อย่างไรคือ ‘ประชานิยม’?

อย่างไรคือ ‘ประชานิยม’?

การฉีดเงินเข้าสู่ประชาชนชนบท เพื่อกระตุ้นอำนาจการซื้อ และแก้ปัญหาเศรษฐกิจเซื่องซึมระยะสั้น

ถือเป็น “ประชานิยม” หรือไม่?

“ประชานิยม” นิยามอย่างไร?

ทำไม ประชานิยมกลายเป็นคำที่มีความหมายทางลบในการเมืองไทย?

คำตอบมีง่ายนิดเดียว นั่นคือหากการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อพุ่งเป้าไปที่ประชาชน ที่ต้องการความช่วยเหลือโดยที่ไม่ได้หวังจะได้ “คะแนนนิยม” เพื่อการเลือกตั้งในทุกระดับก็ไม่เข้าข่าย “ประชานิยม” ในความหมายนั้น

เพราะคำนี้มาจาก populist policy ในหลายประเทศที่นักการเมืองเอางบประมาณแผ่นดินและภาษีประชาชน ไปแจกประชาชนเพื่อสร้างความนิยมชมชอบ ให้เลือกตนเองหรือพรรคของตน กลับมามีอำนาจทางการเมืองต่อไปยาวนาน

“ประชานิยม” ในความหมายนี้ยังหมายถึงการหว่านเงินไปตามโครงการต่าง ๆ โดยไม่มีกลไกหรือมาตรการการวัดผลว่ามีประโยชน์อย่างแท้จริง ต่อประชาชนหรือเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่อย่างไร

“ประชานิยม” ในความหมายนี้ยังมีความหมายด้วยว่า การแจกจ่ายเงินทองของนักการเมืองผู้มีอำนาจนั้น มีผลสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ “พึ่งพา” ให้กับประชาชนบางส่วนที่เกิดความเชื่อว่ารัฐบาลจะเข้ามาอุ้มชูในทุกเรื่อง และชุมชนเองไม่ต้องสร้างความรู้หรือภูมิต้านทานของตนแต่อย่างไร ทุกอย่างหวังพึ่ง “บิ๊กบอส” ที่นั่งอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลให้มาแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างความเหลวแหลกของ “ประชานิยม” ที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง ก็มีให้เห็นมาแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็นนโยบาย “จำนำข้าว” หรือ “รถคันแรก” หรือ “บ้านเอื้ออาทร” หรือแม้การแจกแทบเล็ทให้เด็กประถม 1 เป็นต้น

ดังนั้น หากรัฐบาลจะกระตุ้นการใช้จ่ายในชนบทก็จะต้องตั้งมาตรฐานของ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย” ใหม่ ด้วยการตั้งกติกาที่ชัดเจนว่า

1. ไม่มีวาระทางการเมืองเพื่อสร้างความนิยมให้กับผู้มีอำนาจ

2. ต้องมีวินัยการคลัง คือไม่ใช่การตั้งโต๊ะแจกเงิน

3. ต้องมีกลไกและมาตรการคัดกรองผู้ที่จะได้รับเงิน

4. ต้องสร้างอำนาจซื้อให้กับชาวบ้านอย่างแท้จริง

5. ต้องส่งเสริมความแข็งแกร่งให้เกิดกับชุมชนท้องถิ่น

6. ต้องไม่นำไปสู่ “วัฒนธรรมพึ่งพา”

ทั้งหมดนี้ย่อมแปลว่ารัฐบาลมีหน้าที่จะต้องดูแลความผาสุกของประชาชน ด้วยการใช้ภาษีของประชาชนในการเสริมสร้างอำนาจต่อรองของประชาชน

การทำหน้าที่ของรัฐบาลที่สำคัญคือสร้างความเป็นธรรมในสังคม อันหมายถึงการที่จะต้องไม่ให้เกิดช่องว่าง ระหว่างคนมีกับคนไม่มีมากจนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง อย่างที่เราเห็นมาแล้วทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ

การกำหนดให้มีความเป็นธรรมในสังคมย่อมหมายความว่าคนรวยจะต้องช่วยคนจน และเป็นหน้าที่ของผู้อาสามาบริหารบ้านเมือง จะต้องมีมาตรการให้คนรวยเสียสละเพื่อให้คนจนลืมตาอ้าปากได้ และสามารถอยู่ร่วมในสังคมโดยไม่เกิดการเผชิญหน้าที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ

การสร้าง ความนิยมชมชอบของนักการเมืองในการบริหารประเทศเป็นเรื่องถูกต้องและสมควรจะทำ แต่ต้องไม่ใช่ด้วยวิธีมักง่ายและ กินตามน้ำอย่างที่เราเห็นในประเทศไทย

การสร้างความนิยมหรือ popularity ไม่ใช่ความผิด แต่การสร้างความชื่นชอบทางการเมือง ด้วยการใช้เงินภาษีผิดลู่ผิดทาง และส่อไปในทางสร้างประโยชน์ให้กับตน มากกว่าเพื่อความถูกต้องของสังคมเรียกว่า populism

ข้อแรกคือ ความนิยมที่ชอบธรรม

อย่างหลังคือ ความชื่นชอบที่มีวาระซ่อนเร้น