เชียงกลาง...ระหว่างทาง ระหว่างเรา

เชียงกลาง...ระหว่างทาง ระหว่างเรา

ชวนคนรู้ใจมาสโลว์ไลฟ์ท่ามกลางทุ่งนาฟ้ากว้าง ละเลียดไอหมอกกับแสงอุ่นๆ ในเมืองกลางๆ แห่งน่านนคร

“ถ้าสวยกว่านี้ก็สวรรค์แล้วล่ะ...” ใครบางคนเอ่ยขึ้น ขณะมองผ่านวิวไฟน์เดอร์เพื่อเก็บภาพผืนนาฉ่ำฝน ไกลออกไปคือทิวเทือกเขาเคล้าหมอกบางๆ ขณะท้องฟ้าหมาดฝนค่อยๆ เปลี่ยนโทนสีไปตามห้วงเวลา

ฉันนั่งอยู่ตรงนั้น..นานเท่าไหร่ไม่รู้ กระทั่งแสงสีส้มเริ่มจับขอบฟ้า บรรยากาศรายรอบดูราวกับภาพฝัน ก่อนที่ความงามนั้นจะค่อยๆ จางหายไปในความมืด

แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการเดินทางมา ‘เชียงกลาง’ เมืองระหว่างกลางบนเส้นทางหมายเลข 1080 จากอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่ทอดยาวไปสิ้นสุด ณ ด่านสากลห้วยโก๋น-น้ำเงิน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ แต่นี่เป็นครั้งแรกท่ามกลางความชุ่มฉ่ำของฤดูฝน ฤดูกาลที่ทำให้เมืองกลางๆ นี้มีเสน่ห์เกินบรรยาย

439129

ข้ามสะพานสายรุ้ง มุ่งสู่สนามบินเหล็ก

ฝนบางๆ ยามเช้าซ่อนดวงตะวันให้พ้นสายตาเราได้ แต่ไม่อาจเปลี่ยนความตั้งใจที่จะเที่ยวชมธรรมชาติและวิถีชีวิตเรียบง่ายไร้การปรุงแต่งของคนที่นี่ จากที่พัก ‘แสงทองรีสอร์ท’ ที่สามารถมองเห็นวิว‘นา’พาโนรามา เส้นทางปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามถนนลูกแคบๆ ที่ตัดผ่านหมู่บ้านและแปลงนาของชาวบ้าน

ฝนขาดเม็ดแล้ว นาบางแปลงที่ต้นข้าวเริ่มเติบโตดูสดชื่นเป็นพิเศษ แปลงที่เก็บเกี่ยวแล้วเจิ่งนองด้วยน้ำ ชาวนาบางคนออกมาทำภารกิจของตัวเอง ชีวิตดำเนินไปเหมือนเช่นทุกวัน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่มีความสุขที่หาได้ไม่ยาก

439126

บนพื้นที่ราบของอำเภอเชียงกลางนอกจากนาข้าวแล้ว ยังมีการปลูกพืชผักผลไม้อีกหลายชนิด แต่ถ้าสนใจเกษตรอินทรีย์ ลองแวะเข้าไปที่แสงทองฟาร์มจะได้เห็นกระบวนการขั้นตอนต่างๆ กว่าจะมาเป็นพืชผักสวนครัว รวมไปถึงเมล่อน มะเขือเทศ และสตรอว์เบอร์รีผลงามๆ ปลอดสารเคมี

อากาศดีๆ แบบนี้นึกอยากจะเก็บอ็อกซิเจนใส่ขวดกลับกรุงเทพฯ แต่ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ปั่นชมนกชมไม้ตุนความฟินไว้ดีกว่า คนนำทางบอกว่าระยะทางใกล้ไกลเป็นไปตามกำลังขาของแต่ละคน แต่ถ้าเลือกแบบครบลูปรอบเล็ก 10 กิโลเมตร ระหว่างทางมีจุดชมวิวสะพานแสงตะวัน อุโมงค์ต้นไผ่ ก่อนจะไปเจอจุดนัดพบบน สะพานสายรุ้ง ที่ซึ่งแม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน สายหนึ่งเป็นน้ำเย็นอีกสายเป็นน้ำอุ่น ส่วนเราแอบช็อตคัท ตัดไปตรงกิโลเมตรท้ายๆ ลัดเลาะไปตามคันนา เลียบลำธารไปเรื่อยๆ จะถึงสะพานหลากสีสันโค้งข้ามลำน้ำที่ทอดยาวจนลับตาไปในแนวขุนเขา เก็บเกี่ยวความเขียวขจีของหน้าฝนจนชุ่มใจ แล้วค่อยไปต่อ...​

