Spark U จุดพลังรวมใจ ร่วมใจเปลี่ยนเมือง

Spark U จุดพลังรวมใจ ร่วมใจเปลี่ยนเมือง

 

คงไม่ง่ายที่พื้นที่สักแห่งหนึ่งจะสามารถพัฒนา “คน” ในพื้นที่สู่การเป็นพลเมืองตื่นรู้ ที่มีความรับผิดชอบและสำนึกต่อส่วนรวม และร่วมเปลี่ยนแปลงเมืองและสิ่งแวดล้อมให้เกิดพื้นที่สุขภาวะที่ดี โดยการมีส่วนร่วมของทุกคนได้

แต่ที่นี่ “คนเชียงใหม่” เขากำลังทำได้นะเธอ

มารู้จักกลุ่มเครือข่าย Spark U Lanna คณะทำงานกลุ่มเล็กๆ ที่มาจากภาคประชาชนคนจริง แต่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ นั่นคือต้องการให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองในฝันสำหรับทุกคน

แม้หลายคนอาจจะเคยรับรู้เรื่องราวมาบ้าง แต่อยากช่วยย้ำทวนความทรงจำกันอีกนิด ถึงเรื่องราวที่มา Spark U เชียงใหม่นั้น เติบโตมาได้อย่างไร งานนี้ จึงขอประชิดเกาะติดตามสัมภาษณ์ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรง ที่ปลุกปั้น Spark U เชียงใหม่ จนขยายมาเป็น Spark U ล้านนาในวันนี้ มาช่วยถ่ายทอดให้ฟังว่า

“ผมทำงานด้านภาคประชาสังคมและพัฒนาชนบทมาก่อน แต่สิ่งที่เราพบปัญหา ว่าลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ เรารู้สึกว่าพลังของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันน้อย อีกประเด็นคือการทำงานส่วนใหญ่ยังเน้นในเชิงอีเว้นท์ คือทำแล้วก็จบไป ฉะนั้น เมื่อกว่าสองปีก่อนเราจึงลองชวนคนทำงานด้านนี้ในเมืองเชียงใหม่มาคุยกันว่า ถ้าเราอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเราควรจะเดินไปยังไง จำได้ว่าวันนั้นคุยกัน ที่หอศิลปวัฒนธรรม กลางเมืองนี่เลย”

เขาบอกว่าข้อสรุปสำคัญที่ได้วันนั้นคือ หนึ่ง ทุกคนไม่เอาอีเวนท์ แต่เชื่อว่าต้องเป็นการสร้างกระบวนการในการทำงานที่ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันจริงๆ

“เราจะมาช่วยกันคิดค้นวิธีการอย่างไรให้การทำงานของพวกเรามีพลังมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใหม่ๆ ตัวกระบวนการทำงานใหม่ ในที่สุดเราก็คิดว่าตัว “Spark U” นี่ตอบโจทย์ เพราะมันทำให้เราสามารถดึงคนใหม่ๆ ไอเดียใหม่ได้”

แต่นอกจากฝั่งคนทำงานภาคประชาสังคม คณะทำงานยังดึงหลากหลายองค์ประกอบที่จะช่วยเติมเต็มการทำงานให้ถึงฝั่งฝันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฝั่งออกแบบ ซึ่งได้ทีซีดีซี (TCDC) มาเป็นเครือข่าย ส่วนฝั่งสื่อทีมงานยังชวนแบน แสนเมือง บรรณาธิการนิตยสาร Compass มาเพื่อช่วยกระพือสื่อสารกับสาธารณะให้แข็งแรงขึ้น

ซึ่งอีกหนึ่งพี่เลี้ยงคนสำคัญ ที่ช่วยสนับสนุนโครงการ Spark U อย่างเป็นทางการนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น พี่ใหญ่อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เห็นศักยภาพของคนในพื้นที่

“เขาไม่ได้มาขอทุนเรานะ แต่ดิฉันเองเป็นฝ่ายมางอนง้อเขา” เสียงบอกเล่าจากอีกมุมของ สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ที่เอ่ยขึ้น

