ธุรกิจเอกชนร่วมลดสภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

ธุรกิจเอกชนร่วมลดสภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

เรื่องของสภาวะโลกร้อนที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์โลกวันนี้ มีความเชื่อว่าต้นเหตุของปัญหามาจากธุรกิอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้มนุษย์เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ผลตอบแทนที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ได้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกและสภาวะแวดล้อมถูกทำลายไปได้ในอัตราที่รวดเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติ

ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีส่วนโดยตรงกับการเร่งความทรุดโทรมของธรรมชาติ เมื่อมีโอกาสก็ควรหันกลับมามีส่วนร่วมในการแบ่งเบาภาระที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพธรรมชาติให้กลับคืนมาสู่สภาพที่ดีขึ้นในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน

ธุรกิจภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้อย่างน้อย 5 วิธี

วิธีที่ 1 คือ หาวิธีที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ

ก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG (Green House Gases) เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน เมื่อก๊าซเหล่านี้ถูกปลดปล่อยออกมา ก็จะมาปกคลุมบรรยากาศของโลกรอบนอกไว้ และเก็บกักความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่ให้ระบายออกไปได้ตามธรรมชาติ

ทำให้เกิดความร้อนอบอ้าวขึ้น เช่นเดียวกับความรู้สึกเมื่อเราเข้าไปในเรือนกระจกที่ใช้เพาะชำหรือใช้ปลูกต้นไม้

นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมได้ประเมินว่า หากจะทำให้อัตราที่โลกกำลังร้อนขึ้นในปัจจุบันไม่ให้เกิดขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ก็จะช่วยให้ปัญหาโลกร้อนบรรเทาลงไปได้

ดังนั้น ภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์โลกที่เราได้อาศัยอยู่ใบนี้ ควรจะกำหนดเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการต่างๆ ในการทำธุรกิจของตนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 หรือ 3% เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีที่ผ่านมา

ซึ่งจะทำให้การควบคุมอัตราโลกร้อนให้เป็นไปได้ตามที่นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณไว้ดังกล่าว

ก๊าซเรือนกระจกซึ่งนอกจากจะเกิดขึ้นจากการผลิตในอุตสาหกรรมโดยตรงแล้ว ยังรวมไปถึงการใช้พลังงานความร้อน การเผาไหม้ และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ

เช่น น้ำมันรถยนต์ที่ธุรกิจใช้ในการติดต่อธุรกิจ หรือให้ผู้บริหารใช้เป็นรถประจำตำแหน่ง น้ำมันรถบรรทุกที่บริษัทใช้ในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ตลอดจนถึงการเดินทางด้วยเครื่องบิน ที่เป็นยานพาหนะที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากเป็นพิเศษ

วิธีที่ 2 การหันมาใช้แหล่งพลังงานทดแทน

ธุรกิจควรหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนในแหล่งพลังงานทดแทนให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดการใช้แหล่งพลังงานจากปิโตรเลียมที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นของเหลือทิ้งจากการใช้พลังงานแล้ว ยังเป็นการลงทุนที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงานในอนาคตได้อีกด้วย

น้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม เป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วมีแต่จะหมดไป และจะหามาได้ยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกจะต้องใช้เวลานับล้านๆ ในการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมขึ้นมาทดแทน

และหากปริมาณลดน้อยลงไป ราคาหรือต้นทุนของพลังงานประเภทนี้ก็ย่อมจะสูงขึ้นเรื่อยๆ การใช้แหล่งพลังงานทดแทน เช่น พลังงานจากชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ก็จะมีความคุ้มค่าจากการลงทุนมากขึ้น

ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ควรเริ่มพิจารณาตั้งเป้าหมายในการลงทุนสำหรับพลังงานทางเลือกไว้ตั้งแต่ตอนนี้ และให้ถือว่าเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัทกลยุทธ์หนึ่ง

วิธีที่ 3 พิจารณาการใช้วัตถุดิบหรือวัสดุอื่นทดแทนวัตถุดิบหรือวัสดุที่ได้มาจากการทำลายป่าไม้ธรรมชาติ

มีข้อมูลทางสถิติที่พิสูจน์ได้ว่า การทำลายป่าไม้ธรรมชาติมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ถึงกว่า 15%

ดังนั้น การตัดสินใจของธุรกิจในการเลือกจัดซื้อวัสดุหรือวัตถุดิบที่ไม่มีต้นตอมาจากการทำลายป่า จึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการปกป้องและการช่วยบรรเทาสภาวะโลกร้อนได้อีกวิธีหนึ่ง

วิธีที่ 4 เข้าร่วมในโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

โดยความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศที่จะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน จึงมีการตกลงกันที่จะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโควต้าหรือข้อจำกัดที่ตกลงกันไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจใช้วิธีซื้อปริมาณโควตาจากประเทศที่ปล่อยก๊าซได้ต่ำกว่าข้อจำกัด ซึ่งเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต”

การกำหนดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงว่า คาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยออกมานั้น มีราคาต้นทุนเหมือนกัน ไม่ใช่จะสามารถปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมได้อย่างฟรีๆ

วิธีที่ 5 การประกาศนโยบายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมหรือนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม

บริษัทอาจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยการจัดทำนโยบายการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

และเมื่อได้ประกาศเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในการดำเนินธุรกิจแล้ว ผู้บริหารจะต้องยึดมั่นด้วยการสนับสนุนให้นโยบายเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านทรัพยากรต่างๆ ด้านการดูแลควบคุมให้มีการปฏิบัติตามนโยบายเพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นไปตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้

โดยส่วนใหญ่แล้วนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่บริษัทกำหนดขึ้น จะต้องแสดงความมุ่งมั่นที่มากกว่าสิ่งที่กฎหมายได้กำหนดไว้ให้ปฏิบัติตาม

นอกจากนี้การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องของสภาวะโลกร้อนไว้ในรายงานประจำปี หรือเอกสารเผยแพร่ของบริษัท ก็จะเป็นการยืนยันเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งถือได้ว่าเป็นพันธกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ในการทำธุรกิจสมัยใหม่