ว่าด้วย “กรอบความคิด” Mindset

ว่าด้วย “กรอบความคิด” Mindset

“ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540

การฝึกและบริหารความคิด เป็นหัวใจในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง

ครูบาอาจารย์ในพระพุทธศาสนา พร่ำสอนเราว่า “ให้คิดสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร แล้วพูดดี ทำดี ตามที่คิดนั้น”

ในอีกมุมของโลก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็ฟันธงว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

อย่างไรก็ดี ความคิดและจินตนาการของคนทั่วไป มักไม่ค่อยมีอิสระ เพราะเขาถูกกะเกณฑ์ให้อยู่ใน “กรอบ” ที่กำหนดขอบว่า กรุณาอย่าออกนอกเขตครับ

กรอบ คือ สิ่งที่ตีขอบ แบ่งส่วนว่าอะไรอยู่ “ข้างใน” และส่วนใดอยู่ “ข้างนอก”

นั่งในห้อง มองโลกผ่านหน้าต่าง จะเห็นความเป็นไปภายนอก แต่เพียงส่วนที่ขอบตีกรอบไว้ให้เรามอง ฉันใด

กรอบความคิด ก็ทำให้ทั้งสายตา ทั้งจินตนาการของเรา อยู่ในขอบที่ครอบไว้ ฉันนั้น

ดิฉันและทีมงานที่ปรึกษา ที่ต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยใหญ่ในองค์กรต่างๆ ตระหนักดีว่า

คนเราถ้าไม่คิดจะเปลี่ยน ยากหนักหนาที่จะทำให้เขาเปลี่ยน

เพราะการกระทำ เป็นผลตรงไปตรงมาของความคิด

Dr.Carol Dweck เป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในด้านการพัฒนาเชิงจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยยักษ์ใหญ่ Columbia และ Stanford และเป็นเจ้าของทฤษฎี 2 มุมมองของ Mindset คือ มุม Fixed จำกัด และ Growth เติบโต

Dr. Dweck ระบุว่า Mindset มีที่มาหลักจากความเชื่อ และค่านิยม ที่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสม

คนจำนวนไม่น้อยมี Fixed Mindset ซึ่งเชื่อว่า ความสามารถ ความเก่ง ความฉลาด เป็นสิ่งที่มีมาแต่อ้อนออก หาก “มี” ก็โชคดีไป “ไม่มี” ก็ต้องทำใจ ว่า “โชคร้ายจัง”

ขณะที่คนที่มี Growth Mindset  มีความเชื่อว่า ศักยภาพพัฒนาได้

หากเกิดมามีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและสมอง ย่อมดี แต่..พี่ๆเคยอ่านเรื่องเต่ากับกระต่ายไหมครับ

คนที่มี Fixed Mindset จึงมักท้อง่าย เพราะ หากทำไม่ได้ หากทำอะไรผิดพลาด มันเป็นเพราะฉันขาดความสามารถ ขาดสติปัญญา จบ.

คนที่มี Growth Mindset เมื่อล้ม มักลุกได้ง่ายกว่า เพราะเขาเชื่อว่า ทุกอย่างเป็นบทเรียน แม้ไม่สำเร็จ ก็ได้เรียนรู้ว่าอะไรไม่ใช่ ครั้งหน้าได้ไม่ทำ ไม่ผิดซ้ำไง

จึงพร้อมลองใหม่ ไม่จบ.

ตัวอย่างที่โด่งดัง เช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน สุดยอดนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ ทุ่มค้นคว้าและทดลองๆๆๆ เมื่อยังไม่ประสบความสำเร็จ เขามีมุมมองว่า

“ผมไม่ได้ล้มเหลว ผมเพิ่งค้นพบ 10000 วิธีที่ไม่ได้ผล”

Growth Mindset ทำให้ไม่ทิ้งความพยายามง่ายๆ

ผิดได้ ไม่แปลก ถือเป็นการแลกกับความรู้ และความเชี่ยวชาญ เพื่อสานต่อ มิใช่เพื่องอมืองอเท้า โทษฟ้าฝนและคนอื่น

คนที่มีมุมมองแบบ Fixed Mindset มุ่งมั่นที่เป้าหมาย ถ้าไม่ได้ คือ แพ้ !

