อาเบะจะพาญี่ปุ่นไปสู่สงครามจริงหรือ?

อาเบะจะพาญี่ปุ่นไปสู่สงครามจริงหรือ?

ในวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น กลุ่มของนักกิจกรรมทางการเมืองญี่ปุ่นได้จัดการชุมนุมครั้งใหญ่

เพื่อคัดค้านความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคแอลดีพีที่สวนสาธารณะริงโกะ เมืองโยโกฮะมะโดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณสามหมื่นคน


ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์ The Japan Times เค็นซะบุโระ โอเอะ นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2537 ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมนี้ได้กล่าวแสดงความกังวลว่า นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะกำลังพาประเทศญี่ปุ่นมุ่งไปสู่สงครามโลกครั้งที่สาม คำพูดของโอเอะนี้แม้จะเกินจริงไปมาก แต่ความกังวลของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่าการละทิ้งจุดยืนสันติภาพนิยมไปหาแนวทาง “สันติภาพเชิงรุก” จะนำญี่ปุ่นไปสู่สงครามนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยแต่อย่างใด


ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของอาเบะและพรรคแอลดีพีถูกโยงเข้ากับสงครามเพราะมาตราที่ 9 ของรัฐธรรมนูญอันเป็นเป้าหมายสำคัญของการแก้ไขมีเนื้อหาที่กำหนดให้ญี่ปุ่นสละสิทธิ์ในการทำสงครามและการใช้กำลังทหารในการแก้ไขความขัดแย้งในระดับนานาชาติไม่ว่าในกรณีใดๆ ดังนั้น โดยตรรกะแล้ว ความพยายามใดๆ ที่จะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรานี้ ไม่ว่าจะโดยใครหรือองค์กรใดก็ตาม จึงถูกตีความว่าเป็นการ “มุ่งไปสู่สงคราม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกับของอาเบะและพรรคแอลดีพีที่เห็นว่าความเข้มแข็งทางการทหารและบทบาทด้านความมั่นคงในระดับนานาชาติของญี่ปุ่นเป็นเงื่อนไขจำเป็นของการมีสันติภาพตามแนวคิดสันติภาพเชิงรุก


โดยหลักการแล้ว การแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 9 จะทำให้ข้อจำกัดเด็ดขาดในการใช้กำลังทหารในการแก้ปัญหาระดับนานาชาติของญี่ปุ่นหมดไป และญี่ปุ่นจะมีสถานะเหมือนประเทศอื่นๆ ที่มีสิทธิที่จะทำสงครามได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว ญี่ปุ่นจะเข้าสู่สงครามหรือไม่นั้น นโยบายสันติภาพเชิงรุกและความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกาเป็นเงื่อนไขสำคัญด้วยเช่นกัน


นโยบายสันติภาพเชิงรุกและความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกานั้นเกี่ยวข้องกันอย่างมาก การเข้าไปมีบทบาทในความขัดแย้งในระดับนานาชาติเพื่อ “สร้างสันติภาพ” ของญี่ปุ่นนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นการริเริ่มของญี่ปุ่นเอง แต่บทบาทเช่นนี้ของญี่ปุ่นก็สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของอเมริกาที่ต้องการให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของตนมีบทบาทในด้านความมั่นคงในระดับนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลของตนออกไปทั่วโลก ซึ่งการมีแนวคิดที่เห็นการใช้กำลังทางการทหารเป็นเรื่องจำเป็นต่อการมีสันติภาพและการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงอย่างใกล้ชิดกับอเมริกานี้ทำให้ผู้ที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ญี่ปุ่นไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ถูกชักพาเข้าไปสู่สงครามของอเมริกา โดยเฉพาะเมื่อความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นและอเมริกาถูกปรับให้แน่นแฟ้นและกว้างขวางมากยิ่งขึ้นในการเดินทางเยือนอเมริกาของอาเบะในเดือนเมษายนที่ผ่านมา


สำหรับตัวญี่ปุ่นเองแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกจากจะตอบสนองต่อการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับอเมริกาแล้ว การปลดข้อจำกัดทางการทหารของตนเองออกไปก็เป็นหลักประกันสำคัญหนึ่งที่ญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องมีด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองในกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์กับอเมริกาขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในกรณีที่มีจีนเป็นคู่กรณี


สุดท้ายแล้ว อาเบะจะนำญี่ปุ่นไปสู่สงครามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของนโยบายสันติภาพเชิงรุกและความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับอเมริกาเป็นสำคัญ ถ้าอาเบะดำเนินนโยบายสันติภาพเชิงรุกอย่างเข้มข้นและติดตามอเมริกาเข้าไปสู่ความขัดแย้งในทุกกรณี การเข้าสู่สงครามของญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองในอนาคตก็คือญี่ปุ่นจะรักษาสถานะของการเป็นพันธมิตรกับอเมริกาไว้ได้โดยไม่ถูกอเมริกาชักจูงไปสู่สงครามหรือความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นได้หรือไม่


ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสันติภาพเชิงรุกของอาเบะ นอกจากจะต้องรักษามาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญอันเป็นปราการที่สำคัญที่สุดของแนวทางสันติภาพนิยมไว้ให้ได้แล้ว พวกเขายังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสนอกรอบแนวคิดของนโยบายต่างประเทศชุดใหม่ขึ้นมาแข่งขันกับแนวคิดสันติภาพเชิงรุกของอาเบะ และพวกเขาต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่าการยึดถือหลักสันติภาพแบบเดิมที่ปฏิเสธการใช้กำลังทหารโดยสิ้นเชิงเป็นแนวคิดที่มีประสิทธิภาพในบริบทด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นในปัจจุบัน มิฉะนั้นแล้ว ประชาชนญี่ปุ่นก็จะไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการรับเอาแนวคิดสันติภาพเชิงรุกของอาเบะไว้ เช่นเดียวกับที่ “อาเบะโนมิกส์” ได้รับการยอมรับเพราะพรรคการเมืองและกลุ่มประชาสังคมอื่นไม่สามารถสร้างนโยบายเศรษฐกิจขึ้นมาแข่งขันกับพรรคแอลดีพีได้ดังที่ปรากฏชัดเจนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา


อนึ่ง ประเด็นเรื่องการ “มุ่งไปสู่สงคราม” ไม่ใช่ประเด็นเดียวที่น่าเป็นกังวลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของอาเบะและพรรคแอลดีพี นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้เริ่มออกมาเตือนแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคแอลดีพีจัดทำขึ้นมีบางประเด็นที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการบั่นทอนระบบเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับอนาคตของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน