อินเดียกับการพยายามจับมือกับสหรัฐ

อินเดียกับการพยายามจับมือกับสหรัฐ

ขณะที่เรากำลังให้ความสำคัญกับมหาอำนาจทางแปซิฟิกที่กำลังรุกคืบเข้ามายังเอเชียอาคเนย์อย่างเร็วและแรงขึ้น

เราอาจลืมผินหน้ามองไปอีกฟากหนึ่งของทิศเบื้องหลัง อินเดียกำลังเติบใหญ่และอยากขยายบทบาทในแปซิฟิกเหมือนกัน และเงื่อนไขหนึ่งที่อินเดียคิดก็คือต้องจับมือกับผู้นำแปซิฟิกตัวจริงให้ได้เสียก่อน นั่นคือสหรัฐ หลังจากเสียเวลาไปไม่น้อย แม้ว่าประสิทธิผลยังอยู่อีกไกลไม่ใคร่ชัด แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสนใจและหาทางแสวงประโยชน์จากบรรยากาศนี้


อินเดียกำลังกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสูงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยพยายามขยายบทบาทกว้างขวางไกลโพ้นออกไปจากภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ดูจะเป็นน้ำบ่อเล็ก ที่ตีบตันเกินไปและมีศักยภาพการเจริญเติบโตน้อย เข้าไปในภูมิภาครอบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ที่มีความหลากหลายกว่า ในบรรดาภูมิภาคเหล่านี้ อินเดียดูจะพึงใจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากที่สุด เพราะเป็นแหล่งความเจริญทางเศรษฐกิจ อยู่ไม่ไกลกับทั้งอินเดียเองและคู่แข่งที่รัฐบาลเดลีกำลังให้ความสนใจอย่างใจจดใจจ่อ


ทั้งนี้ อินเดีย มีคู่แข่งทางยุทธศาสตร์คือจีน ที่มีปัญหาพรมแดนระหว่างกันตั้งแต่ปี 2505 โดยปัจจุบันจีนมีอิทธิพลสูงในเอเชียแปซิฟิกและพยายามขยายอิทธิพลเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียด้วย ดังจะเห็นได้จากการเอื้อประโยชน์ให้แก่ปากีสถาน บังกลาเทศและศรีลังกามากเป็นพิเศษ การที่จีนดูเหมือนจะบีบวงเข้ามาหากินในบ่อหลังบ้านของอินเดียอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นทุกที ทำให้จีนต้องคบหาพันธมิตรที่มีศักยภาพช่วยในการขยายอิทธิพลของอินเดียได้ และ/หรือ มีขีดความสามารถในการต่อต้านจีน


การให้ความสำคัญประเทศใด สามารถพิจารณาได้จากการเลือกเชิญอาคันตุกะเกียรติยศเพียงปีละ 1 คน เข้าร่วมงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย 26 ม.ค.ของทุกปี โดยในปี 2555 เลือกเชิญผู้นำจากประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรุกเข้าสู่เอเชียแปซิฟิก โดยใช้ไทยเป็นฐานตามนโยบาย Act East ที่พัฒนามาจากนโยบายมุ่งตะวันออก หรือ Look East ที่ใช้เวลาเป็นสิบปีก็ไม่เวิร์ก ในปี 2556 เลือกเชิญผู้นำจากประเทศรัสเซีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีและมุ่งขยายอิทธิพลในเอเชียกลาง และในปี 2557 เลือกเชิญผู้นำจากญี่ปุ่น หัวอกใกล้เคียงกัน เพื่อแสดงการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในการถ่วงดุลจีน


ในปี 2558 นี้ อินเดียเลือกเชิญประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐ มาร่วมงาน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการของอินเดียที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐให้มากขึ้น ในอดีตนั้นอินเดียมีนโยบายค่อนข้างโดดเดี่ยว เป็นมิตรกับโซเวียตและไม่พอใจสหรัฐ ที่สนับสนุนปากีสถาน แม้ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาอินเดียจะกระชับความสัมพันธ์ถึงขั้นเป็นว่าที่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2547 และในปี 2549 ได้บรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่อินเดียยกเลิกการพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกลนอกภูมิภาคแลกกับการได้รับความช่วยเหลือด้านนิวเคลียร์เพื่อสันติจากสหรัฐ แต่ทั้งสองประเทศยังไม่พัฒนาความมั่นคงคืบหน้าเท่าที่ควร เช่น ด้านนิวเคลียร์ยังร่วมมือการทางปฏิบัติไม่ได้ เนื่องจากสหรัฐวิตกเรื่องความปลอดภัยจึงไม่ให้บริษัทเอกชนเข้าไปติดตั้งเตาปฏิกรณ์ในอินเดีย ขณะที่ด้านซื้อขายอาวุธ สหรัฐไม่มีข้อตกลงด้านถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทหารให้อินเดีย ซึ่งต่างจากรัสเซีย อินเดียจึงจัดหาอาวุธจากสหรัฐไม่มากเท่าที่ควรนัก


แม้ว่าในอดีต นาย Narendra Modi เป็นผู้มีแนวคิดขวาจัด จนถึงขั้นเคยถูกสหรัฐ ปฏิเสธวีซ่าในข้อหาส่งเสริมความรุนแรงในแคว้น Gujarat ที่เขาเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของแคว้นมาก่อน แต่เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายกของทั้งประเทศอินเดียตั้งแต่ มิ.ย.57 เขาได้แสดงให้เห็นว่าเป็นนักปฏิบัติที่ยืดหยุ่นมากกว่ายึดมั่นกับหลักการจารีต ในปี 2557 อินเดียเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในด้านความมั่นคงกับสหรัฐหลายประการ เช่น ทร.อินเดียเข้าร่วมการฝึกร่วม RIMPAC ซึ่งเป็นการฝึกทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นครั้งแรก บรรลุข้อตกลงร่วมด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทหารระหว่างกัน นอกจากนี้นาย Modi ยังได้เดินทางเยือนสหรัฐ เมื่อ ก.ย.57 ด้วย ล่าสุด เมื่อประธานาธิบดี Obama เยือนอินเดีย ทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่อนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ ส่งออกเทคโนโลยีมายังอินเดียได้ และด้านการทหารที่ร่วมกันผลิตอากาศยานไร้นักบินและอุปกรณ์สำหรับ บ.C-130 การฝึกคอบร้าโกลด์ที่พึ่งผ่านไป อินเดียก็มาร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งแรกและช่วยสร้างอาคารให้ชาวบ้านในบางพื้นที่ด้วย


ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอินเดียยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก และจะกระชับความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างแนบแน่นระหว่างสหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลียและญี่ปุ่นต่อไป แนวทางดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นการปิดล้อมและถ่วงดุลจีนในเอเชีย โดยจีนไม่อาจขยายอิทธิพลในมหาสมุทรอินเดียได้สะดวก ขณะที่อินเดียอาจมีบทบาทในมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น การเพิ่มอินเดียเข้ามาเป็นตัวแปรที่สำคัญในฝ่ายสหรัฐ อาจทำให้ดุลยภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนไป ในการนี้เป็นเรื่องปกติที่ไทยในฐานะประเทศหน้าด่านของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจต้องรับมือกับข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายมากขึ้น ขณะที่มีโอกาสแสวงประโยชน์จากประเทศกำลังอำนาจเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน