วิบากกรรมของรัฐธรรมนูญแห่งมหาจักรวรรดิญี่ปุ่น (2)

วิบากกรรมของรัฐธรรมนูญแห่งมหาจักรวรรดิญี่ปุ่น (2)

ลักษณะของการเมืองตั้งแต่ปี 1927 จนถึงการผ่านแพ้สงครามของญี่ปุ่นเริ่มสะท้อนอิทธิพลของฝ่ายทหารที่มีต่อรัฐบาลที่สูงขึ้น

ความเดิมตอนที่แล้ว

รัฐธรรมนูญแห่งมหาจักรวรรดิมีหลักใหญ่ตามการกำกับของอิโต ฮิโรบุมิ พระจักรพรรดิทรงไว้ซึ่งอำนาจในการบังคับบัญชากองทัพและการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ประจำและทหาร ร่างพระราชบัญญัติไม่ผ่านสภาใดให้ถือตกไป งบประมาณประจำและการทหารไม่อาจตัดทอนได้

นายทหารในกองทัพส่วนใหญ่มีที่มาจากนักรบแคว้นต่างๆ และส่วนใหญ่กลายเป็นข้าราชการในพระองค์ของพระจักรพรรดิ

ใน 3-4 ปีแรก สภาล่างที่ส่วนใหญ่มาจากชาวนา เผชิญหน้ากับรัฐบาลด้วยเรื่องภาระภาษีที่นา หลังจากนั้นพรรคการเมืองใหญ่ๆ ก็มีทหารเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การขึ้นภาษีเพื่อรองรับการขยายกองทัพและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอาใจประชาชน ในระยะเวลา 35 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ เซอิยูไค เป็นรัฐบาล เกินกว่าร้อยละ 80 ทั้งจำนวนครั้งและระยะเวลา การแทรกแซงจากขุนนางอาวุโสของพระจักรพรรดิในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นหลายครั้ง ส่วนการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีอื่นๆ เป็นไปตามสถานการณ์ของบ้านเมือง แต่ส่วนใหญ่มีอายุสั้น แต่ที่สำคัญคือ ฝ่ายทหารค่อนข้างมีอิทธิพลต่อรัฐบาล


ตอนหลัง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 1927 หรือรัฐบาลของทานากะ งิอิจิ เป็นต้นไป นโยบายต่างประเทศ ของเซอิยูไคได้เปลี่ยนแปลง 180 องศา เป็นนโยบายแข็งกร้าวหรือรุกรานจีนแทน ตั้งแต่การส่งกองทัพ ไปรักษาสิทธิประโยชน์ในมองโกเลียและแมนจูเรีย จนกระทั่งการยึดครองมณฑลซานตงและขัดขวาง กองทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบกบฏขุนศึกของเจียงไคเช็ค ทานากะถึงกับส่งเสริมให้นายทหารระดับกลาง ตั้งเป็นกลุ่มโมขุโยไค ได้แก่ นางาตะ เทสึซัน, โตโจ ฮิเดกิ, อิชิฮารา คันยิ ซึ่งสองคนแกนนำของการทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภายหลัง

ในปี 1927 เคนเซอิไค เปลี่ยนชื่อเป็น มินเซอิโต กลับมาเป็นพรรครัฐบาลอีกครั้งในปี 1929 และดำเนินนโยบายต่างจากเซอิยูไคโดยสิ้นเชิง คือ ใช้นโยบายผ่อนปรนต่อจีน กลับไประบบอัตราแลก เปลี่ยนที่อิงกับทองคำ และ ยอมรับข้อตกลงระหว่างประเทศปี 1930 ที่ให้กองทัพเรือมีสัดส่วนเรือรบ เป็น 60% ของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องแรกและเรื่องหลังสร้างความไม่พอใจให้แก่กองทัพ เป็นอย่างมาก เรื่องของกองทัพเรือนำไปสู่ข้อถกเถียงการตีความของรัฐธรรมนูอย่างกว้างขวาง ฝ่ายกองทัพอ้างว่า กองทัพขึ้นตรงต่อพระจักรพรรดิ ฝ่ายรัฐบาลจึงมายุ่งเยี่ยวกับเรื่องของกองทัพไม่ได้ ส่วนรัฐบาลอ้างว่า การบังคับบัญชากองทัพเป็นเรื่องของการรบเท่านั้น ส่วนการใช้ระบบทองคำทำให้ สินค้าญี่ปุ่นแพงขึ้นมากเมื่อเทียบกับสินค้าประเทศอื่น ทำให้ส่งออกไม่ได้ เศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก

