จีนในมุมมองของไทม์

จีนในมุมมองของไทม์

จีนเป็นข่าวพาดหัวต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ขณะที่เขียนบทความนี้เมื่อค่ำวันอังคาร

เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ได้แก่ จีนลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และดัชนีตลาดหุ้นนครเซี่ยงไฮ้ลดลงมาอีกร้อยละ 7.6 หลังจากเพิ่งลดเมื่อวันจันทร์ร้อยละ 8.5 ทันทีที่เปิดทำการ ตลาดหุ้นในยุโรปต่างพากันพุ่งขึ้นต้อนรับข่าว ผู้มีบทบาทในตลาดเหล่านั้นคงมองกันว่า การลดดอกเบี้ยของจีน จะมีผลดีเกินผลเสียอันเกิดจากปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นนครเซี่ยงไฮ้ ลดลงมากสองวันติดต่อกัน ทั้งที่การลดลงเมื่อวันจันทร์เพิ่งส่งผลให้ดัชนีของตลาดหุ้นใหญ่ๆ ติดลบกันอย่างทั่วถึง ส่วนตลาดหุ้นในนครนิวยอร์กเปิดเป็นบวกแต่ปิดติดลบ ท่ามกลางความผันผวนที่ทำให้โลกดูป่วนปั่นอย่างกว้างขวางนี้ นิตยสารไทม์ประจำวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งพิมพ์ออกมาล่วงหน้าหลายวัน เสนอบทวิเคราะห์จีนขนาดยาว หลังจากนั้น นิตยสารนำการอ่านเหตุการณ์รายวันมาเสนอเพิ่มเติมทางอินเทอร์เน็ต มุมมองของไทม์น่าพิจารณา จึงขอนำมาเล่าต่อ

ไทม์แยกมองจีนเป็นสองส่วน นั่นคือ ในระยะสั้นและในระยะยาว ในระยะสั้น นิตยสารสรุปว่า จีนจะไม่มีปัญหาร้ายแรงมากถึงขนาดควบคุมไม่ได้ ไทม์อ้าง 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ เงินสำรองกองมหึมา และกลไกที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ได้ทันทีหากมีความจำเป็น

ในขณะนี้จีนมีเงินสำรองในรูปของเงินตราต่างประเทศถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าของญี่ปุ่นเกิน 2 เท่า จีนสามารถใช้เงินสำรองกองมหึมานั้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้ หรือจะใช้ลงทุนในต่างประเทศก็ได้เช่นกัน จากมุมมองของการขยายตัว แม้อัตราจะลดลงมามาก แต่เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวในอัตราราวร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่าของประเทศทั่วโลก การขยายตัวในอัตรานั้น ได้ทำให้ขนาดเศรษฐกิจจีนแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว หากวัดตามความเท่าเทียมกันของกำลังซื้อ (purchasing power parity) ขนาดที่ใหญ่ และอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าของชาวโลก เศรษฐกิจจีนจะเป็นหัวจักรหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เดินไปข้างหน้าต่อไป นั่นหมายความว่าจีนจะมีอิทธิพลมากขึ้น

มหาอำนาจต่างๆ ทั้งที่เป็นมิตรและปฏิปักษ์ของสหรัฐ มองเห็นภาพดังกล่าว จึงต่างแสดงความเป็นมิตรต่อจีน ทั้งที่สหรัฐมีท่าทีไม่เห็นด้วย อังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรสนิทของสหรัฐมานานและเยอรมนี จึงเข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารเอเชียเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Asia Infrastructure Development Bank) ที่จีนเป็นหัวจักรใหญ่ในการก่อตั้ง ส่วนรัสเซียซึ่งกำลังมีปัญหาสาหัสกับประเทศยุโรปตะวันตก ก็หันมาพึ่งตลาดจีนมากขึ้น ในขณะที่อินเดียซึ่งมีประชากรขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับจีน ยังขยายตัวได้ไม่เร็วนัก ส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียเป็นเพียงราว 1 ใน 3 ของจีนเท่านั้น

