่นจบ ผู้เขียนออกไปชมกับเขาด้วย คนในตลาดและหมู่บ้านรอบๆ มารอชมตั้งแต่หัวค่ำ มากันเป็นครอบครัวสองสามชั่วคน เด็กเล็กมากมายอออยู่หน้าเวที ซึ่งตั้งกลางแจ้ง ผู้ชมมีเก้าอี้นั่งบ้างแต่ยืนมากกว่า บรรยากาศเหมือนกับตอนวัยเด็กของผู้เขียนปี 2500 กว่าๆ เวลามีงิ้วไหหลำมาเล่นที่เวียงแก้ว ใกล้ๆ ตลาดเมืองพะเยา อย่างไรอย่างนั้น

เอาเข้าจริงๆ จึงได้เห็นว่า ตลาด-องเขี่ยน ก็แค่ขนาดใหญ่กว่าตลาดเมืองพะเยา แต่สิ่งแวดล้อมทางสังคมอื่นๆ องเขี่ยนยังเป็น “เมือง“ (urban) ไม่มาก ค่อนไปทางเป็นชนบท (rural) มากกว่าเมืองพะเยาเสียอีก ดูจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวสองสามชั่วคน ความเป็นกันเองของผู้คนในเมืองในตลาด และกับชนบท (social mixing) ไม่ห่างเหินกันแบบปฏิสัมพันธ์คนในเมือง (social distance) สถาบันการศึกษาที่มีไม่กี่แห่ง การมหรสพ ร้านหนังสือ ร้านของเล่นที่มีจำกัด ฯลฯ

หากเปรียบเทียบตลาด-องเขี่ยน และคนที่นั่นกับเมืองไหโข่ว ซึ่งอยู่ใกล้กันขนาด 70-80 กิโลเมตร ไหโข่วเป็นเมือง (urban) เต็มขั้น องเขี่ยนเป็นชนบท (rural) สุดๆ

ไหโข่วเป็นเมืองระดับเมกาด้วยซ้ำไป เมื่อเทียบกับเมืองระดับจังหวัดใกล้ๆ และทุกเมืองบนเกาะไหหลำกระมัง

เอาเป็นว่า นับจากเมืองไหโข่วทางฝั่งตะวันออก และเมืองซันย่าทางทิศใต้ ที่เป็นด่านหน้าของความทันสมัย ลึกเข้าไปเรื่อยๆ ผ่านตอนกลางของเกาะไหหลำไปทางตะวันตก ความเป็นสังคมเกษตร-ชนบทในระยะเปลี่ยนผ่านมาเป็นสังคมเมืองยังเห็นชัดเจนมาก มองจากมุมนี้ ไหโข่วก็คล้ายกับเมืองการค้าเมืองท่าใหญ่ๆ ทางฝั่งตะวันออกบนแผ่นดินใหญ่ ที่เมื่อลึกเข้าไปทางด้านหลังมากขึ้นในแผ่นดินทางตะวันตก ความเป็นสังคมชนบทก็ยิ่งมากขึ้น หมายถึงความแตกต่างทางเศรษฐกิจรายได้ด้วย

เส้นทางสายไหม-ทางทะเลในอนาคต จะมีส่วนช่วยลดหรือเพิ่มช่องว่างความแตกต่างระหว่างความเป็นชนบท/เมือง (rural/urban) ให้กับเกาะไหหลำและเมืองจีนอย่างไร ใครเล่าจะหาญตอบ จนถึงขณะนี้หลายประเทศบนแผนที่เส้นทางสายไหม-ทางทะเล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ยังไม่แสดงทีท่าเด่นชัดว่า เป็นปลื้มหรือไม่กับเส้นทางนี้ เพราะอาเซียนมีเครือข่ายเชื่อมโยงที่ไม่น้อยหน้า มีเพียงประเทศในเอเซียใต้ เช่น ศรีลังกาและปากีสถานเท่านั้น ที่ร่าเริงขานตอบความฝันของจีน