ปี 1931 เกิดเหตุการณ์แมนจูเรีย ซึ่งรถไฟของญี่ปุ่นถูกระเบิด ประวัติศาสตร์ของจีนเรียกว่า “กรณี 18 กันยายน” และอ้างว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของกองทัพญี่ปุ่นเอง เพราะว่าหลังจากนั้น กองทัพญี่ปุ่นมีการบุกอย่างขนานใหญ่ แต่ฝ่ายญี่ปุ่นอ้างว่าชาวจีนเป็นฝ่ายก่อวินาศกรรม แต่ที่น่า สังเกตคือ เหตุการณ์เกิดในจีนและญี่ปุ่นไปทำอะไรในจีนที่ไม่ใช่ประเทศของตนเอง ในปีเดียวกันนั้น ยังมีการถกเถียงกันเรื่องระบบอัตราแลกเปลี่ยนทองคำกันมาก จนกระทั่ง ไซออนยิ คินโมจิ ขุนนาง อาวุโสเข้ามาแทรกแซงการตั้งนายกรัฐมนตรีโดยให้ อินุไค สึโยชิ หัวหน้าพรรคเสียงข้างน้อยรับตำแหน่ง

ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1932 เซอิยูไค จึงมีชัยชนะและกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง เนื่อง มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและราคาพืชผลที่ตกต่ำได้ที่นั่งถึง 303 จากทั้งหมด 466 ที่นั่ง อินุไคจัด ตั้งรัฐบาลโดยมี อารางิ ซาดาโอะ เป็นรัฐมนตรีกองทัพบกและจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดของประเทศ แมนจูเรีย ตามความต้องการของกองทัพ อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจของกองทัพนำไปสู่เหตุการณ์ 15 พฤษภาคม 1932 ที่มีนายทหารเรือ 12 นายและนายทหารบก 6 นาย บุกยิงนายกรัฐมนตรี อินุไค สึโยชิ อดีตรัฐมนตรีคลัง และ ผู้จัดการบริษัทมิตซุย

หลังเหตุการณ์ 15 พฤษภา ไซโต มะโคโตะ นายพลเรือเป็นนายกรัฐมนตรีในสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ” (ไม่ใช่พรรคการเมือง) ในปี 1933 ญี่ปุ่นได้ถูกสังคมโลกตำหนิเป็นอย่างมากผ่านทางสันติบาตชาติเกี่ยวกับกรณีแมนจูเรีย ญี่ปุ่นจึงถอนตัวจากสันติบาตชาติในปีนั้นเอง ปี 1934 โอกาดะ เคอิสุเกะ นายพลเรือเช่นเดียวกัน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้เอาชื่อรัฐมนตรีที่มาจากเซอิยูไค ที่มีเสียงข้างมากออกไปทั้งหมด ทำให้เซอิยูไค กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านไปโดยปริยาย ในเวลาเดียวกับที่ฝ่ายทหารพยายามเข้ามามีบทบาทในการควบคุมรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ ฝ่ายทหารเองก็ยังแบ่งออกเป็น พวกที่เตรียมการเพื่อทำสงครามเต็มรูปแบบกับจีนและรัสเซียอย่าง นายพลนางาตะ เทสึซัน หรือ โทเซอิหะ และ พวกที่ยอมให้ทหารเรือหนุ่มเข้ามามีบทบาทอย่าง อารางิ ซาคาโอะกะ หรือ โอโดหะ (ฝ่ายจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ) ทั้งสองฝ่ายนี้ต่างเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ถ้าจะกล่าวโดยง่ายคือ สภาวะในขณะนั้นมีการแตกแยกเป็นสองฝ่ายทั้งภายในกองทัพเอง พรรคการเมืองแต่ละพรรค และ ในบรรดาข้าราชการประจำเอง