439124

ใครที่ไม่ใช่สายปั่นก็ไม่ต้องหวั่นว่าจะไม่สามารถซึมซับบรรยากาศแบบนี้ได้ นักท่องเที่ยวสามารถขับรถชมวิวแล้วแวะตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีอยู่หลายแห่งหลายแนวในเชียงกลาง ซึ่งถ้าถามว่าที่ไหนคือThe must ขอใส่เครื่องหมายดอกจันไว้ตรง สนามบินเหล็ก จุดเช็คอินของสายฮิปเป็นอันดับต้นๆ

แต่พอบอกเพื่อนร่วมทางว่าจะไปสนามบินเท่านั้นแหละ เสียงใครบางคนสวนขึ้นทันที “ยังไม่ได้เอากระเป๋าเดินทางมาจากโรงแรมเลย”

“เอ่อ…ไม่ได้จะขึ้นเครื่องกลับนะ” สนามบินเหล็กที่ว่านี้ คือชื่อที่คนเชียงกลางเรียกขานสนามบินเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว เพื่อใช้ลำเลียงยุทธปัจจัยในภารกิจปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ตอนบนของจังหวัดน่าน ตั้งแต่ พ.ศ.2506

439123

ในเวลานั้น อิฐ หิน ปูน ทราย เป็นของหายากขาดแคลน จึงต้องนำเอาตะแกรงเหล็กแผ่นนำเข้าจากไต้หวันมาสร้างเป็นรันย์เวย์ ความยาว 620 เมตร กว้าง 18 เมตร การก่อสร้างใช้ทหารช่างจากลพบุรีโดยมีทหารอเมริกันคุมงาน สนามบินเหล็กแห่งนี้มีไว้รับส่งกำลังพลและเสบียง สามารถรองรับเครื่องบินลำเลียงขนาดเล็กและเครื่องบินปีกหมุน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่บอกว่ายังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะเริ่มผุพังไปตามกาลเวลา

ความคลาสสิกของรันเวย์เหล็กนอกจากจะบันทึกหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางความคิดและนวัตกรรมของคนยุคก่อนไว้อย่างน่าทึ่งแล้ว ยังชวนให้แวะมาเก็บภาพเท่ๆ ที่ไม่บอกก็อาจไม่รู้ว่า นี่คือชนบทของจังหวัดน่าน

หอมกลิ่นใบยา สถานีเซลฟี่

ผ่านไปแค่ครึ่งวันฉันพบว่าเชียงกลางไม่ใช่แค่สาวบ้านๆ ที่ต้องตาด้วยความเป็นธรรมชาติเท่านั้น เจ้าหล่อนช่างมีสไตล์ไม่เหมือนใคร แถมยังขึ้นกล้องอีกด้วย

อาคารก่ออิฐสีส้มทรงสี่เหลี่ยมสูงชะลูดหลายสิบหลังเรียงรายเป็นแถวเป็นแนว มันถูกทิ้งร้างหญ้าขึ้นรกเหมือนฉากในหนังลึกลับสักเรื่อง ทว่าดอกหญ้าเล็กๆ กับท้องฟ้าสีฟ้าจัดก็ช่วยแต่งแต้มให้มันดูเหมือนโลเคชั่นสำหรับถ่ายภาพพรีเวดดิ้งเช่นกัน ยังไม่ทันได้คำตอบว่า...ที่นี่ที่ไหน นางแบบสมัครเล่นก็ประจำอยู่ตามมุมต่างๆ แล้ว

439121

เก็บภาพกันจนหนำใจ สอบถามได้ความว่า ที่นี่คือ สถานีโรงบ่มใบยาสูบ บ้านสบกอน ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 แต่ละหลังคือหนึ่งเตา มีทั้งหมด 118 เตา ใช้บ่มใบยาเวอร์จิเนียสายพันธุ์ค็อกเกอร์ 347 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ยาสูบจากอเมริกาที่ปลูกในพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ และน่าน

ว่ากันว่าการปลูกใบยาสูบอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอำเภอเชียงกลางมานานควบคู่กับการเกษตรอย่างอื่น ในพื้นที่จึงมีโรงบ่มใบยาหลายแห่ง แต่ที่เหลือให้เห็นค่อนข้างสมบูรณ์ก็มีที่บ้านสบกอนแห่งนี้ ซึ่งในอดีตใช้วิธีบ่มด้วยไอร้อน ตัวอาคารก่ออิฐมอญฉาบปูนสูงประมาณ 5 เมตร หลังคามุงด้วยสังกะสี มีราวไม้ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีช่องระบายอากาศเป็นจั่วบนยอดหลังคาและเป็นช่องหน้าต่าง

ฐานของโรงบ่มมี 2 ประตู บางโรงบ่มทำประตู 2 ชั้น สำหรับดูปรอทและมีหน้าต่างอยู่ประมาณกึ่งกลางของความสูงของโรงบ่มทั้ง 2 ข้าง สำหรับดูสีและความแห้งของใบ เสียดายที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว เราจึงไม่ได้เห็นรูปแบบการใช้งานจริง เนื่องจากมีการนำเตาอบแก๊สมาใช้แทนเพราะช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มจำนวนผลผลิตได้มาก

