ค่าเงินบาทวันนี้ 29 เม.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ ดอลลาร์แข็งค่า-ราคาทองย่อลง

ค่าเงินบาทวันนี้ 29 เม.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ ดอลลาร์แข็งค่า-ราคาทองย่อลง

ค่าเงินบาทวันนี้ 26 เม.ย.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 36.95 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดผิดหวังธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่เข้าแทรกแซงค่าเงิน เยนอ่อนค่า หนุนดอลลาร์แข็งค่า และราคาทองย่อลง ยังคงกดดันบาทอ่อนค่าต่อได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.90-37.10 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.98 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.95 บาทต่อดอลลาร์  

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.50- 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.10 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ 29 เม.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ ดอลลาร์แข็งค่า-ราคาทองย่อลง

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 36.90-37.05 บาทต่อดอลลาร์) ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ และราคาทองคำ โดยเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ไปตามการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อีกทั้งทางการญี่ปุ่นก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงค่าเงิน ตั้งแต่ช่วงเงินเยนอ่อนค่าทะลุระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์ อย่างที่ผู้เล่นในตลาดได้กังวลไว้ 

นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็มีส่วนกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงบ้าง ซึ่งผู้เล่นในตลาดยังคงรอจังหวะดังกล่าวเพื่อทยอยเข้าซื้อทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็มีส่วนทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง 

แนวโน้มค่าเงินบาท

แนวโน้มค่าเงินบาท  เรามองว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าได้ชะลอลง แต่ต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ที่อาจยังคงกดดันเงินบาทได้ ส่วนโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติราว 1.2 หมื่นล้านบาท) ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ลดแรงกดดันต่อเงินบาท ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และค่าเงินเยนญี่ปุ่น (ที่อาจผันผวนหนัก หากทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินได้จริง ตามที่ตลาดกังวล)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และเฟดเริ่มส่งสัญญาณว่ามีโอกาส “ขึ้น” ดอกเบี้ยได้ ถ้าจำเป็น ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจพอได้แรงหนุนบ้าง หากเงินเยนญี่ปุ่นยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยปราศจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดไปทั้งหมด

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุม FOMC ของเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เป็นต้น

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งเราคาดว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25%-5.50% ทว่า เฟดอาจมีการสื่อสารในโทน Hawkish มากขึ้น เช่น ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจว่าคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินมากนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้ไปมากแล้ว (ล่าสุด ตลาดมองเฟดมีโอกาสเพียง 37% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง) แต่ต้องระวังความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจสูงขึ้น หากเฟดส่งสัญญาณว่า พร้อมขึ้นดอกเบี้ยได้ ถ้าจำเป็น อนึ่ง เรามองว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควรในสัปดาห์นี้ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย ISM (Manufacturing and Services PMIs) เดือนเมษายน รวมถึง รายงานข้อมูลตลาดแรงงาน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) และอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2024 โดยเฉพาะบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ และกลุ่ม Semiconductor ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ผลประกอบการของบริษัทดังกล่าวอาจออกมาสดใส ตามอานิสงส์ AI Boom

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า มีโอกาสราว 73% ที่ ECB จะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน (มีโอกาส 66% ที่จะลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้) โดยหากอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนชะลอลงมากกว่าคาด ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยดังกล่าวของ ECB ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน ในเดือนเมษายน ซึ่งหากดัชนีดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับ 50 จุด ก็จะสะท้อนภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์จีนมากขึ้น ซึ่งพอจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินหยวนจีน (CNY) ได้บ้าง ทั้งนี้ เรามองว่า ควรเฝ้าระวังความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงค่าเงิน หลังค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำสถิติใหม่ในรอบหลายสิบปี โดยเราประเมินว่า ทางการญี่ปุ่นอาจเพียงรอจังหวะที่เหมาะสม เช่น สภาพคล่องและปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดที่เบาบางลง (ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นวันหยุดยาว Golden Week ของทางญี่ปุ่น) รวมถึงจังหวะที่ธีม US Exceptionalism เริ่มเปลี่ยนไปบ้าง จนทำให้เงินดอลลาร์เริ่มแกว่งตัว sideways หรือย่อลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด

▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะสูงราว 1.2 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะ ยอดการส่งออก-นำเข้า ดัชนี PMI ภาคการผลิต รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ ก็อาจช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้างและช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้