‘มหาภัย’ ที่มาจากการละเลย เรื่อง โรฮิงญา

‘มหาภัย’ ที่มาจากการละเลย เรื่อง โรฮิงญา

ยังจำได้เมื่อสักปี 50 ที่ประเด็นชาวโรฮิงญายังไม่ดังเท่าตอนนี้ ผมเคยเขียนบทความสามตอนลงสื่อเนชั่นเรื่อง “โรฮิงญา มหาภัยมนุษย์น้ำ”

ยังจำได้ว่าโดยสื่อออนไลน์ชื่อดังที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนเจ้าหนึ่งสับเละเรื่องไม่เห็นแก่มนุษยธรรม ทำไมไปว่าเขาอย่างนั้น แล้วสื่อนี้ยังไปอ้างอิงกับหน่วยงานรัฐอีกว่าไม่มีหรอกทารุณกรรมผู้อพยพทางทะเล แต่สื่อนั้นมองไม่พ้นลีลาการเขียนที่หวือหวา ไม่ได้ดูสิ่งที่ผมกำลังสื่อก็คือ ถ้าไม่มีใครแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนฤดูมรสุมพวกนี้จะต้องล่องเรือมาหาที่อยู่ที่กินที่ทำงานทุกปีและอาจเป็นปัญหาร้ายแรงต่อไปของชาติในอนาคต


แต่ผมไม่ใช่พวก Protectionism ด้วยการตอบอย่างไร้น้ำใจว่า ถ้าเห็นใจโรฮิงญานักก็รับไปอยู่บ้านสิ ตอบแบบนี้ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของคนไทย เพราะในอดีตคนไทยรับผู้อพยพผิดกฎหมายมานักต่อนักแล้ว บางพวกเชื้อชาตินิยมและเกี่ยวข้องกับการเมืองยิ่งกว่าโรฮิงญาเสียอีก เช่น อ้าแขนรับคนจีนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาเพราะมนุษยธรรม คนเหล่านี้ในยุคสงครามมหาเอเชียบูรพาก็ต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งเป็นมิตรอย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทยในเวลานั้นด้วยการระดมเงินไปช่วยทำสงครามหรือกลับบ้านไปทำสงครามบนแผ่นดินจีนเองด้วยซ้ำ แต่พอมาคราวนี้เกลียดกลัวโรฮิงญา เพียงเพราะเขายากจน สกปรกและอาจเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศน่ะหรือ ข้อหาหลังไม่จริงแน่ๆ ถ้าคิดว่าโรฮิงญาส่วนใหญ่คือคนร้ายก็ไม่ต่างอะไรกับที่ด่าคนส่วนใหญ่ของเชื้อชาติที่เราเกลียดว่ามันต้องชั่วนั้น เลวนี้ เพราะมีเลือดแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ระวังเสียเลย ปล่อยไหลใจดีก็ไม่ได้ ซึ่งจะว่ากันต่อไป


การอพยพออกนอกประเทศโดยทางเรือของชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ และของชาวบังกลาเทศจากเมืองค็อกบาซาร์ เมืองที่มีชายหาดที่ยาวที่สุดในโลกมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยงเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งเลวร้ายครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นับแต่ Boat People ของเวียดนามใต้หลังออกมาหลังไซง่อนแตก ปัญหารอบนี้ เริ่มจากหลังจากที่ได้มีการตรวจพบหลุมศพชาวโรฮิงญาจำนวน 32 ศพ บนยอดเขาแก้ว ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อ 1 พ.ค.58 ที่บ่งชี้ถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องในขบวนการค้ามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ไทยที่อาศัยการแสวงประโยชน์จากชาวโรฮิงญาที่ต้องการเดินทางไปยังมาเลเซีย เรื่องดังกล่าวกระทืบภาพลักษณ์ของไทยในเรื่องการค้ามนุษย์ที่ตกต่ำอยู่แล้วให้ฉิบหายลงไปอีก


ผลจากการตรวจพบค่ายผู้อพยพ ทำให้ไทยกวาดล้างเครือข่ายค้ามนุษย์อย่างจริงจัง มีผู้ถูกออกหมายจับจำนวนมาก ทั้งระดับนายกเทศมนตรี นายอำเภอและตำรวจใหญ่ๆ ทำให้เครือข่ายลักลอบขนคนโรฮิงญาเข้ามาเกิดความเกรงกลัว จากเดิมที่เรือที่ลอยลำจากเมียนมาร์จะเข้าไทยที่ระนองหรือพังงา แล้วมีนายหน้ารับไปพักพิงที่จังหวัดชายแดนก็ปล่อย ไม่ยอมรับ ที่เข้ามาแล้วก็อดอยากเดินอยู่ในป่าจนเจ้าหน้าที่มาพบ ที่ลอยเรืออยู่กลางทะเลยังมีอีกมากคาดว่าไม่ต่ำกว่า 3,000 คน เรือเหล่านี้บ้างถูกไทยผลักดันออก บ้างมุ่งตรงไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งต่างไม่อยากรับและประกาศจะผลักดันเรือทุกลำที่บรรทุกผู้หนีภัยชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศให้กลับออกไปในทะเล ยกเว้นเรือที่อยู่ในสภาพเสี่ยงอับปาง แต่ผู้อพยพบางส่วนขึ้นฝั่งได้เพราะจมเรือของตนเองหรือถูกปล่อยทิ้งบนเกาะ เช่นเมื่อ 15 พ.ค.58 ทร.ไทยต้องรับผู้อพยพ 106 คนจากเกาะสต็อก หมู่เกาะสุรินทร์ เข้าควบคุมที่ ตม.พังงา ขณะที่อินโดนีเซีย ต้องยอมให้ชาวโรฮิงญากว่า 600 คนขึ้นฝั่งสุมาตรา