และแม้จะถูกทิ้งร้างไปนานนับสิบปี แต่ทุกวันนี้โรงบ่มกำลังกลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยภารกิจใหม่ นั่นคือการเป็นหมุดหมายให้นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ ซึ่งทางผู้ดูแลบอกว่า ถ้าใครจะแวะเข้ามาต้องแจ้งล่วงหน้าเพราะปกติจะปิดประตูไว้ แต่ก็ยินดีให้บริการสำหรับทุกคนที่สนใจ ใครมีโอกาสไปเชียงกลาง แล้วไม่อยากพลาดความชิคของสถาปัตยกรรมรูปร่างแปลกตา เอกลักษณ์ของอดีตเมืองยาสูบ นัดหมายเข้าไปเช็คอินได้เลย

วัดหนองแดง ศรัทธาแห่งไทลื้อ

เช่นเดียวกับเมืองเก่าอื่นๆ หากจะค้นลึกไปให้ถึงรากทางวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น วัดคือกรุเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและมรดกอันทรงคุณค่า

มาถึงเชียงกลาง มีวัดสำคัญหลายแห่งที่ควรหาโอกาสไปสักการะ ไม่ว่าจะเป็น พระธาตุจอมกิตติ วัดไทรหลวง รวมไปถึง วัดหนองแดง ศาสนสถานที่เรากำลังยืนชื่นชมความงามของวิหารไทลื้ออันเลื่องชื่อเรื่องเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม

วัดแห่งนี้มีอายุอานามไม่ต่ำกว่า 200 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นจากศรัทธาของชาวไทลื้อและชาวไทพวน ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2330 ล่วงมาจนถึงปัจจุบัน ศิลปกรรมต่างๆ ยังคงสมบูรณ์สวยงามด้วยแรงศรัทธาของชาวเมืองน่านที่ช่วยกันทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด

439125

ฉันไล่สายตาไปตามที่เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันชี้ชวนให้ชม ช่อฟ้าของพระอุโบสถสลักรูปนกหัสดีลิงค์ นกซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ ศีรษะเป็นช้าง ตัวเป็นหงส์ ตามความเชื่อของชาวไทลื้อ นกนี้เป็นสัตว์ชั้นสูงมาจากสวรรค์ ส่วนเชิงชายประดับไม้ฉลุลายน้ำหยาด เป็นลวดลายเฉพาะของชาวไทลื้อเช่นกัน

วิหารไทลื้อของวัดหนองแดง คือศิลปะสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เนื่องจากเป็นวิหารไม้รุ่นสุดท้ายที่ยังเหลือร่องรอยของช่างโบราณไว้ให้ศึกษา ภายในมี ‘พระบัวเข็ม’ พระประธานประดิษฐานบนฐานชุกชี เรียกว่า ‘นาคบัลลังก์’ เชื่อว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความสง่างามและความดี ด้านหลังพระประธานมีจิตรกรรมฝาผนังโบราณเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์และเรื่องทศชาติชาดก เป็นฝีมือของช่างสกุลน่านที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

439127

กราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว เราเดินตามหลวงพ่อเจ้าอาวาสไปชมรอบๆ วัด ทั่วบริเวณร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ที่น่าสนใจคือ ‘ต้นเทียนพระพุทธเจ้า’ ที่ีมีฝักสีเหลืองเป็นลำยาวคล้ายเทียน จะออกฝักมากที่สุดช่วงเข้าพรรษา ส่วนในช่วงฤดูร้อนใบจะร่วงเกือบหมดแต่ก็ยังมีฝักออกตลอด อีกต้นหนึ่งที่ต้องหยุดชมด้วยความทึ่ง คือ ต้นโพธิ์ใหญ่ยักษ์อายุหลายร้อยปี โพธิ์ต้นนี้ไม่เพียงให้ร่มเงาพุทธศาสนิกชนมาเนิ่นนาน แต่ยังมีเรื่องเล่าความเป็นมาสัมพันธ์กับบรรพบุรุษของคนที่นี่ ใครอยากรู้เรื่องราวที่ซ่อนสมบัติต้องให้เจ้าอาวาสถ่ายทอดให้ฟัง

สำหรับเรา...สมบัติอันยิ่งใหญ่ไม่ใช่ใดอื่นนอกจากมรดกทางวัฒนธรรมที่ปรากฏแก่สายตา 

เป็นความศรัทธาของคนเชียงกลางที่ดูแลรักษาคุณค่าแห่งอดีตไว้อย่างดี 

คือวิถีที่ไม่ฝืนและไม่กลืนไปกับการเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังสวยสดงดงาม

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวโทร 054 521 118 หรือ 1672