“เนื่องจากเราอยู่ในแผนงานสื่อสร้างสรรค์ ทำเรื่องสื่อเด็กและเยาวชน ตอนนั้นเราคิดว่าเรื่องสื่อเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ถ้าไม่มีรูปธรรมมันจะทำความเข้าใจยาก ก็เลยร่วมกันจัดงานหนึ่งคือ เด็กบันดาลใจ ตามยุทธศาสตร์สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี กลายเป็นว่ามีข้อสะท้อนว่างานดีมาก แต่ผลการวิจัยจากครั้งนั้น ทางคณะกรรมการฯ กำกับทิศทางของ สสส. ก็มองว่าทำอย่างไรไม่ให้เป็นแค่งานอีเว้นท์ น่าจะเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเลยไหม เลยมาคิดกันว่าควรหาพื้นที่เข้มแข็งและลองไอเดียนี้”

ซึ่งความบังเอิญที่ได้มาขับเคลื่อนงานที่ภาคเหนือ “เชียงใหม่อ่าน” จึงทำให้สุดใจเริ่มมองเห็นศักยภาพคนเชียงใหม่ว่าน่าจะใช่ “คนที่กำลังมองหา”

“เราจึงเลยลองคุยกับเขาว่าสนใจทำโมเดลใหม่ๆ กันไหม เขาก็ปิ๊งไอเดียเราและไปจัดการรวมตัวกันมา เป็นการรวมตัวที่เร็วมาก พอถึงเรื่องประเด็นที่จะทำพี่ชัช (ชัชวาลย์) แกก็บเสนอกับเราว่า เอาแบบท้าทายเลยไหม เอาพื้นที่ที่มีปัญหาที่สุด ที่ไม่มีใครอยากมองหรือแก้ปัญหาไม่ได้ จึงเกิดโครงการฝายพญาคำเป็นงานแรกที่เริ่ม” สุดใจเอ่ย

ชัชวาลย์เล่าถึง “ฝายพญาคำ” ว่า เป็นต้นแบบของภูมิปัญญาการจัดการน้ำของล้านนาที่ยิ่งใหญ่มาก แต่เมื่อก่อนกลับกลายเป็นที่ทิ้งขยะที่ไม่มีใครสนใจ

“เราดึง 8 เทศบาลที่ใช้น้ำจากฝายนี้ มาทำงานร่วมกัน ใช้นวัตกรรมเรื่องความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านพิธีไหว้ผี และจัดเสวนาร่วมกัน จนได้ข้อสรุปว่าเราจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการน้ำโดยภูมิปัญญาล้านนา” ชัชวาลย์กล่าว

“ถ้าจะสรุปกระบวนการ Spark U คือ มันเป็นกระบวนการที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนให้ท้องถิ่นลุกขึ้นดูแลบ้านเมืองและแก้ปัญหาของตัวเองให้ได้” ชัชวาลย์เสริม

ต่อเนื่องจากฝายพญาคำ คณะทำงานยังเดินหน้าต่อด้วยโครงการหลากหลายมิติ ซึ่งชัชวาลย์เผยว่า โครงการบางแห่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครเข้าไปทำอะไร บางแห่งเป็นพื้นที่ปิด ทาง Spark U ก็ไปเปิดให้เป็นสาธารณะ หลังคนเมืองเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นมีประโยชน์ต่อชุมชนจริง ท้ายสุด Spark U จึงมีเครือข่ายและโครงการที่ขยายราวกับใยแมงมุมทั่วเมืองเชียงใหม่