หากไม่ถึงที่หมาย คือ ไม่สำเร็จ !

แต่คนที่มี Growth Mindset มีความสุขกับการทำงานกว่า เพราะเขาบอกว่า เอาน่า..แม้จะยังไปไม่ถึงจุดหมาย แต่การเดินทางก็เป็นสิ่งที่มีค่า ควรแก่การค้นหา การพัฒนา และเรียนรู้ พยายามต่อไป เส้นชัยรออยู่

แล้วคนเราสามารถเปลี่ยนมุมมองจาก Fixed เป็น Growth ได้ไหม

อาจารย์ตอบว่า ได้ซิค่ะ !

แค่รู้ว่า เราใช้วิธีหนึ่งในการมองโลก และมีอีกวิธีที่ดีกว่า ก็น่าจะทำให้เราเริ่มขยับ และปรับกรอบได้

สิ่งที่ต้องทำคือ หมั่นจับความคิดตนเอง เมื่อใดที่ท้อ ขอจำนนต่อชะตาและฟ้าฝน ให้คิดใหม่ให้ทันความคิดตนว่า

ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ที่เรียนรู้ได้ ให้ผิดเป็นครู สู้ๆต่อ

ตัวช่วย คือหาแรงบันดาลใจจากตัวอย่างรอบตัว อาทิ

หญิงที่ได้รับการยกย่องว่า “วิ่งเร็วที่สุดในโลก” คือ Wilma Rudolph ซึ่งได้เหรียญทอง 3 เหรียญจากการวิ่งในการแข่งขันโอลิมปิคที่กรุงโรม ในปี 1960

เธอไม่ได้เกิดมาพร้อม “โชค” และ “ความเก่ง” แต่ประการใด

เธอเป็นลูกคนที่ 20 ของแม่ที่มีลูกถึง 22 คน เป็นเด็กไม่แข็งแรง ป่วยตลอดวัยเยาว์ และเกือบเสียชีวิตเมื่ออายุ 4 ขวบ ด้วยโรคปอดบวมและโปลิโอ ที่ทำให้ขาซ้ายทำงานแทบไม่ได้ จนคุณหมอหมดหวัง บอกคุณแม่ว่าเด็กหญิง Wilma คงกลับมาเดินแบบคนธรรมดาไม่ได้

แต่หลังจากอึด อดทน ฝึกฝนเดินอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เธอก็สามารถเดินได้อีกครั้งตอนอายุ 12 ปี... และกลายเป็นราชินีเหรียญทองของการวิ่งในที่สุด!

สิ่งเหล่านี้มิใช่เรื่อง “มหัศจรรย์” ที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญ หรือเวทมนตร์ แต่เป็นเรื่องของ คน ความพยายาม และจิตใจที่มุ่งมั่น..ล้วนๆ

กลับมาที่คนทำงานและผู้บริหาร

คนที่ยังติดกับ Fixed Mindset ย่อมภูมิใจในความ “เก่ง” ความ “ฉลาด” เมื่อใดพลาดจะท้อง่าย หมดความมั่นใจ หรือไม่ก็โทษ โกรธหัวหน้าพี่น้าเพื่อนร่วมงาน พาลไปทั่ว

คนที่มองโลกแบบ Growth เน้นการเรียนรู้และพัฒนา เพราะเชื่อว่าความเก่งเติมได้ (และลดถดถอยได้)

เมื่อใดผิด เขาคิดหนัก เพื่อทบทวนว่า น่าจะปรับตรงใดในอนาคต

คนกลุ่มนี้จึงยินดีหากพี่หัวหน้าช่วยโค้ชและชี้แนะ ช่วย Feedback ว่าจะต้องปรับอะไร

ล้ม..ก็ลุกได้ เจ็บหน่อย เดี๋ยวก็หาย ไม่เคยสายที่จะเรียนรู้

มืออาชีพที่เติบโตก้าวหน้า

จึงมิยอมถูกกับดักกักไว้ ว่าเขา “เป็นอะไร” ในปัจจุบัน

แต่ “จะเป็นอะไรได้ในอนาคต!” ต่างหาก

“ความคิด” นั้น สำคัญประการฉะนี้