การประกอบสร้าง “ความเป็นเด็ก”

การประกอบสร้าง “ความเป็นเด็ก”

น่าสนใจอย่างยิ่งครับ ในช่วงที่ผ่านมามีนักวิชาการสนใจในเรื่องของ “ความเป็นเด็ก” ในหลายมิติและหลายมหาวิทยาลัย

มีทั้งนักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังค้นคว้าวิทยานิพนธ์ในเรื่องทำนองการประกอบสร้าง/ธรรมชาติของ “ความเป็นเด็ก” นักศึกษาหลักสูตรญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาเรื่องเพลงเด็กกับการประกอบสร้างความเป็นเด็ก ของสังคมญี่ปุ่นเปรียบเทียบไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เขียนบทความที่เน้นชีวิตเด็กและเยาวชน ภายใต้กรงศีลธรรมเชิงเผด็จการ (2500-2520) ก่อนหน้านี้เท่าที่จำได้ มีการศึกษาเด็กมีไม่มากนักที่ดี และผมจำได้มีชิ้นเดียว ได้แก่ งานศึกษาของอาจารย์สรณี วงศ์เบี้ยสัจจ์ เท่านั้น

ที่เอ่ยมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ผมเชื่อว่าคงมีคนที่กำลังสนใจศึกษาเรื่อง “เด็ก” ในมุมมองใหม่ๆ อีกจำนวนไม่น้อยทีเดียว

คำถามก็คือ ทำไมในช่วงหลังนี้ จึงมีความสนใจศึกษาเรื่อง “ความเป็นเด็ก” มากขึ้น และทั้งหมดเป็นการศึกษาที่หลุดออกจากขนบความเข้าใจความเป็นเด็กแบบเดิม ที่แม้ว่าจะเชื่อว่าเด็กจะซึมซับสังคมรอบข้าง แต่ก็ไม่ได้คิดไปถึงว่า ในอีกด้านหนึ่งของการซึมซับนั้น เป็นการสร้างและฝังความเป็นเด็กซึ่งสัมพันธ์อยู่กับการคิดถึงระบบของอำนาจการเมืองของสังคมได้ผลิต “ความเป็นเด็ก” และฝัง “ความเป็นเด็ก” ไว้ในส่วนลึกของจิตใจ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดรูปลักษณะการปฏิบัติการทางสังคม ในปฏิสัมพันธ์กับสภาวะทางสังคมลักษณะหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง แม้ว่างานบางชิ้นในกลุ่มนี้จะเสนอข้อวิวาทะว่า ระหว่างการประกอบการสร้างความเป็นเด็กกับธรรมชาติของ “เด็ก” อะไรจะมีพลังมากกว่ากัน ซึ่งก็จะทำให้เกิดการโต้เถียงหาความรู้ต่อไป

ผมคิดว่าความสนใจศึกษา “ความเป็นเด็ก” ที่ทวีมากขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน

ประการแรก ได้แก่ความอึดอัดต่อปรากฏการณ์การกระทำของเด็กจำนวนมาก ที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยกรอบการคิดแบบเดิม ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ การอธิบายเด็ก “แว้น” และ “สก๊อย” เท่าที่ผ่านมาก็จะซ้ำๆ กันได้เพียงว่า พ่อแม่ไม่สั่งสอน (ไม่มีเวลา) คบเพื่อนเลว รับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งผมถือว่าเป็นกรอบการอธิบายไร้สาระที่สุด (เวลานักศึกษาตอบผมด้วยกรอบโง่ๆ แบบนี้ ผมจะแซวว่า ตอบแบบนี้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีแน่ๆ เลย..ฮา)

ประการที่สอง ความอึดอัดทางการเมืองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคมและรุนแรง ได้ทำให้เกิดความสงสัย/สับสน/เจ็บปวด ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม (ที่แปรปรวน/ไม่ลงตัว) จึงทำให้เกิดความปรารถนาในสองด้าน ด้านหนึ่ง ต้องการที่จะเข้าใจสังคมที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง เป็นความต้องการเข้าใจ “เด็ก” ในฐานะอนาคตของชาติว่า เขาเป็นมาอย่างไร และหากต้องการให้เขาเป็นอย่างที่ต้องการ จะต้องทำอย่างไร