 “พอมีการร่วมมือกันมากขึ้น มีหลายฝ่ายมาช่วยดู ทำให้ความคิดมันขยับขึ้นไป ไม่ย่ำอยู่กับที่เดิม หลังจากนั้นเราหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับรูปธรรม อาทิ ศูนย์เรียนรู้ต้องเสร็จ หรือที่ค่ายกาวิละจากที่ปิดอยู่ต้องเปิดให้ใช้ได้จริง หรือที่สืบสานฯ การสืบสานแบบเดิมมองในเชิงอนุรักษ์ภูมิปัญญา แต่พอเรามาช่วยใส่เรื่องเวิร์คช็อป มีมิวเซียมเข้าไปก็มีพัฒนาการเกิดขึ้น”

หลังจากงานในเชียงใหม่เดินหน้าไปด้วยดีและรวดเร็ว ทุกฝ่ายเล็งเห็นว่าต้องมองหาเพื่อนเพิ่ม จึงริเริ่มขยายไปสู่พื้นที่ Spark U Lanna ที่เกิดจากการเชื้อเชิญคนที่สนใจมาคุย ไม่ว่าจะเป็น ลับแล แม่ฮ่องสอน มีลำพูน หรือเชียงราย ซึ่งเป็นการขยับขยายวิธีคิดและกระบวนการออกไปทั่วภูมิภาคนั่นเอง

หากถามถึงความสำเร็จของ Spark U เชียงใหม่ที่เดินมาแค่สองปี แต่มีรูปธรรมเด่นชัด ชัชวาลย์ให้ข้อคิดว่า

“เพราะเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เราทำงานบนฐานเดิมที่เราทำมายาวนานอยู่แล้ว ผมทำงานด้านนี้มายี่สิบปีแล้ว ส่วนฝายพญาคำมีมาสองร้อยปี แต่ “การเติมเต็ม” ทำให้เกิดการขยับตัว และขยาย นอกจากนี้เราจะทำงานด้วยความเคารพกัน การทำงานของเราจึงมีลักษณะแนวราบ จะไม่มีลักษณะการบัญชาการ ไม่ใช่ระบบสั่งการ แต่ใช้ศักยภาพของกันและกันเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพราะเราเชื่อว่าเราไม่สามารถทำหรือเก่งทุกอย่างได้ แต่ที่สำคัญ ทุกอย่างถ้าคิดแล้ว คุยจบแล้ว ต้องทำทันที ต้องเกิดการขับเคลื่อนให้ได้

ด้านผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ช่วยเสริมว่า “จากสิ่งที่เราได้สัมผัส เรารู้สึกว่า เป็นการทำงานที่แหลมคมนะ เพราะคนทำงานเขาน้อย แต่สามารถจับตัวจริงเสียงจริงที่ทำงาน เขารู้ว่าจะเลือกคนที่ไปจุดประกายอย่างไร เพื่อสร้างพลังให้ขับเคลื่อนต่อ รวมถึงมีภาคีมาช่วย อย่าง ทีซีดีซี”

ซึ่งหลังจากสร้าง “ความแตกตื่น” ด้วยปรากฏการณ์ “คนเชียงใหม่ทำได้” ไปแล้วในปีแรก ในส่วนปีที่สองนี้ Spark U Lanna จะกลายเป็นเวทีเรียนรู้แบบข้ามภูมิภาค เมื่อ สสส.ร่วมกับ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จัดงาน ‘เมืองสร้างสรรค์ เมืองมีชีวิตชีวา Spark U Lanna’ ภายใต้โครงการ Spark U Lanna โดยมีภาคีเครือข่ายอีก 2 ภูมิภาค ได้แก่ Spark U ภาคใต้ และ Spark U ภาคอีสานมาบุกตะลุย ร่วมถ่ายทอด นำเสนอ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับชาวเชียงใหม่กันถึงถิ่น

“สาเหตุคือเรารู้ว่าถ้าเราไม่ทำพื้นที่ มันไม่มีปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง มันไม่ Change แต่ต้องมีกลไก มีงานสื่อสารที่จะเชื่อมโยง โมเดล Spark U นี้เราทดลองใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ อีสาน และเหนือ เราอยากรู้ว่าบริบทที่แตกต่างอะไรที่เป็นแกนหลัก ที่จะขยับต่อได้” สุดใจเล่าถึงแรงจูงใจของการจัดงานครั้งนี้  

