ปรัชญาสุดฮิต : ร้อนเพิ่มเย็น เย็นเพิ่มร้อน

ปรัชญาสุดฮิต : ร้อนเพิ่มเย็น เย็นเพิ่มร้อน

ในเมืองจีนยุคใหม่นั้น กำลังเกิดกระแสสังคมหวนกลับมานิยมปรัชญาจีนโบราณ

จนมีผู้ประเมินว่า ตำราโบราณของขงจื๊อ (“หลุนหยู่”) กลับมาติดอันดับหนังสือภาษาจีนที่มียอดพิมพ์สูงสุดหนึ่งในสิบอันดับของรอบปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว วันนี้ผมเลยขอเปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องหนักๆ มาเป็นเรื่องสบายๆ ด้วยนิทานปรัชญาจีนเบาๆ ซึ่งผมคิดว่าสะท้อนเอกลักษณ์คำสอนของขงจื๊อ และชี้ให้เห็นว่าทำไมคำสอนโบราณอย่างขงจื๊อจึงยังคงได้รับความนิยมในประเทศจีนยุคทุนนิยมเบ่งบานอย่างในสมัยนี้

นิทานเรื่องนี้เล่าว่า มีลูกศิษย์ขงจื๊อสองคนอ่านตำราโบราณพบข้อความว่า "เมื่อได้ยินคำแนะนำก็ควรรีบนำไปปฏิบัติทันที" จึงนำข้อความมาถามอาจารย์

ลูกศิษย์คนแรกมาพบขงจื๊อแต่เช้าถามอาจารย์ว่า "เมื่อได้ยินคำแนะนำก็ควรรีบนำไปปฏิบัติทันทีใช่ไหมครับ" ขงจื๊อตอบว่าพ่อแม่และพี่คนโตยังอยู่ไม่ปรึกษาท่านให้ดีก่อนฟังแล้วรีบไปทำเลยจะใช้ได้อย่างไร ลูกศิษย์หน้าเจื่อนลากลับออกไป

ลูกศิษย์คนที่สองมาถึงบ่ายๆ เข้าพบอาจารย์และถามว่า "เมื่อได้ยินคำแนะนำก็ควรรีบนำไปปฏิบัติทันทีใช่ไหมครับ" ขงจื๊อตอบว่า "ได้ยินแล้วก็ควรรีบนำไปทำ" ลูกศิษย์คนที่สองฟังแล้วก็กลับออกไป

กงซีหัวลูกศิษย์ที่นั่งโบกพัดและจดบันทึกอยู่ข้างๆ เลยงง กับคนหนึ่งอาจารย์บอกว่าต้องปรึกษาพ่อแม่พี่ชายก่อน แต่กับอีกคนหนึ่งอาจารย์บอกฟังแล้วต้องทำเลย สองคนนั้นถามข้อความเดียวกันแท้ๆ ทำไมอาจารย์เช้าตอบอย่าง บ่ายตอบอย่างล่ะครับ (อาจารย์เล่นกลับไปกลับมาอย่างนี้ผมจดบันทึกคำสอนไม่ถูก)

ขงจื๊อตอบว่าลูกศิษย์คนแรกเป็นคนมุทะลุดุดันใจร้อนเป็นไฟฉันจึงต้องตักเตือนว่าจะทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบพิจารณาให้รอบด้านก่อน ลูกศิษย์คนที่สองเป็นคนโลเลตัดสินใจอะไรไม่ได้ฉันจึงต้องกระตุ้นให้เขาเด็ดขาดกล้าลงมือทำ

นิทานเรื่องนี้สะท้อนว่า ปรัชญาจีนไม่มีคำสอนตายตัวไม่มีเหตุผลตายด้านคนเราแต่ละคนลักษณะนิสัยใจคอไม่เหมือนกันดังนั้นขงจื๊อจึงสอนว่าเราต้องฝึกสำรวจตัวเอง