จะเห็นได้ชัดเจนว่า ทางด้านรัฐ (ทหาร) เอง ก็ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะยัดเยียดค่านิยมที่ตนเองปรารถนาให้แก่เด็กนักเรียน รวมไปถึงส่งนายทหารผู้คิดนโยบายคืนผืนป่าจากชาวบ้าน มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษา (สงสัยว่าจะคืนการศึกษาให้แก่ระบบอำนาจนิยมแน่ๆ ฮาๆๆๆๆ)

ในขณะเดียวกัน สังคมที่แตกแยกย่อยก็ทำให้เกิดความปรารถนา ทั้งที่จะให้เด็กมี “วินัย” และให้เด็กมี “เสรีภาพ” การเคลื่อนไหวทางการเมืองของสังคมที่ผ่านมา จึงมีทั้งกระแสเรียกร้องให้ “เด็ก” เข้ามามีบทบาททางการเมือง (แต่ต้องเป็นบทบาททางฝ่ายตัวเองเท่านั้น) และเรียกร้องให้อยู่ใน “วินัยเด็ก” คือ อย่าไปยุ่งกับการเมืองมีหน้าที่เรียนก็เรียนไป

ระบบการเมืองที่ขัดแย้งและไม่ลงตัวนี้ จึงทำให้เกิดการจัดการ “เด็ก” ที่ซ้อนทับกันสองมิติ มิติทางปากก็เน้นว่าจะให้เด็ก “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น” แต่ขณะเดียวกัน มิติปฏิบัติการจริงก็คือ เด็กจงอย่าคิด ให้ทำตามที่ผู้ใหญ่บอกเท่านั้น

ประการที่สาม ความสับสนในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างไพศาลและลึกซึ้ง ทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ความสัมพันธ์ทางสังคมที่แปรเปลี่ยน ทำให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมไทย ต้องการที่จะเข้าใจสถานะแบบไทยให้มากขึ้น เพราะกรอบการอ้างอิงความเป็น “เด็ก” ในสังคมไทยแบบเดิมนั้น เป็นกรอบการอธิบายสถานะของคนที่เลื่อนไหลไปกับความสัมพันธ์ทางสังคม คนแก่อายุขนาดผม หากเป็นข้าราชการระดับกลาง ก็กลายเป็น “เด็ก” ไปในทันทีที่พบกับข้าราชการระดับสูง เป็นต้น

แต่วันนี้ กรอบการอ้างอิงความเป็นเด็ก/ผู้ใหญ่ แบบเดิมเริ่มหมดพลังลงไป เพราะอำนาจการอ้างอิงสถานะในปัจจุบันมีหลายลักษณะ เช่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีอายุน้อยกว่าผู้ใหญ่บ้านกลับกลายเป็น “ผู้ใหญ่” แทนในความสัมพันธ์ทางสังคมในตำบล

ความสับสนในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมที่แปรเปลี่ยน จึงเกิดความปรารถนาที่จะเข้าใจส่วนที่เป็นพื้นฐานที่สุดของสังคม ได้แก่กระบวนการประกอบสร้าง “ความเป็นเด็ก” มาได้อย่างไร ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ความเข้าใจ “ความเป็นเด็ก” ที่เลื่อนไหลในสังคมไทยได้ชัดเจนมากขึ้น

สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป มากเกินกว่าจะยื้อยุดให้คงที่ได้ต่อไป การศึกษาทุกๆ ด้าน จำเป็นที่จะต้องขยายพรมแดน เพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ให้แจ่มชัด เพื่อที่เราทั้งหมดจะได้ร่วมกันสร้างสังคมไทยที่งดงาม และต้องขอบอกกล่าวไว้ว่า ความปรารถนาที่จะรักษาสังคมแบบเดิมเอาไว้ โดยไม่ยอมเข้าใจความเปลี่ยนแปลง กลับจะทำให้สังคมไทยตกอยู่ในบ่วงความยุ่งยากต่อไปอย่างไม่รู้จบ

การศึกษาในเรื่องการประกอบสร้างความเป็นเด็กทั้งหมดที่กำลังทำกันอยู่นี้ น่าจะเป็นก้อนหินก้อนแรกๆ ที่จะวางพื้นฐานให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมที่มีความรู้ มีวิจารณญาณกว้างขวางมากขึ้น