ราคาเอทานอลที่ควรจะเป็น เพื่อสร้างความเป็นธรรมสูงสุด

ราคาเอทานอลที่ควรจะเป็น เพื่อสร้างความเป็นธรรมสูงสุด

หนึ่งในข้อเท็จจริงด้านพลังงาน ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงและตั้งคำถามว่า เหตุใดราคาจำหน่ายเอทานอลในประเทศ

ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จึงมีราคาจำหน่ายแพงกว่าน้ำมันเบนซิน และแพงกว่าราคาเอทานอลในตลาดโลก จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในประเทศแพงตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นประเด็นด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทนในประเทศที่มีความอ่อนไหว ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้อธิบายกับท่านผู้อ่านทุกท่าน โดยเฉพาะข้อเท็จจริงราคาเอทานอลที่ควรจะเป็น และประเด็นที่เกี่ยวข้อง

เบื้องต้น ประเด็นราคาเอทานอลที่ขายอยู่ในปัจจุบัน ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าราคาสูงเกินไปหากเทียบกับราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่น (Ex-refinery price) นั้น อยากให้พิจารณาถึงค่าความร้อน (Heating Value) ที่พบว่าเอทานอลมีค่าความร้อนสูง (High Heating value) เท่ากับ 29.7 เมกะจูลต่อกิโลกรัม (MJ/kg) ส่วนน้ำมันเบนซินมีค่าความร้อนสูงเท่ากับ 47.3 MJ/kg ซึ่งเห็นได้ว่าเอทานอลมีค่าความร้อนคิดเป็นเพียงร้อยละ 62.8 ของน้ำมันเบนซินเท่านั้น จึงทำให้มีหลายคนมีความเห็นว่าราคาเอทานอลควรจะมีราคาเป็นสัดส่วนตามค่าความร้อนเมื่อเทียบจากราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่นด้วย ซึ่งหากมีการใช้สูตรราคาเอทานอลเท่ากับราคาร้อยละ 62.8 ของราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่นแล้ว คงไม่มีผู้ผลิตเอทานอลรายใดในประเทศสามารถผลิตเอทานอลมาขายในราคานี้ได้

โดยต้นทุนการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ซึ่งถือได้ว่ามีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ หากผู้ผลิตต้องซื้อกากน้ำตาลมาผลิตเป็นเอทานอลที่ราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนวัตถุดิบอยู่ที่ 16 บาทต่อลิตร (คิดที่อัตราการใช้กากน้ำตาลต่อการผลิตเอทานอลที่ 4 กิโลกรัมต่อ 1 ลิตรเอทานอล) เมื่อใช้สูตรราคาเอทานอลตามค่าความร้อนที่ร้อยละ 62.8 ของราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่นที่ระดับประมาณ 26 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน จะได้ราคาเอทานอลอยู่ที่ 16.32 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นว่าราคาตามสูตรนี้ได้ราคาเอทานอลแค่เท่ากับต้นทุนวัตถุดิบเท่านั้นเอง ยังไม่รวมค่าต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่ รวมถึงต้นทุนอื่นๆ โดยไม่ต้องพูดถึงผลกำไรของผู้ผลิตเอทานอลเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาต้นทุนของผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังยิ่งจะเห็นว่าจะยิ่งลำบากกว่าผู้ผลิตจากกากน้ำตาลเพราะมีต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า

นอกจากนี้ กรณีนโยบายกำหนดราคาซื้อขายเอทานอลคงที่ ต้องเรียนให้ทราบว่า ราคาเอทานอลอ้างอิงในปัจจุบันถือเป็นราคาเฉลี่ยจากราคาเอทานอลซื้อขายจริงในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้ค้าน้ำมันจะซื้อขายเอทานอลในสองรูปแบบคือ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Future buying) และการซื้อขายทันที (Spot buying) โดยส่วนมากจะทำการซื้อขายล่วงหน้าเป็นส่วนใหญ่เพื่อความมั่นคงในเรื่องการส่งมอบ โดยประเด็นการกำหนดราคาเอทานอลคงที่นั้น หากมีการกำหนดราคาสูงเกินไปจะทำให้เป็นภาระแก่ผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตเอทานอลในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเท่าที่ควร

ในทางการกลับกัน หากตั้งราคาเอทานอลคงที่ไว้ต่ำเกินไป ผู้ผลิตเอทานอลจะไม่สามารถจำหน่ายเอทานอลได้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าในการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าโรงงานเอทานอลจากกากน้ำตาล และจะส่งผลกระทบไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานเอทานอลโดยตรง ซึ่งเมื่อโรงงานเอทานอลไม่คุ้มค่าในการดำเนินการผลิตและจะต้องหยุดตัวเองลง จะทำให้เอทานอลขาดแคลนฉับพลัน ส่งผลให้ประเทศอาจต้องสูญเสียเงินตรานำเข้าน้ำมันเบนซินมาเพิ่มเติม ดังนั้นหากจะกำหนดราคาเอทานอลคงที่ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อนโยบายส่งเสริมเอทานอลในภาพรวม

สำหรับการกำหนดราคาเอทานอลนั้น ส่วนหนึ่งอยากให้คำนึงถึงมูลค่า (Value) ของเอทานอลในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากมูลค่าตามค่าความร้อน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้น้ำมันเบนซินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม หรือในด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เนื่องจากเอทานอลสามารถผลิตได้ในประเทศทำให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ รวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจมีการสร้างงานสร้างรายได้ทั้งจากการจ้างแรงงาน และเสริมสร้างเสถียรภาพทางราคาพืชพลการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลอีกด้วย

สุดท้าย เมื่อพิจารณาราคาเอทานอลในปัจจุบันที่ระดับราคา 25 - 26 บาทต่อลิตร ก็น่าจะเป็นราคาที่ไม่สูงเกินไปสำหรับผู้บริโภคที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะ Climate Change ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงแบบประเมินค่ามิได้ต่อมวลมนุษยชาติ

อย่างไรก็ตาม สูตรการคำนวณราคาเอทานอล ควรจะอยู่ที่ระดับไหนถึงจะถือได้ว่าเหมาะสมนั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่ภาครัฐยังต้องหาจุดที่สมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้บริโภค ผู้ผลิตเอทานอล สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติโดยรวมเป็นสำคัญต่อไป