ขณะนี้สหประชาชาติ ชาติตะวันตกและองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากเรียกร้องให้รัฐชายฝั่งมะละการับผู้อพยพพักพิงชั่วคราวเพื่อเห็นแก่ ผู้นำต่างชาติโทรมากดดันตรงต่อผู้นำไทยเป็นว่าเล่น ไทยก็ได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้ว่าก็ดูแลดีตามมาตรฐานแล้ว ยอมให้มีถึงขั้นที่พักคอยแต่ถ้าจะให้ตั้งค่ายเป็นจริงเป็นจังต้องพิจารณาหลายทาง แต่ที่แคร์ที่สุดก็คือกระแสไม่เอาโรฮิงญาในประเทศนี่เอง


จากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้รัฐบาลไทยผลักดันจะให้มีการประชุม 15 ฝ่าย ทั้งประเทศต้นทาง เช่น บังกลาเทศ และเมียนมาร์ ประเทศชายฝั่งมะละกา คือไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศที่อยากเกี่ยวใน 29 พ.ค.58 เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และชาวโรฮิงญาทั้งระบบพร้อมกัน แต่บอกตรงๆ หวังประเทศต้นทางยาก ปีที่แล้วผมเคยคุยปัญหานี้กับ ผบ.เรือบังกลาเทศที่จิตตะกองที่ดูแลพื้นที่ค็อกบาซาร์ด้วย พบว่าบังกลาเทศเขาก็ไม่อยากรับผู้อพยพโรฮิงญาไว้ เพราะมาก่อปัญหาให้เขาเหมือนกัน ยิ่งมาทะเลาะกับชาวพุทธด้วยเรื่องศาสนาถึงขั้นเผาวัดเมื่อปี 56 อีกยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นแนวคิดซื่อ ๆ ของคนที่คิดว่าปัญหานี้มี UNHCR เป็นจำเลยร่วม จงรับคืนกลับไปเข้าค่ายที่ค็อกบาซาร์ ที่หนีมาซะ นั้นบังกลาเทศเขาต้องค้านแน่


ส่วนเมียนมาร์ ยิ่งหนักกว่าอีก เพราะกระแสชาวพุทธในประเทศไม่พอใจอย่างหนัก เพราะโดนกระทบถึงขั้นต้องหนีออกจากแคว้นมาตุภูมิระดับเดียวกับสุโขทัยของเรา เมียนมาร์ถือว่าคนเบงกาลีเหล่านี้ไม่ใช่สัญชาติเมียนมาร์ตั้งแต่ต้นและจะไม่มีวันได้ ยังไงก็ไม่ยอมรับกลับ ยิ่งไปได้ก็ไปเลย ทั้งนี้จากการที่ผมเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข่าวกรองอาเซียนที่บรูไนเมื่อ 13 พ.ค. นักวิเคราะห์ข่าวกรองเมียนมาร์บรรยายถึงความเกี่ยวข้องขององค์กรชาวโรฮิงญาหลายกลุ่มที่มีฐานอยู่ในบังกลาเทศและพยายามรวมกลุ่มกันทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ในเมียนมาร์เพื่อตั้งรัฐอิสลามตามแนวทาง IS


การไม่แก้ปัญหาอย่างถาวรของประเทศต้นทางและการที่ชาติรัฐชายฝั่งไม่ต้องการรับภาวะตั้งค่ายผู้อพยพ ทำให้คาดว่า สถานการณ์จะวิกฤตยิ่งขึ้น ทางออกคาดว่าในชั้นต้นรัฐชายฝั่งจำเป็นต้องจัดตั้งที่พักชั่วคราวเพื่อมนุษยธรรมและพยายามเจรจากับรัฐและองค์กรต่างๆ ให้ร่วมรับผิดชอบภาระดังกล่าวอย่างจริงจัง รวมทั้งปัญหาต่อเนื่อง เช่นความรุนแรงระหว่างคนท้องถิ่นกับผู้อพยพ หรือการเกี่ยวข้องของชาวโรฮิงญากับกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งสถานการณ์เดือนหน้าคงบรรเทาไปได้บ้างเพราะหน้ามรสุมกำลังมาแล้ว