ขณะนั้นเป็นเวลาที่ใกล้กับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในปี 1936 เซอิยูไคมีเสียงข้างมากแต่ ถูกรังเกียจจากประชาชนว่าใกล้ชิดกับทหาร จึงกลัวว่า มินเซอิโตจะกลายเป็นเสียงข้างมากหลังการ เลือกตั้งทั่วไป เซอิยูไคจึงพยายามหาทางเป็นรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง โดยเน้นที่ประเด็นแรก ความชอบธรรมของเสียงข้างมาก และ ประเด็นที่สอง การโจมตีพวกที่ถือเอาพระจักรพรรดิเป็นเพียง องค์กรหนึ่งในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประชาชนทั่วไปยังคงคิดว่าพระจักรพรรดิคือผู้ปกครองที่แท้จริง ประเด็นหลังนี้เป็นการพุ่งเป้าไปที่โอกาดะ นายกรัฐมนตรีให้ลาออก

อย่างไรก็ตาม โทเซอิหะได้ลงมือก่อนโดยถวายคำแนะนำต่อพระจักรพรรดิให้ปลดผู้บัญชาการ ฝ่ายการศึกษา ผ่านกลุ่มของขุนนางอาวุโส ไชออนยิ คินโมจิ และคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อื่นๆ ซึ่งประกอบด้วยเสนาบดีฝ่ายใน ประธานองคมนตรี และ อดีตนายกรัฐมนตรี เซอิยูไคจึงโจมตีคนกลุ่มนี้ด้วย ผลการเลือกตั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1936 ปรากฏว่า เซอิยูไคพ่ายแพ้หมดรูป กลายเป็นพรรค เสียงข้างน้อย และ มินเซอิโตได้เสียงข้างมาก กล่าวกันว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนเลือกฝ่ายซ้ายที่เป็นเสรีนิยม มากกว่าฝ่ายขวาที่นิยมความรุนแรง แต่ว่าอีก 6 วันต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1936 คณะนายทหารหนุ่มที่มีกำลังประมาณ 1,500 คนจากทหารราบ ทหารรักษาพระองค์ และ ทหารปืนใหญ่ ทำการปฏิวัติ เสนาบดีฝ่ายใน รัฐมนตรีคลัง และผู้บัญชาการศึกษา ถูกสังหาร นายกรัฐมนตรีโอกาดะรอดมาได้ ฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังทหารประมาณ 24,000 นายปราบกบฏได้สำเร็จ แม้ว่า กลุ่มกบฏจะอ้างว่าจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ แต่พระจักรพรรดิเองก็ไม่ทรงโปรดและมีพระราชดำรัสให้จัดการขั้นเด็ดขาด

หลังเหตุการณ์ ฮิโรตะ โคคิ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ของ “รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ” มินเซอิโต และ เซอิยูไค ส่งตัวแทนเข้าในคณะรัฐบาลพรรคละ 2 คน อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรี ชุดนี้ก็ต้องลาออกทั้งคณะภายหลังการตอบกระทู้ถามต่อสภา เนื่องจากรัฐมนตรีกลาโหมถูกโจมตีอย่างหนัก หลังจากนั้น มินเซอิโต กับ เซอิยูไค พยายามจับมือกันให้ อุงากิ คะสึชิเงะ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถูกสกัดกั้นจากองทัพบก ด้วยการตั้งเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องบรรจุแผนอุตสาหกรรมสำคัญ 5 ปีไว้เป็นนโยบายด้วย ซึ่งอุงากิรับไม่ได้ กองทัพบกจึงส่ง ฮายาชิ เซนยูโร มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งก็ได้มีการร่วมมือกับกลุ่มไซบัทสึมิตซุยในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักทางเคมีเป็น แผนงาน 5 ปี อิเคดะ ชิเงะอากิ ประธานกลุ่มมิตซุย ยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ด้วย