หนึ่งคือ ต้องรู้จักและต้องซื่อตรงต่อตัวเอง

สองคือ ต้องรู้จักปรับระดับตัวเองให้เหมาะสมให้พอเหมาะพอควรไม่อ่อนไปไม่แข็งไปไม่ร้อนไปไม่เย็นไป

คนที่อ่อนต้องเพิ่มแข็ง คนที่แข็งต้องเพิ่มอ่อน คนที่ร้อนต้องเพิ่มเย็น คนที่เย็นต้องเพิ่มร้อน การฝึกฝนขัดเกลาตัวเองของขงจื๊อก็คือการปรับตัวเองเข้าใจและดัดพื้นฐานนิสัยเดิมของตนให้พอดีไม่มากไปไม่น้อยไป

เป็นอย่างไรบ้างครับ แนวทางการขัดเกลาตนเองของขงจื๊อฟังดูน่าสนใจ เข้ากับยุคสมัยที่แต่ละบุคคลพยายามพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อแข่งขันในสนามรบทางเศรษฐกิจไหมครับ

มีนักปรัชญาจีนชื่อดัง สรุปเหตุผลที่คำสอนของขงจื๊อกลับมาได้รับคำนิยมอย่างมากในสังคมจีนยุคใหม่ ว่าเป็นเพราะคำสอนของขงจื๊อสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล แต่ละยุคสมัย และแต่ละสถานการณ์ พูดง่ายๆ คือ เป็นคำสอนที่มีเนื้อหากว้าง และไม่ตายด้าน ทำให้แต่ละคนเลือกหยิบสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และกับสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน

คนจีนยุคใหม่ที่ต้องแบกรับความกดดันจากการแข่งขันในสนามรบทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรง จึงเริ่มถวิลหารากเหง้าทางความคิดของสังคมตน ประมาณอารมณ์เดียวกับที่สำนักปฏิบัติธรรมและอาจารย์สอนธรรมะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น (แทนที่จะลดลง) ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน เพราะคนรุ่นใหม่ต่างต้องการหาที่พึ่งทางใจ และก็มักหวนกลับไปให้ความสนใจคำสอน (และนิทาน) โบราณที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีเสน่ห์สะกิดเตือนใจผู้คนมาได้ยาวนานเป็นพันๆ ปี

แม้กระทั่งท่านผู้นำ สี จิ้นผิง ก็ยังได้หยิบยืมวาทะเด็ดหลากหลายของขงจื๊อมาใช้ในสุนทรพจน์ของท่าน เสริมภาพลักษณ์ผู้นำที่ทรงภูมิปัญญาและแตกฉานในวัฒนธรรมและปรัชญาโบราณของจีนจนมีหนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่งนำสุนทรพจน์เหล่านี้ไปรวบรวมเป็นบทความพิเศษเลยทีเดียว

นอกจากที่หนังสือคำสอนของขงจื๊อจะกลับมาขายดีวางเด่นตามร้านหนังสือทั่วประเทศจีนแล้ว ยังมีอาจารย์สอนปรัชญาชื่อดังชาวจีนอีกจำนวนไม่น้อยที่เปิดโรงเรียน เปิดคอร์สอบรม ขายดีวีดีสอนปรัชญา สนองความต้องการของตลาด เรียกว่าชื่อโบราณๆ อย่างขงจื๊อกลับมากลายเป็นแบรนด์ยาสามัญประจำบ้านของคนจีนยุคใหม่ก็ว่าได้

ก่อนจบบทความในวันนี้ ผมขอฝากข่าวสัมมนางานยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 3 ซึ่งจะจัดโดยศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานด้านการวิจัยที่สำคัญของประเทศจีน กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค 2557 ณ Bangkok Convention Center โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ (เซ็นทรัลเวิลด์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.vijaichina.com

ไฮไลต์พิเศษสุด ในวันที่ 8 ส.ค. 2557 ช่วงเช้า จะมีปาฐกถาพิเศษเรื่องยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน โดยสองนักยุทธศาสตร์คนสำคัญของไทย คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ งานนี้เรียกว่าพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง!