รัฐธรรมนูญผ่านไม่ผ่าน ขอให้พิจารณาผลประโยชน์แห่งชาติ

รัฐธรรมนูญผ่านไม่ผ่าน ขอให้พิจารณาผลประโยชน์แห่งชาติ

ไม่ใช่หมุนกลับสามร้อยหกสิบองศา แต่เป็นการพิจารณาด้วยตรรกะและเหตุผลรอบด้าน ด้วยความรอบคอบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ถ้าเป็นเรื่องเนื้อหาถือได้ว่ารัฐธรรมนูญที่มีการยกร่างสำเร็จฉบับนี้ เป็นฉบับที่ดีฉบับหนึ่ง แต่ในด้านเทคนิคประสบปัญหาความไม่แน่นอน ในกรณีการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับ ในช่วงการทำประชามติที่มีค่าใช้จ่ายรออยู่กว่าสามพันล้านบาทรออยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่ “ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในรูปแบบที่เคยเป็นมา”

ซึ่งแนวโน้มจากการประเมินศักยภาพของแต่ละฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งก็พบว่า หากขับเคลื่อนกันเต็มที่ทั้งสองฝ่ายความขัดแย้งน่าจะสูง และโอกาสในการผ่านประชามติของประชาชนก็น่าจะยาก เพราะสองพรรคใหญ่มีสมาชิกแฟนพันธุ์แท้อยู่ครึ่งค่อนประเทศ บวกกับทิศทางกลุ่มกิจกรรมทางการเมือง ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของทั้งสองพรรคคือกลุ่ม นปช.ประกาศชัดว่าจะไม่เห็นชอบ และกลุ่ม กปปส.ที่เห็นต่างต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งส่วนตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในฐานะผู้เสนอญัตติดังกล่าวต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณา จึงมองเห็นแนวโน้มการผ่านประชามติยากยิ่งกว่าในครั้งแรกที่เคยคาดการณ์ไว้ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และประหยัดงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน ในฐานะการทำหน้าที่เสมือนตัวแทนปวงชนในด้านหนึ่ง ขอใช้สิทธิพิจารณาเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด และเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง

ผมยอมรับว่าการพิจารณาเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นนี้ ผมได้รับฟังความเห็นและคำแนะนำจากหลายๆ ฝ่าย ที่เป็นทั้งผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ ที่จะช่วยให้การพิจารณาลงมติของผมในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย และจะมีการบันทึกหรือจารึกไว้ในเอกสารการประชุมของรัฐสภา จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง และมีความรอบคอบถี่ถ้วน แม้ว่าการลงมติดูจะเป็นเรื่องง่าย เพราะมีทางเลือกสามทาง คือ ลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรือ งดออกเสียง ประเด็นการงดออกเสียง ไม่น่าจะเป็นวิธีที่ผมเลือกในคราวนี้ เพราะอาจเป็นเรื่องที่ต้องถูกตั้งคำถามว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญและเป็นครูบาอาจารย์สอนด้านรัฐศาสตร์ แต่เมื่อถึงคราวลงมติแสดงความเห็นกับออกเสียงเป็น “ไม่มีความเห็นหรืองดออกเสียง” ได้อย่างไร

ส่วนจะ “รับ” หรือ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” นั้น มีความชัดเจนอยู่แล้วทั้งในข้อเขียนข้างต้น และเจตนารมณ์ส่วนตัวที่ถือเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง จะต้องนำเอาทั้งเหตุผลที่มีการแถลงตอบโต้กันของแต่ละฝ่าย ที่มีเนื้อหาสมบูรณ์มากลั่นกรองแยกแยะความถูกผิดในทัศนะของผม รวมทั้งนำเอาองค์ความรู้ที่สั่งสมมา เลือกสิ่งที่ถูกต้องและดีที่สุดสำหรับประเทศไทยเป็นสำคัญ

เชื่อว่าก่อนจะถึงวันลงมติในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายนนี้ จะมีแรงกระเพื่อมต่อเนื่องไปกระทั่งทราบผลการลงมติเป็นที่แน่ชัด สำหรับคะแนนเสียงยังคงมองว่า “ก้ำกึ่ง” และน่าจะหนีไม่ห่างกันมากนัก แต่ไม่น่าจะท่วมท้นถึง 200 เสียง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ทั้งสนับสนุนและคัดค้านอย่างที่มีการพยากรณ์กันไว้ แต่ประการสำคัญอยู่ที่การแสดงตัวตนของแต่ละบุคคล ที่จะต้องถูกขานชื่อเป็นรายบุคคล และต้องประกาศต่อสาธารณะว่า “ตนนั้นประสงค์จะแสดงเจตนารมณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ในทิศทางใด ทุกเสียงมีความหมายต่อก้าวต่อไปของประเทศนี้

ทั้งนี้ไ ม่ว่าผมจะ “รับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ผมมั่นใจว่า ผมสามารถอธิบายให้สังคมรับรู้ได้อย่างกระจ่างชัด ในสาระสำคัญของการแสดงด้วยผลการลงมติให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และเวลานี้สามารถเห็นได้เลาๆ ถึงอนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับร่างเสร็จสมบูรณ์ว่าจะไปในทิศทางใด แต่โดยมารยาทไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างตรงไปตรงมาในขณะนี้ ซึ่งตัวเลขของฝ่ายที่มีคะแนนเหนืออีกฝ่าย น่าจะอยู่ที่ร้อยสามสิบกว่าเสียง สาเหตุที่ทราบเพราะความเป็นนักวิชาการทำให้มีสมาชิกหลายท่าน และมาจากหลายฝักฝ่าย ติดต่อสอบถามความเห็นมาเป็นระยะๆ จึงได้ถือโอกาสทำวิจัยฉบับพิเศษ ด้วยการซักถามหรือถามไถ่จุดยืนของแต่ละท่านประมวลเข้ามา

ในเวลานี้ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะได้รับการยอมรับหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าประเทศชาติจะต้องอยู่ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยและไม่มีการแทรกแซงใดๆ จากภายนอก ผมขอย้ำจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ว่าผลการลงมติจะออกมาในรูปแบบใด และไม่ว่าตนเองจะลงมติในทิศทางใด ขอได้โปรดเข้าใจว่า ได้ยึดโยงกับการเมืองภาคประชาชน และความเห็นอย่างมีอิสระของนักวิชาการ ทั้งใน สปช.เอง และนักวิชาการภายนอกที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์

สำหรับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ขอให้ขึ้นอยู่กับความเห็นเหมาะสมหรือสมควรของผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งหากมีโอกาสได้เข้าไปร่วมทำหน้าที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ต่อไป จะนำเอาสาระสำคัญของการปฏิรูปทั้ง18 ด้าน สองร้อยกว่าวาระการปฏิรูปไปสานต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด