นายกฯเอาไหม?.. แอร์บัส 340-500

นายกฯเอาไหม?.. แอร์บัส 340-500

การบินไทยวันนี้ ตกอยู่ในสถานการณ์ "ผีซ้ำด้ำพลอย" เรียกว่า "ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก"

เมื่อตอนดึกวันที่ 8 ก.ย.2556 ที่ผ่านมา เครื่องบินแบบ แอร์บัส เอ 330-300 เครื่องบิน ทีจี 679 บินจากกว่างโจว ประเทศจีน ก็เกิดอุบัติเหตุไถลออกนอกทางวิ่ง (RUN WAY) ขณะลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารทั้งคนไทยและต่างชาติได้รับบาดเจ็บนับสิบราย เหตุการณ์นี้ ทำเอาตื่นตระหนกกันมารอบหนึ่งแล้ว

แม้จะเป็นอุบัติเหตุ แต่การบินไทยก็หนีความรับผิดชอบไม่พ้น เพราะในเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้โดยสารบางส่วนก็บอกว่าการช่วยเหลืออยู่ในระดับดี บ้างก็บอกว่ายังต้องปรับปรุง ฉะนั้นอะไรก็ตาม ที่ยังเป็นข้อ "กังขา" การบินไทยก็ต้องรับไปแก้ไข

ส่วนเรื่องที่หนักอกหนักใจ ของฝ่ายบริหารการบินไทยอยู่ในเวลานี้ เห็นจะเป็นเรื่องของการ ขายเครื่องบินเก่า แอร์บัส เอ 340-500 ที่ครอบครองอยู่ถึง 4 ลำ การบินไทยจะทำอย่างไรดีกับเครื่องเจ้ากรรมทั้งหมดที่มีอยู่! นี่แหละ เวลาคิดจะซื้อไม่คำนึงถึง พอซื้อมาแล้ว ใช้งานได้คุ้มสักเท่าไหร่

บ่อยครั้งที่การจัดหาเครื่องบินของการบินไทย มักไม่ได้เกิดจากฝ่ายบริหารโดยแท้จริง แต่มีแรงกดดันจากภายนอกแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องโบอิงหรือแอร์บัส ตัวอย่างเห็นกันชัดๆ เครื่องบิน แอร์บัส เอ 340-500 ที่คนการบินไทยไม่เห็นด้วย แต่ก็ "กลืนไม่เข้า คายไม่ออก" เพราะเห็นว่า เครื่องใหญ่ ที่มีถึง 4 เครื่องยนต์นี้ สิ้นเปลืองการใช้น้ำมันอย่างมาก

แต่ความคิดในเชิงการเมืองที่แฝงด้วย "ค่าคอมมิชชั่น" ขณะนั้น ว่ากันว่า "สูงกว่าความคุ้มค่า" ในการนำมาใช้งานมากกว่า

ไม่รู้ว่า ฝ่ายบริหารการบินไทยขณะนั้น ถูกกระแสกดดันจากการเมืองหรือคนกลุ่มใดที่บีบบังคับให้เปิดเส้นทางบินตรง "กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก" เหมือนไม่คิดคำนวณ ถึงความเป็นไปได้ว่า จะมีผู้โดยสารสักเท่าไหร่

ปรากฏว่าหลังจากเปิดเส้นทาง เมื่อ 1 พ.ค.2548 บินได้ 3 ปี ก็ต้องยกเลิก เพราะขาดทุนต่อเนื่องทุกปี รวมแล้วกว่า 7 พันล้านบาท และระหว่างทำการบินอยู่นั้น ก็มีการพูดถึงความเสียหายต่อการเปิดเส้นทางนี้อย่างมาก บางเที่ยวบิน มีผู้โดยสารไม่ถึง 100 คน ทั้งที่เครื่องรุ่นนี้ บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 320 ที่นั่ง เพราะเป็นเครื่องบิน พิสัยไกล

หลังจากต้องหยุดทำการบินไปเมื่อเดือน ก.ค.2551 การบินไทยก็ต้องจอดเครื่องรุ่นนี้ ทั้ง 4 ลำ ไว้ที่สนามบินดอนเมือง พร้อมกับประกาศขายให้ผู้สนใจ แต่การขายเครื่องบินรุ่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะได้ราคาสูงอย่างที่ต้องการ เพราะ "เครื่องรุ่นนี้ตลาดเขาไม่เล่นกันแล้ว"

การจอดเครื่องทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ทำการบิน ยังก่อให้เกิดความด้อยค่า แค่ครึ่งปีก็ด้อยค่าลงไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท ฉะนั้น หากการตัดสินใจ "ไม่เด็ดขาด" ว่าจะจัดการอย่างไรกับเครื่องบินรุ่นนี้ ก็เท่ากับว่า ความด้อยค่าของเครื่องก็จะลดลงไปเรื่อยๆ

ล่าสุด มีข่าวครึกโครม หลังจาก AVCON Worldwide เป็นตัวแทนได้ยื่นข้อเสนอซื้อเครื่องแอร์บัส เอ 340-500 ในราคา 23.5 ล้านดอลลาร์ให้กับ เจ้าชายไฟซาล แห่งซาอุดีอาระเบีย แต่ราคาที่เสนอซื้อ กลับทำให้บอร์ดการบินไทย เกิดอาการชะงัก ไม่กล้าอนุมัติ เพราะไม่มั่นใจเรื่อง "ราคา" ที่จะขายออกไป จนกระทั่งฝ่ายที่อยากซื้อ ทวงถามมาว่า จะขายหรือไม่ ดังนั้นการลังเล ไม่ตัดสินใจอย่างนี้ อาจทำให้เสียโอกาส

หรืออีกทางเลือกของการบินไทย คือ หากไม่กล้าขายให้ เจ้าชายไฟซาล บอร์ดการบินไทย ก็น่าจะเสนอขายให้กับรัฐบาลเสียเลย ไหนๆ รัฐบาล ก็มีแผนที่จะเสนอซื้อ เครื่องบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญอยู่ 2-3 ลำ ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทแล้ว หากเป็นไปได้ ก็เสนอให้รัฐบาลซื้อเครื่องแอร์บัส เอ 340-500 เสียเลย ซึ่งเชื่อว่าราคาน่าจะถูกกว่าที่รัฐบาลกำลังจะซื้ออยู่มาก

เงินส่วนที่เหลือ ก็ยังสามารถนำมาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่องบินได้อีก อย่างน้อยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะได้มีเครื่องบินใช้ในราชการต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบาย เพราะทุกวันนี้ ภารกิจในต่างประเทศของนายกฯ ก็มีทริป บินถี่ยิบอยู่แล้ว

ทางเลือกนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการบินไทย ถ้าไม่ขายให้ต่างชาติ ก็ตัดปัญหา ขายราคาถูกๆ ให้รัฐบาลไทยไปซะ!