ทิศทางเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง

ทิศทางเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง

เศรษฐกิจโลกครึ่งปีแรกค่อนข้างน่าผิดหวัง การขยายตัวต่ำกว่าคาด

 ขณะที่ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกก็มีมากขึ้น ล่าสุดเห็นได้จากความผันผวนในตลาดหุ้นจีน และความไม่ชัดเจนในเงื่อนเวลา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ การขยายตัวที่ต่ำช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐ ที่การขยายตัวสะดุดในไตรมาสหนึ่ง ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ก็มีผลต่อเศรษฐกิจในเอเชีย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มองไปข้างหน้า ความไม่แน่นอนที่มีอยู่คงมีต่อในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ อาจไม่เข้มแข็งเท่าที่อยากเห็น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ช่วงต้นปี 2015 ตลาดการเงินส่วนใหญ่มองเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และดีกว่าปีที่แล้ว สนับสนุนโดย หนึ่ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 2.4 ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ก็ควรฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน นำโดยเศรษฐกิจเยอรมันที่ปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 1.6 ซึ่งจะสร้างโมเมนตั้มให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สอง คือราคาน้ำมันที่ได้ปรับลดลงมากตั้งแต่ต้นปี จากที่อุปทานน้ำมันส่วนเกินในตลาดโลกมีมาก และกลุ่มโอเปคก็ไม่ได้แทรกแซงเพื่อพยุงราคาน้ำมันเหมือนก่อน การลดลงของราคาน้ำมันจะทำให้เกิดการประหยัด และช่วยให้การใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ขยายตัวได้มากขึ้น

สาม คือนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และสภาพคล่องในระบบการเงินโลกก็ไม่เป็นปัญหา เพราะการอัดฉีดของธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น (แม้สหรัฐจะหยุดอัดฉีดผ่านมาตรการคิวอี) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ต้องการฟื้นตัว และต่อตลาดการเงิน นี่คือสามปัจจัยที่คาดว่าจะสนับสนุนเศรษฐกิจโลกปีนี้ ประมาณว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 สูงกว่าปี 2014 นี่คือภาพเมื่อตอนต้นปี

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงเจ็ดเดือนแรกค่อนข้างผิดหวัง เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสหนึ่งหดตัวร้อยละ 0.2 จากปัญหาภูมิอากาศ และการลงทุนในธุรกิจขุดเจาะน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ไตรมาสสองโมเมนตั้มเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มกลับมาดี ขับเคลื่อนโดยการบริโภคในประเทศที่ได้ประโยชน์จากภาวะการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น จากราคาน้ำมันที่ลดลง และราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาบ้านที่ได้เริ่มปรับสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้นโยบายการเงินสหรัฐ สามารถเริ่มปรับเป็นขาขึ้นได้ช่วงท้ายปี

สำหรับกลุ่มประเทศยูโรโซน ความไม่แน่นอนกรณีกรีซกระทบความเชื่อมั่นตลาด แต่เศรษฐกิจยุโรปก็สามารถผ่านความวุ่นวายไปได้ดีพอควร คือขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5 ในไตรมาสแรก และไตรมาสสอง สนับสนุนโดยการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ดีขึ้น ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัว อย่างไรก็ตาม การว่างงานยังเป็นปัญหาสำคัญของยุโรป ล่าสุดอัตราการว่างงานของประเทศกลุ่มยูโรโซนอยู่ที่ร้อยละ 11.1 เดือนพฤษภาคม

สำหรับญี่ปุ่นเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีในไตรมาสหนึ่ง แต่ชะลอลงในไตรมาสสอง โมเมนตั้มของเศรษฐกิจได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง และค่าเงินเยนที่อ่อนลงมาก รวมถึงกำไรของบริษัทธุรกิจที่เติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.5 เดือนพฤษภาคมยังต่ำกว่าเป้าร้อยละสองของทางการมาก ทำให้มีการคาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจต้องผ่อนคลายนโยบายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับจีน เศรษฐกิจกำลังชะลอตามนโยบายที่ต้องการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและปรับกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการส่งออกมาเป็นการใช้จ่ายในประเทศ ในปี 2015 เศรษฐกิจจีนชะลอในไตรมาสหนึ่งขยายตัวร้อยละ 5.7 แต่โมเมนตั้มเศรษฐกิจควรปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจดีขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจเอเชีย (ไม่รวมจีนและญี่ปุ่น) เศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงมาก สะท้อนผลของราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลง สภาพคล่องทางการเงินที่เริ่มลดลง จากการไหลกลับของเงินทุนต่างประเทศ การชะลอตัวของจีนและปัญหาเฉพาะที่มีในแต่ละประเทศ

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีแรก บวกกับเหตุการณ์ในกรีซและตลาดหุ้นจีน ทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวนมาก กรณีของกรีซผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินโลกมีจำกัด เพราะสัดส่วนการค้าการลงทุนของกรีซในเศรษฐกิจโลกอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อีกทั้งกลุ่มยูโรโซนก็มีกลไกแก้ไขปัญหาที่เข้มแข็ง เช่น ESM อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของสถานการณ์กรีซ และบทเรียนจากการแทรกแซงของทางการจีนเพื่อพยุงตลาดหุ้น ได้กระทบความเชื่อมั่นของตลาดพอควร ดังนั้น ความไม่แน่นอนเรื่องกรีซและในท่าทีและนโยบายของทางการจีน ในการกำกับดูแลตลาดหุ้น ยังจะเป็นประเด็นในช่วงต่อไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ตลาดการเงินโลกช่วงครึ่งปีหลัง คงยังผันผวน ขับเคลื่อนโดยการลงทุนที่สะท้อนอารมณ์ของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนที่มีอยู่

จากที่ช่วงครึ่งปีแรก เศรษฐกิจส่วนใหญ่ขยายตัวลดลงกว่าที่คาด ตัวเลขเศรษฐกิจโลกปีนี้จึงได้มีการปรับลดลงทั่วหน้า ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ปรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงที่ร้อยละ 3.3 ต่ำกว่าปีที่แล้ว ขณะที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ IIF ก็ได้ปรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.6 ต่ำกว่าปีก่อนเช่นกัน แต่ทั้งสองกรณี ประมาณการตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก

แม้การประมาณการล่าสุดจะมองเศรษฐกิจโลกดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ความไม่แน่นอนต่างๆ ยังมีอีกมากในเศรษฐกิจโลก ที่อาจกระทบเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งความไม่แน่นอนหลักที่ควรต้องระวังและติดตามก็คือ

หนึ่ง เงื่อนเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกที่มีขณะนี้สวนทางกับท่าทีที่เข้มแข็งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐ คำถามก็คือ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารกลางสหรัฐจะให้ความสำคัญกับผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหนในการตัดสินใจ เพราะเมื่อการปรับอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นจริง ต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงขึ้น ก็จะดึงเงินทุนต่างประเทศให้ไหลกลับสหรัฐ สร้างแรงกดดันต่อสภาพคล่อง และอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่เงินทุนไหลออก ทำให้การฟื้นตัวของประเทศเหล่านี้จะยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น นี่คือผลกระทบข้างเคียง ที่อาจกระทบเงื่อนเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ

สอง  เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ปีนี้ การขยายตัวอ่อนลงมาก แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะปรับลดลง คำถามสำคัญคือ เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ จะสามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น รวมถึงทำนโยบายที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หรือไม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีอัตราการขยายตัวต่ำต่อเนื่อง ที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมว่า ตลาดการเงินจะยังเชื่อมั่นในความสามารถของทางการ ในการทำนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ถ้าตลาดไม่มีความเชื่อมั่น การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศก็จะรุนแรงจนอาจสร้างปัญหาได้

สาม กรณีตลาดหุ้นจีน และข้อตกลงความช่วยเหลือสำหรับกรีซ ก็ยังจะเป็นประเด็นความไม่แน่นอนในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับจีนประเด็นก็คือ ในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังปรับฐานทางการจะสามารถดูแลความเชื่อมั่น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ไม่ให้ถลำไปสู่การชะลอตัวที่รุนแรงได้หรือไม่ สำหรับกรีซประเด็นก็คือ ข้อตกลงความช่วยเหลือจะสามารถสรุปได้ตามเงื่อนเวลาที่กำหนดหรือไม่ และประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ที่ยังมีอยู่ว่า กลุ่มประเทศยุโรปจะสามารถดูแลความเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ให้กระทบการขยายตัวของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยูโรโซนได้ดีแค่ไหน

ดังนั้น ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก แม้ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวจะมีมากขึ้น