ทูตสหรัฐฯคนใหม่ (1)

ทูตสหรัฐฯคนใหม่ (1)

ภายหลังจากที่นาง คริสตี้ เคนนีย์ อดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย

พ้นจากตำแหน่งไปตอนช่วงเทศกาลลอยกระทงของเดือนพฤศจิกายนปี 2557 โดยยังไม่ปรากฏเค้าลางว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะแต่งตั้งใครเข้ามารับตำแหน่งแทนที่ ก็เกิดให้เกิดกระแสความคิดเห็นต่างๆ นานา

การดีเลย์ออกไปเดือนแล้วเดือนเล่า จึงถูกตีความและพยายามที่จะเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยตรง จนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากตกอยู่ในภาวะคลุมเครือมาตลอด 5-6 เดือน ในที่สุด ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า จึงได้ประกาศชื่อ GlynTownsendDavies” ให้เป็น (ว่าที่) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯคนใหม่

มีเหตุการณ์หลายๆ กรณีที่น่าสนใจ และเหมาะสมนำมาเปรียบเทียบกับกรณีของประเทศไทย เพื่อพิจารณาว่า ความล่าช้าในการแต่งตั้งทูตอเมริกันคนใหม่นั้น สามารถตีความให้เป็นเรื่องน่าวิตกหรือผิดปกติได้มากน้อยแค่ไหน

กรณีแรกคือ กรณีของโรมาเนีย ถึงแม้ในอดีตจะเคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในม่านเหล็กของอดีตสหภาพโซเวียต แต่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โรมาเนียเลือกใกล้ชิดตะวันตกมากยิ่งกว่ารัสเซีย จนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียว นับตั้งแต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรทางทหารอย่างนาโต้ในปี 2547 และอีกสามปีต่อมา ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู)

ประการสำคัญ อดีตทูตอเมริกันคนล่าสุดที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อปลายปี 2555 เคยกล่าวไว้ว่า โรมาเนียคือประเทศที่มีนโยบาย “โปรอเมริกัน” หรือสนับสนุนสหรัฐฯมากที่สุดในยุโรป ในขณะเดียวกัน การมีพรมแดนส่วนหนึ่งติดกับยูเครน ยิ่งทำให้โรมาเนียมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทหารมากยิ่งขึ้น สำหรับสหรัฐฯและนาโต้ในการต่อต้านอิทธิพล และกำลังทหารของรัสเซียต่อปัญหายูเครน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดปัญหาในยูเครน แต่โรมาเนียกลับว่างเว้นไม่มีทูตสหรัฐฯมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 และต้องรอยาวนานถึง 27 เดือน กว่าที่ประธานาธิบดีโอบาม่าจะประกาศชื่อว่าที่ทูตคนใหม่ เมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ ซึ่งเพิ่งได้รับการอนุมัติผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากวุฒิสภา (พร้อมๆ กับเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่ประจำประเทศไทย) ให้ดำรงตำแหน่งทูตอเมริกันคนใหม่ในโอกาสครบรอบ 135 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ

เท่ากับว่าในทางปฏิบัติแล้ว สหรัฐฯไม่มีทูตประจำโรมาเนียรวมเบ็ดเสร็จเป็นระยะเวลานานถึง 31 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่นานมากๆ สำหรับประเทศที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯ เช่นนี้

กรณีของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ มีความหมายอีกด้านที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ในยุโรปที่อยู่ทางตะวันตกของเกาะอังกฤษ แต่ในทางประวัติศาสตร์แล้ว กล่าวได้ว่าความเป็นไอริชมีความผูกพันกับสหรัฐฯ มากกว่าเชื้อสายใดๆ ในช่วงเทศกาลฉลองวันเซนต์แพทริก ซึ่งจัดขึ้นในกลางเดือนมีนาคมทุกๆ ปี ถือเป็นเทศกาลที่เก่าแก่ที่สุดและมีมนต์เสน่ห์มากที่สุดในสหรัฐฯ ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งทำเนียบขาว จะตกแต่งและอบอวลไปด้วยสีเขียวซึ่งเป็นสีประจำชาติของไอร์แลนด์ จนพูดกันว่า สีเขียวมีอิทธิพลเหนือยิ่งกว่าสีน้ำเงิน (พรรคเดโมแครต) หรือสีแดง (พรรคริพับริกัน) เสียอีก จึงไม่เป็นที่สงสัยว่า ทำไมคนเชื้อสายไอริชจึงมีอิทธิพลในสังคมอเมริกันเกือบจะทุกวงการ โดยเฉพาะในทำเนียบขาวและในวุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจในการอนุมัติตำแหน่งเอกอัครราชทูตของประเทศ

 หากสืบรากเหง้าเหล่ากอย้อนหลังแล้ว พบว่า ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อย่างน้อย 22 คน ล้วนแต่มีเชื้อสายไอริชไม่มากก็น้อย นับตั้งแต่ จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ รวมถึงผู้นำคนดังๆ อย่างจอห์น เอฟ เคนเนดี้, ริชาร์ด นิกสัน, จิมมี่ คาร์เตอร์, โรนัลด์ เรแกน และ บิล คลินตัน (รวมทั้งฮิลลารี คลินตัน ที่มีโอกาสจะเป็นผู้นำประเทศคนต่อไป) แม้กระทั่งผู้นำคนปัจจุบันอย่าง บารัค โอบามา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกประวัติศาสตร์และ โจ ไบเดน รองประธานาธิบดีก็มีเชื้อไอริชอยู่ในสายเลือดด้วย

เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไอร์แลนด์จึงมีความพิเศษมากๆ เป็นความสัมพันธ์ที่ผูกพันเหนียวแน่นกันมานานเสมือนเป็น “สองประเทศ-หนึ่งครอบครัว” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกือบทุกคน นับตั้งยุคจอห์น เอฟ เคนเนดี้ จะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องไปเยือนไอร์แลนด์ ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านเกิดของบรรพบุรุษ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำไอร์แลนด์ มีความพิเศษที่แตกต่างจากทูตสหรัฐฯประจำอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย และอิสราเอล การที่อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน สนใจรับตำแหน่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพิเศษนี้ได้เป็นอย่างดี

แต่ไม่น่าเชื่อว่า สถานทูตสหรัฐฯประจำกรุงดับลิน จะว่างเว้นไม่มีทูตสหรัฐฯ มาประจำการนานกว่า 21 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 จนกระทั่งทูตคนใหม่ได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศนับตั้งแต่ปี 2468

อย่างน้อยที่สุด การแต่งตั้งทูตคนใหม่มาประจำการทันเวลาฉลองโอกาสครบรอบ 90 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ก็ช่วย “ซ่อมแซม” ความรู้สึกที่ไม่ประทับใจก่อนหน้านี้ได้พอสมควร

---------------------

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

[email protected]