Zero tolerance : ความอดทนต่อคอร์รัปชันต้องเท่ากับ‘ศูนย์’

Zero tolerance : ความอดทนต่อคอร์รัปชันต้องเท่ากับ‘ศูนย์’

ผู้นำหลายประเทศมีทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คของตัวเอง เพื่อสื่อสารโดยตรงกับประชาชน และผู้คนทั่วไป เป็นการใช้ social media

 เพื่อส่งข่าวคราวและสารที่ตนต้องการถึงสาธารณชน โดยไม่ต้องผ่านสื่อกระแสหลักอย่างแต่ก่อน

เพราะตระหนักว่าหากจะสัมผัสกับคนรุ่นใหม่ก็ต้องเข้าสู่โลกออนไลน์ อีกทั้งคนรุ่น baby boomers วัย 50 ขึ้นทุกวันนี้ก็มีสังคมพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ใน social media กันอย่างกว้างขวาง

นายกฯ หลี่เสียนหลง แห่งสิงคโปร์เป็นหนึ่งในผู้นำที่กระโดดเข้ามาใช้ Facebook อย่างเต็มตัวหลังจากผลการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาสะท้อนว่าพรรค PAP ของรัฐบาลต้องใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่มากกว่านี้ หากจะไม่ให้ฝ่ายค้านแซงหน้าในแง่ความนิยมชมชอบในอนาคตอันใกล้

วันก่อน แกเขียนข่าว scoop พิเศษใน Facebook ของแกเอง เปิดเผยว่าอดีต ส.ส.พรรครัฐบาล Phey Yew Kok มามอบตัวที่สถานทูตสิงคโปร์ที่กรุงเทพฯ หลังจากหนีออกนอกประเทศมา 35 ปีกรณีถูกข้อหายักยอกเงินของสหภาพเมื่อปี 1979 เป็นข่าวอื้อฉาวระดับสูงสมัยนั้นทีเดียว

นายกฯรายงานเองเลยว่า หลังจากมอบตัวที่กรุงเทพฯ นายเฟย์ยิวก๊ก ก็ถูกส่งตัวกลับสิงคโปร์เพื่อดำเนินคดีต่อไป

หลี่เสี่ยนหลง ถือโอกาสนี้ยืนยันนโยบายปราบคอร์รัปชันของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดและเข้มข้น โดยเขียนว่า

“We have maintained a clean and non-corrupt system in Singapore for half a century because we have zero tolerance for corruption. When we discover wrongdoing, we do not hesitate to act. We will not allow any cover-up, even when it is awkward or embarrassing for the government.”

เป็นการตอกย้ำว่าสิงคโปร์ได้รักษาระบบการบริหารที่สะอาด และไร้คอร์รัปชันมาตลอดกึ่งศตวรรษ เพราะนโยบาย “zero tolerance for corruption” ซึ่งแปลตรงตัวว่า ความอดทนต่อการโกงกินเป็นศูนย์

นั่นคือจะไม่ยอมให้มีความประพฤติมิชอบด้านฉ้อราษฎร์บังหลวงแม้แต่น้อย หรืออีกนัยหนึ่งผู้นำรัฐบาลจะไม่ยอมอ่อนข้อหรือผ่อนปรนกับการกระทำใด ๆ ของนักการเมืองหรือข้าราชการที่ฉ้อฉล เบียดบังภาษีประชาชนไปใช้เพื่อเอื้อประโยชน์แห่งตน

เมื่อเราพบว่ามีการกระทำผิด เราจะไม่ลังเลที่จะดำเนินการ เราจะไม่ยอมให้มีการปกปิด (ข่าวคราวการฉ้อฉล) แม้ว่ามันจะสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับรัฐบาลก็ตาม

หลี่เสียนหลง ถือโอกาสรายงานเรื่องอดีต ส.ส.พรรครัฐบาลมอบตัวตอกย้ำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล เพราะรู้ว่าข่าวนี้จะไปถึงสื่อและประชาชนคนสิงคโปร์ จึงต้องยืนยันนโยบาย รัฐบาลสะอาด อีกรอบหนึ่ง

นโยบาย “zero tolerance for corruption” เป็นหลักการสำคัญสำหรับสิงคโปร์ที่มีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เขาใช้วิธีการคัดสรรคนมาเป็นรัฐมนตรีบนพื้นฐานของฝีมือและประวัติการทำงาน โดยพร้อมจะดึงคนดีคนเก่งจากภาคเอกชน จ่ายเงินเดือนสูงไม่แพ้ธุรกิจใหญ่ ๆ และเปิดทางให้สามารถแสดงฝีมืออย่างกว้างขวางพอสมควร

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจถ้าหากเราเจอรัฐมนตรีหรือระดับอธิบดีกับหัวหน้ากองสิงคโปร์ ที่คิดและทำงานเหมือนนักบริหารในธุรกิจเอกชน เพราะพวกเขาฝึกให้คิดและทำมาอย่างนั้น ทุกขั้นตอนของการทำงานมีการตั้งเป้าหมาย วางการวัดผลสัมฤทธิ์หรือ KPI (Key Performance Index) และประเมินผลงานกันเป็นระยะ ๆ อย่างมืออาชีพ

และเมื่อจับได้ว่ามีความประพฤติผิดกติกา เขาลงโทษแรงจริง ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการจัดลำดับสากลว่าด้วยมาตรฐานต่อต้านคอร์รัปชัน สิงคโปร์จะมาเป็นลำดับต้น ๆ ทุกครั้งไป

บทเรียนสำหรับไทยคือ ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่มีกฎหมายดี แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด เสมอภาค และต่อเนื่อง

และความอดทนต่อพฤติกรรมคอร์รัปชันต้องเท่ากับศูนย์จริง ๆ ...ในทุกกรณี!