ด้วยความแตกแยกของทุกภาคส่วนในสังคม กลุ่มที่ยึดกุมอำนาจได้มากกว่าคือกองทัพบก ซึ่งดำเนินตามแนวคิดของตนต่อไปจนเกิดเหตุการณ์หลูโกวเฉียว ในวันที่ 7 กรกฎาคม 1937 โดยที่กองทัพญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรุกอย่างขนานใหญ่จากสะพานหลูโกวเฉียวทางชานกรุงปักกิ่งด้านตะวันตก ฝ่ายจีนเรียกกรณีนี้ว่า 七七卢沟桥事变 กรณี 18 กันยายน เป็นการเปิดการรบเพื่อยึดภาคตะวันออกเฉียง เหนือ แต่กรณีนี้เป็นการเปิดการรบเพื่อยึดทั้งประเทศจีน ต่อมาอีก 4 ปี ญี่ปุ่นบุกท่าเรือเพิร์ลฮาเบอร์ และเปิดสงครามทั่วเอเชียแปซิฟิก


ที่มา :สรุปประเด็นจาก 坂野潤治、日本近代史、ちくま新書、二〇一二年


วิเคราะห์

1. ผู้ใดเขียนกฎหมาย ผู้นั้นเขียนกฎหมายเพื่อตัวเอง รัฐธรรมนูญแห่งมหาจักรวรรดิญี่ปุ่นมีพื้นฐานหลักมาจากร่างของอิโต ฮิโรบุมิ นักรบซามูไรแคว้นโจชู มีหรือที่จะไม่ร่างเพื่อพวกนักรบของ แคว้นต่างๆ เอง

2. แม้ว่าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจะไม่ได้กล่าวถึงอิทธิพลของนักรบแคว้นต่างๆ ต่อกองทัพญี่ปุ่น ในภายหลัง แต่ถ้าตรวจสอบประวัติของนายทหารคนสำคัญหลายๆ คนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นแล้ว พบว่านายทหารสำคัญๆ ล้วนมีที่มาจากนักรบของแคว้นต่างๆ หรือไม่ก็เป็นลูกหลานของนักรบเหล่านั้น นักรบแคว้นสัทสึมะคุมกองทัพเรือเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากมีกองทัพเรือของตนเป็นแคว้นแรก ส่วนนักรบโจชูควบคุมกองทัพบกเป็นส่วนใหญ่

3. ฝ่ายทหารพยายามแทรกซึมเข้ามาในพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองฝั่งและเป็นที่น่าสงสัยว่าพยายามแก้ไขอุปสรรคการจัดทำงบประมาณ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากองทัพเช่นเดียวกัน การแทรกแซงของทหารยังคงมีต่อเนื่องมาเป็นระยะๆ ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะผ่านพรรคการเมืองหรือข้าราชการในพระองค์พระจักรพรรดิ

4. ข้าราชการส่วนพระองค์พระจักรพรรดิ์มีหลายกลุ่ม ได้แก่ เสนาบดีฝ่ายใน (内大臣) องค มนตรี (枢密院議員) และขุนนางอาวุโส (元老) ล้วนแต่มาจากนักรบ นายทหารในกองทัพ อดีตนายก รัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรี ซึ่งก็มีที่มาจากนักรบแคว้นต่าง ๆ เป็นจุดเร่ิมต้นทั้งสิ้น ในประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าพวกนี้เข้ามาแทรกแซงการเมืองโดยตลอด โดยที่อาจจะเป็นหรือไม่เป็นพระประสงค์ของพระ จักรพรรดิ์ก็ได้

5. รัฐธรรมนูญแห่งมหาจักรวรรดิญี่ปุ่นกำหนดให้พระจักรพรรดิทรงบังคับบัญชากองทัพโดย ตรง โดยที่รัฐบาลไม่มีบทบาทใดๆ ทั้งสิ้น แต่พระจักรพรรดิไม่อาจทรงทราบถึงรายละเอียดได้ทั้งหมด ทำให้กองทัพมีโอกาสดำเนินการทางทหารโดยปกปิดข้อมูลบางส่วนไว้ได้

6. ในความรู้สึกของประชาชนชาวญี่ปุ่น พระจักรพรรดิอาจทรงเป็นผู้ปกครองสูงสุด แต่โดยความเป็นจริงแล้ว บทบาทพระจักรพรรดิในสมัยโทกุงาวาหรือตั้งแต่ยุคเมจิเป็นต้นมา ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรมากนัก ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ แทนที่จะเป็น โชกุน เพียงฝ่ายเดียว กลับกลายมาเป็น กองทัพ และ รัฐบาล ถึงสองฝ่าย พระจักรพรรดิอาจจะทรงปฏิบัติพระองค์เป็นพระจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นของพระจักรพรรดิโดยผ่านขุนนางอาวุโส พระจักรพรรดิอาจจะไม่พยายามเกี่ยวข้องกับการเมือง และ ไม่พยายามเกี่ยวข้องแม้แต่สิ่งที่เป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติ แต่ท่าทีในลักษณะดังกล่าวนำไปสู่หายนะ ประเด็นนี้น่าเปรียบเทียบกับ ประเทศไทยนะ

7. ประชาชนญี่ปุ่นเองไม่มีความสามัคคี มีความเห็นแตกแยกเป็นฝักฝ่ายในทุกภาคส่วน ทำ ให้กองทัพสามารถควบคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่อย่างน้อยที่สุดมีความเป็นอัน หนึ่งอันเดียวกันมากกว่าภาคส่วนอื่น

8. นักรบก็คือนักรบ ที่ไม่ทิ้งนิสัยสันดานเดิม แม้แต่ภายใต้ระบบที่มีการศึกษาวิชาการทหาร อย่างเป็นระบบ กองทัพญี่ปุ่นเองก็ยังวางยุทธศาสตร์การรบของประเทศแบบปิดหูปิดตาตัวเอง โดยทำ ในสิ่งที่เกินกว่าขีดความสามารถของประเทศภายใต้คำจำกัดความของ “การป้องกันประเทศในเชิง กว้าง” (広義国防) ที่กองทัพยึดถือเอง

9. ฟ้าลิขิตให้ประเทศญี่ปุ่นมีวิวัฒนาการตามรายละเอียดที่วิเคราะห์มาข้างต้น

10. นักการเมืองญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นลูกหลานของนักการเมืองยุคก่อนสงคราม แนวคิดของ นักการเมืองญี่ปุ่นในปัจจุบันจึงอาจจะได้รับอิทธิพลมาบ้างในระดับหนึ่ง ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกควร จะได้เตือนสติตัวเองเสมอ กรณีศาลเจ้ายาสุคุนิคงเป็นเครื่องเตือนสติคนทั่วโลกได้ดีถึงอันตรายดังกล่าวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

11. ที่ไม่ทราบว่าคิดได้ไง ได้แก่ การที่ อิโต ฮิโรบุมิ คิดว่า การดำรงตำแหน่งผู้กำกับสูงสุดของโชซอนในฐานะดินแดนในอารักขาของญี่ปุ่นเป็นการทำให้ประชาชนเกาหลีมีความสุข