ศาลตัดสินแล้ว! ปตท. คืนท่อส่งก๊าซครบถ้วนหรือไม่

ศาลตัดสินแล้ว! ปตท. คืนท่อส่งก๊าซครบถ้วนหรือไม่

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ศาลปกครองชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ซึ่งต้องถือว่าเป็นคำวินิจฉัยสำคัญ

ที่ทำให้ประเด็นการถกเถียงเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ครบถ้วนหรือไม่นั้น สิ้นสุดลง


ความเดิม


เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีแปรรูป ปตท. สรุปได้ว่า ให้ยกคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปตท. ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อกลับมาเป็นของรัฐ


ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา


กระทรวงการคลังจึงได้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนนำไปสู่หลักเกณฑ์ในการรับทรัพย์สินคืนจาก ปตท. ดังนี้


1. ที่ดินที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืน


2. สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชน โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจ่ายค่าทดแทน


3. ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่อยู่ในที่ดินตามข้อ 1 และข้อ 2


และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุดจึงได้มีคำสั่งว่า “ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”


ข้อโต้แย้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)


หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 แล้ว ปรากฏว่า สตง. ยังคงไม่เห็นด้วย ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 สตง. จึงได้มีหนังสือถึง ปตท. แจ้งว่า ปตท. ยังส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน และ สตง. ก็ได้ส่งหนังสือที่มีข้อความทำนองเดียวกันนี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานศาลปกครอง กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน เป็นต้นอย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองก็ได้มีหนังสือแจ้งกลับไปยัง สตง. แจ้งว่า ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ดังนั้น เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 คณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้มีมติรับทราบการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีแปรรูป ปตท. ตามรายงานของกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานเป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ได้มีประเด็นโต้แย้งเรื่องความเห็นของ สตง. แต่อย่างใด


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง


เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ปตท. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองอีกครั้ง เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 รายร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลคืนให้แก่กระทรวงการคลัง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ขอให้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ทั้งบนบกและทะเลทั้งหมดเป็นของกระทรวงการคลังนั่นเอง ทว่า ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ไม่รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน เนื่องจากเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ 35/2550 (คดีแปรรูป ปตท.) ไปแล้วอย่างไรก็ตาม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ยังคงไม่เห็นด้วยกับศาลปกครองชั้นต้น จึงอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด


ประเด็นเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง


ระหว่างนี้ก็ได้มีการเคลื่อนไหวของหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้ ปตท. ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดให้กระทรวงการคลัง สรุปได้ดังนี้


1. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งหนังสือมายัง ปตท. ขอให้ชี้แจงเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติว่าครบถ้วนตามคำพิพากษ าหรือไม่อย่างไร ซึ่ง ปตท. ก็ได้มีหนังสือชี้แจงกลับไปว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งว่า ปตท. ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


2. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 สตง. ได้เสนอความเห็นของตนต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ปตท. ยังไม่ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลและบนบกบางส่วน


3. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 สตง. จึงได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้ตีความคำพิพากษาในคดีแปรรูป ปตท. ว่า ปตท. ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติครบถ้วนแล้วหรือไม่


4. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือไปถึง รองหัวหน้า คสช. แจ้งว่า ปตท. ยังส่งมอบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลและบนบกไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาและการที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รายงานต่อศาลปกครองสูงสุด โดยไม่ได้เสนอความเห็นของ สตง. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ไปด้วยนั้น ส่งผลต่อการออกคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 26 ธันวาคม 2551 อย่างมีสาระสำคัญ


5. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนยืนยันว่าปตท. ส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน


6. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 สตง. ได้เปิดการชี้แจงต่อสื่อมวลชนอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้มีประธานการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินร่วมกันชี้แจงยืนยันว่า ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน


คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557


ในที่สุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลชั้นต้นก็ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ที่มาจากการอุทธรณ์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 สามารถสรุปได้ ดังนี้


1. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนยันตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง คือ ไม่รับคำฟ้องอุทธรณ์ไว้พิจารณา เนื่องจาก ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


2. สำหรับประเด็นข้อกล่าวอ้างที่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 กำหนด (เรื่องที่ให้ สตง. รับรอง) ไม่ใช่เหตุที่จะกล่าวอ้างว่าการดำเนินการตามคำพิพากษายังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย


สรุป


ดังนั้น จากคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 นี้ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ยุติประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ทั้งหมด โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ปตท. ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วตั้งแต่ปี 2551


ส่วนประเด็นที่กล่าวอ้างกันว่าคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 อาจจะไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่ได้แนบความเห็นของ สตง. เข้าไปด้วยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การแนบความเห็นของ สตง. ดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการกำหนดขึ้นเองจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น