ต้องมีความต่อเนื่อง

ต้องมีความต่อเนื่อง

ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เรือประมงจำนวนมากได้พากันจอดบริเวณท่าเทียบเรือ

 จนเกิดความวิกตกว่าจะเกิดการขาดแคลนอาหารทะเล เนื่องจากไม่มีเรือประมงออกหาปลามาป้อนตลาดในประเทศได้ รวมถึงผลกระทบต่อการส่งออกในอุตสาหกรรมประมง หลังจากพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดมาตรการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม(ไอยูยู)เอาไว้ด้วย แม้บางประเด็นยังไม่เป็นที่พอใจของสหภาพยุโรป(อียู)

จากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยในช่วงที่เรือประมงจอดเทียบท่าเรือ และมีการเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทั่วไปได้เห็นภาพอุตสาหกรรมการประมงไทยชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากเรื่องปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการเอาเปรียบแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่รับรู้กันทั่วไปก่อนหน้านี้ เรายังได้รับรู้ว่าเรือประมงของไทยประกอบการประมงด้วยเครื่องมือที่ผิดกฎหมายค่อนข้างมาก และเกิดขึ้นมานาน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นประเด็นรับรู้มาแล้วว่าเรือประมงจำนวนมากมีปัญหาเรื่องนี้ แต่ไม่รู้กันว่าจะมีจำนวนมากถึงเพียงนี้

น่นอนว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมาตามกฎอียู ย่อมมีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์จากแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งรัฐบาลได้ย้ำแล้วว่าเรื่องนี้จะไม่มีการผ่อนปรนเหมือนในอดีต ที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นจะผ่อนผันและชี้แจงกับต่างประเทศ โดยเป็นวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลในอดีตที่ไม่ต้องการสร้างปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งมักจะอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญ และวิธีการก่อนหน้านั้นที่ทำกันมาคือขยายกรอบเวลาออกไป จากนั้นเมื่อครบกำหนดเวลาก็ขยายกรอบเวลาต่อไปอีก กล่าวคือเป็นการแก้ปัญหาแบบซื้อเวลา

ประเด็นที่น่าจับตายิ่งกว่ามาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลในขณะนี้คือ จะมีการปฏิบัติและควบคุมเรือประมง ตามมาตรการไอยูยูอย่างไรในอนาคต กล่าวคือเป็นความต่อเนื่องของการเอาจริงเอาจัง ในการจัดระเบียบการประมงไทย ซึ่งความต่อเนื่องในการควบคุมถือเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมการทำประมงของไทย และจะเป็นตัดชี้วัดที่สำคัญว่าจะถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ของการประมงอย่างแท้จริงหรือไม่ หากภาครัฐสามารถทำได้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ แต่หากตรงกันข้าม ปัญหาก็ยังกลับมาเช่นเดิมที่ต้องตามแก้ไข

การยอมรับต่อแนวทางการแก้ปัญหา ให้มีความต่อเนื่องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะชี้ให้เห็นว่ามาตรการแก้ปัญหามีความยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งหลังจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อยืนยันทางอียูว่าไทยมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เราเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมถึงผลกระทบสำคัญของการทำประมงในช่วงที่ผ่านมาว่ามีผลเสียหายในระยะยาวอย่างไร ไม่ใช่มุ่งความสนใจไปเพียงแค่มูลค่าการขยายตัวทางการค้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี และต้องมีแผนในระดับชาติว่าจะจัดระเบียบการทำประมงของประเทศอย่างไรให้มีความยั่งยืน

การยอมรับจะเกิดขึ้นได้ ทางภาครัฐจำเป็นต้องมีฐานข้อมูล และเหตุผลที่เพียงพอในการชี้แจงให้สาธารณชนได้รับรู้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมประมง ที่สำคัญหากภาครัฐีกระบวนการเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องดึงภาคประชาชน โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านที่มีอยู่จำนวนมาก เพื่อช่วยสอดส่องดูแลการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเราเชื่อว่าองค์กรต่างๆของประมงพื้นบ้านที่มีอยู่มากมายในขณะนี้พร้อมจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลทรัพยากรทางทะเลของประเทศ

หากมีการจัดระเบียบการทำประมงทั้งระบบ โดยไม่เพียงมุ่งไปที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย แต่เป็นการจัดระเบียบเพื่อสร้างความยั่งยืนตามไอยูยู เราเชื่อว่าผลประโยชน์ที่ทุกคนได้รับในระยะยาวจะมีมากกว่าที่มักจะตีราคาทางการค้าปัจจุบัน ดังนั้น ความต่อเนื่องของมาตรการที่รัฐบาลเอาจริงเอาจังในครั้งนี้ จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าคนไทยสามารถปรับตัวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้หรือไม่