สำหรับในด้านกลไก ไทม์มองว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน สามารถรวบอำนาจไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความจำเป็น เขาจะสามารถใช้อำนาจนั้นสานต่อสิ่งต่างๆ ได้ รวมทั้งการขับเคลื่อนการค้ากับการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเสริมบทบาทของจีนในสังคมโลกให้สูงขึ้นอีก

สหรัฐเข้าใจสภาวการณ์นี้ดี และพยายามที่จะคงไว้ซึ่งอิทธิพลของตนเอง แต่ก็ทำไม่ได้ถนัดนัก เนื่องจากปัญหาใหญ่ๆ ในภาคอื่นของโลกที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในย่านตะวันออกกลาง แม้ไทม์จะมิได้เขียนออกมา แต่บทความตอนนี้อาจตีความหมายได้ว่า สหรัฐกำลังตกอยู่ในสภาพหมาหัวเน่า

สำหรับในระยะยาว จีนจะต้องเผชิญกับปัจจัยในทางลบหลายอย่าง ฉะนั้น จีนจะสามารถขยายบทบาทต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายที่จะใช้กับปัจจัยเหล่านั้น ปัจจัยแรกได้แก่พฤติกรรมตอบสนองของชาวจีน ต่ออิสรภาพที่ตนได้รับเมื่อรัฐเปิดโอกาสให้มีบทบาทมากขึ้น ความผันผวนสูงของตลาดหลักทรัพย์ และค่าเงินพร้อมกับความกดดันในด้านอื่น อาจทำให้ชาวจีนตัดสินใจทำอะไรที่ก่อให้เกิดอุปสรรคใหญ่หลวง จนการพัฒนาเดินหน้าต่อไปไม่ได้

ประการที่สอง นโยบายที่จำกัดให้ครอบครัวจีนมีลูกได้คนเดียว กำลังส่งผลให้อัตราชาวจีนสูงวัยเพิ่มขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรป กำลังเผชิญกับปัญหานี้ แต่พวกเขามีข้อได้เปรียบจีน ตรงที่ตอนนี้เศรษฐกิจของพวกเขาก้าวหน้า และพวกเขาร่ำรวยกว่าจีน เมื่อจีนเริ่มมีประชากรสูงวัยในอัตราสูง จนสูญความได้เปรียบในด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน จีนจะยังไม่ร่ำรวยในระดับเดียวกับประเทศเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน สหรัฐร่ำรวยกว่า แต่ไม่เผชิญปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของประชากรเช่นเดียวกับจีน ฉะนั้น ในระยะยาว สหรัฐจะได้เปรียบจีนในด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน

ปัจจัยที่สาม เท่าที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ในบรรดาเมืองขนาดใหญ่ของจีน 500 เมือง ไม่กี่เมืองมีสภาพอากาศดีพอ ที่จะใช้หายใจได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แหล่งน้ำบนดินราวหนึ่งในสาม และแหล่งใต้ดินราวร้อยละ 60 สกปรกจนใช้อาบกินไม่ได้ แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไร้ผล การระเบิดของคลังสินค้าที่นครเทียนจิน แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของการควบคุมสารอันตราย

โดยรวม ไทม์มองว่า ในช่วงนี้จีนมีบทบาทสูงจนเรียกได้ว่าเป็น “ทศวรรษของจีน” (The China Decade) แต่มิได้ฟันธงลงไปว่า ทศวรรษของจีนจะจบลงอย่างไร ทั้งนี้ เพราะส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาตอบสนองของสหรัฐต่อบทบาทของจีน ไทม์มองว่า ถ้าสหรัฐแสดงความเป็นปฏิปักษ์ออกมา จนจีนไม่สามารถพัฒนาต่อไปตามความปรารถนาอย่างราบราบรื่นได้ โลกจะตกอยู่ในภาวะอันตราย สูงกว่าในกรณีที่จีนพัฒนาได้อย่างราบรื่น แม้จีนจะเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นของสหรัฐก็ตาม

มุมมองของไทม์ชวนให้เกิดคำถาม ผู้นำสหรัฐคนต่อๆ ไปจะฉลาดแค่ไหนหนอ?