อิทธิพลมังกรจีนในอาเซียน

อิทธิพลมังกรจีนในอาเซียน

ณ วินาทีนี้ มหาอำนาจจีนเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในอาเซียนอย่างเต็มตัวแล้ว ทั้งด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว

นับเป็นความสำเร็จของนโยบาย “รุกลงใต้” (Look South Policy) ของจีนที่ได้มุ่งมั่นและตั้งใจหันมาคบค้ากับเพื่อนอาเซียนที่อยู่ทางใต้ของแดนมังกร มาตั้งแต่ปี 2000

จีนได้ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน และ 10 ประเทศในอาเซียนรวมกันก็เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน โดยเฉพาะสินค้าจีนได้เข้ามาทะลุทะลวงเจาะตลาดอาเซียน จนทำให้ยอดนำเข้าสินค้าจีนของอาเซียนขยายสัดส่วนเพิ่มจากร้อยละ 8.5 ของการนำเข้าทั้งหมดของอาเซียนในปี 2003 ขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 16.9 ในปี 2013 ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของผู้นำจีนที่จะเบนเข็มมาคบค้ากับอาเซียนให้มากขึ้น ในปี 2013 การค้าระหว่างจีน-อาเซียนมีมูลค่าสูงถึง 443,600 ล้านดอลลาร์

ในขณะนี้ ประเทศอาเซียนที่ค้าขายกับจีนมากที่สุด ไม่ใช่สิงคโปร์ แต่กลับเป็นดินแดนเสือเหลือง คือ มาเลเซีย ด้วยมูลค่าการค้าสูงถึง 106,070 ล้านดอลลาร์

การค้าจีน-มาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่าเพียง 11,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2002 เพิ่มเป็นหลักแสนล้านดอลลาร์อย่างรวดเร็ว มาเลเซียยังผงาดขึ้นเป็นคู่ค้าจีนในเอเชียที่ใหญ่ติดอันดับ 3 (รองจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ในทางกลับกัน จีนก็ได้ขยับขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของมาเลเซียตั้งแต่ปี 2008

อะไรหนอที่ทำให้การค้ามาเลเซีย-จีนมีมูลค่าสูงลิ่วเช่นนี้ คำตอบ คือ สินค้าที่มาเลเซียส่งออกไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high value added) โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดจากมาเลเซียไปจีน นอกจากนี้ มาเลเซียยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอย่างปาล์มน้ำมันไปจีน โดยสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดจีนมากถึงร้อยละ 60 ของปาล์มน้ำมันนำเข้าทั้งหมดของจีน

อีกประเทศในอาเซียนที่น่าจับตามอง คือ เวียดนาม ในปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวการค้ากับจีนสูงถึงร้อยละ 29.8 ทำให้เวียดนามขยับขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของจีนในอาเซียน ด้วยมูลค่าการค้ารวม 65,480 ล้านดอลลาร์

หันมามองประเทศไทยกันบ้าง รัฐบาลไทยชุดนี้ชอบอวดโอ้ว่ามีความสัมพันธ์สุดแนบแน่นกับรัฐบาลจีน (มีปัญหาอะไร ก็ชอบอ้างว่า จะให้จีนช่วย) ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกลับหล่นลงมาเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีนในอาเซียน (โดนสิงคโปร์แซงกลับขึ้นมาเป็นเบอร์ 2) เนื่องด้วยสารพัดเหตุผล ทำให้การค้าไทย-จีนเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 2.2 ตัวเลขปี 2013 มีมูลค่าการค้ารวมกับจีน 71,260 ล้านดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบกับแชมป์เบอร์หนึ่ง พบว่า การค้าไทย-จีนมีมูลค่าน้อยกว่าการค้ามาเลเซีย-จีนอย่างลิบลับ จึงชัดเจนแล้วว่า ไทยแลนด์มิใช่คู่ค้าหลักของจีน

หากแต่ในทางกลับกัน มังกรจีนได้กลายมาเป็นคู่ค้าที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับไทย ด้วยกระแส “เกาะจีนโต” ทำให้ไทยต้องพึ่งพาจีนเป็นอย่างมาก ณ พ.ศ.นี้ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนเข้ามามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยมากเพียงใด ล่าสุด ในปี 2013 จีนสามารถแซงญี่ปุ่นขึ้นแชมป์คู่ค้าไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ด้วยสัดส่วนการค้ากับจีนสูงถึงร้อยละ 13.6 ของการค้าต่างประเทศทั้งหมดของไทย (ตามมาด้วยอันดับ 2 และ 3 คือ ญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 13.2 และสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 7.8)

เรามาดูอิทธิพลของมังกรจีนด้านการลงทุนในอาเซียนกันบ้าง ในขณะนี้ การลงทุนของจีนในหลายประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์จีน ในปี 2013 การลงทุนของจีนใน 10 ประเทศอาเซียนรวมกันมีมูลค่า 5,740 ล้านดอลลาร์ โดยมีสิงคโปร์เป็นประเทศในอาเซียนที่จีนเข้าไปลงทุนมากที่สุดด้วยมูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยอันดับ 2 และ 3 คือ ลาวและอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ และ 760 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

กรณีของไทย นักธุรกิจจีนได้รุกคืบเข้ามาปักหลักลงทุนในแผ่นดินไทยเพิ่มขึ้นมาก และมีรูปแบบลักษณะธุรกิจที่หลากหลาย มีทั้งรายเล็กรายน้อยไปจนถึงรายใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนมหาศาล นักธุรกิจจีนหลายรายเน้นลงทุนเพื่อแปรรูปวัตถุดิบเกษตรที่สำคัญของไทย เช่น มันสำปะหลัง และยางพารา

ขอยกกรณีตัวอย่างของกลุ่มหลิงหลง ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์รายใหญ่ของจีนจนติด 20 อันดับแรกของโลก ทุนจีนจากมณฑลซานตงกลุ่มนี้ได้เข้ามาตั้ง “บริษัท หลิงหลง ยางรถยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด” เพื่อสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ในจังหวัดระยองบนที่ดินกว่า 300 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โครงการของทุนจีนรายนี้มีมูลค่าการลงทุนรวม 3,500 ล้านบาท และตั้งเป้าจะผลิตยางเรเดียล ราว 2ล้านเส้นต่อปี

ก่อนจะจบ ขอย้ำว่า อิทธิพลของจีนในอาเซียนไม่ได้มีเฉพาะด้านการค้าหรือการลงทุน หากยังรวมไปถึงภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนได้เดินทางมาภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากตัวเลขปี 2012 ชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในอาเซียนรวมกันราว 12.27 ล้านคน ในจำนวนนี้ นิยมเดินทางมาเมืองไทยมากที่สุด รองลงมา คือ เวียดนาม และกัมพูชา

บทความวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในงานสัมมนา “มหาอำนาจจีน : อิทธิพลทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงต่อภูมิภาคอาเซียน” จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 26 มีนาคม ณ ห้องประชุมกรมข่าวทหารบก กองบัญชาการกองทัพบก โดยความร่วมมือกับศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งวช. งานนี้ ฟรีค่ะ หากสนใจสามารถอีเมล์แจ้งชื่อเข้าร่วมงานได้ที่ [email protected] หรือ fax 02 297 7227