“ภาคเหนือ เขาจะถนัดการหาพันธมิตรแท้ เขามองหาเจ้าภาพที่นั่น แล้วทำงานโดยใช้เป้าหมายเดียวร่วมกัน ว่าเราต้องการเมืองที่มีสภาพที่เหมาะสมกับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็ก เชียงใหม่เขาไม่ผลีผลาม อะไรไปต่อไม่ได้ เขาถอยกลับมา นี่เป็นเหตุที่ทำให้ Spark U ไปได้ไกลกว่าโครงการพัฒนาอื่นๆ ที่ตั้งต้นจากการพัฒนาเมือง ในเวลาเดียวกัน นั่นคือความยืดหยุ่นได้

ส่วนอีสาน มีความใกล้เคียงเชียงใหม่ แต่เขาจะไม่ทำงานแค่ภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่จะจับมือกับภาควิชาการ แตะในโครงสร้างภาคท้องถิ่น  ขณะที่ใต้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนสิบกว่าจังหวัด ทุกคนมาช่วยกันออกแบบอยากเห็นภาคใต้ในฝันอย่างไร และเริ่มลงพื้นที่ในปีที่สอง

ดิฉันคิดว่างานนี้สิ่งที่ สสส. ได้มากที่สุดคือได้ต้นทุนคนดีในพื้นที่   เหมือนคำพูดของคุณชัชวาลย์ที่พูดว่า ลำพังแค่องค์กรเดียวเราทำได้ ต่อให้เก่งแค่ไหนเราก็สุดๆ ได้แค่นี้ แต่ถ้าเราไปเชื่อมกับองค์กรอื่น เวลามันสปาร์ค (Spark) กันมันไม่ใช่แค่คูณสองนะ แต่มันกระจายไปเร็วมากและไปดึงพันธมิตรอื่นๆ เข้ามา”

สาแหะซูไลมัน อันอตับ  ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายบ้านพิราบขาวชายแดนใต้ จ.ปัตตานี หนึ่งในทีมงาน Spark U ใต้ ที่บุกถิ่นเหนือในครั้งนี้เปิดใจว่า “เรามองหาบางอย่างที่เรายังไม่มีหรือไม่ได้ทำ เรานำไปใช้ได้ เช่นเรื่องรากหรือต้นทุนทางวัฒนธรรม ที่นี่มองเห็นได้ชัดมาก คือบางอย่างมันมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่บูรณาการ เราก็มองว่าสิ่งที่เราเห็นจากทางเหนือวันนี้น่าจะไปบูรณาการที่บ้านเราได้”

ขณะที่ ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณะกรรมการบริหารแผนสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงการทำงานของ“เครือข่าย Spark U ว่า Spark U Lanna เป็นต้นแบบการทำงานจุดประกายเครือข่ายภาคประชาสังคม 3 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือผ่านเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ และส่งต่อวัฒนธรรมข้ามภูมิภาคอย่างไร้ขีดจำกัด อันเป็นมิติการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ท้าทาย น่าสนใจและเต็มไปด้วยพลัง แรงบันดาลใจ และจะกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาร่วมใจกันอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านให้มีความร่วมสมัยอย่างยั่งยืน

“การจัดงานครั้งนี้นอกจากจะเห็นความมีชีวิตชีวาของเมืองสร้างสรรค์ ยังมีการร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนในระยะถัดไป” ดร.จิรพร กล่าว

Spark U จุดพลังรวมใจ ร่วมใจเปลี่ยนเมือง

Spark U จุดพลังรวมใจ ร่วมใจเปลี่ยนเมือง

Spark U จุดพลังรวมใจ ร่วมใจเปลี่ยนเมือง

Spark U จุดพลังรวมใจ ร่วมใจเปลี่ยนเมือง

Spark U จุดพลังรวมใจ ร่วมใจเปลี่ยนเมือง