'ห้ามหญิงมุสลิมสวมฮิญาบ'ประเด็นร้อนเลือกตั้งฝรั่งเศส

'ห้ามหญิงมุสลิมสวมฮิญาบ'ประเด็นร้อนเลือกตั้งฝรั่งเศส

นโยบายห้ามผู้หญิงมุสลิมสวมฮิญาบในที่สาธารณะ ของ “มารีน เลอ เพน” ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสฝ่ายขวา ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าริดรอนสิทธิเสรีภาพ ขณะผลเลือกตั้งรอบสองมีตัวแปรที่สำคัญคือผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร

“มารีน เลอ เพน” คู่แข่งชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ของ เอ็มมานูเอล มาครง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับนโยบายที่เธอเสนอว่าจะห้ามผู้หญิงมุสลิมสวมใส่ผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่าฮิญาบในที่สาธารณะ หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษปรับเงิน ซึ่งนโยบายนี้ถูกมองว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพในเรื่องการแต่งกายและเรื่องความเชื่อทางศาสนา 

ล่าสุด นักการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับ เลอ เพน หลายคนต้องออกมาช่วยแก้ต่างเรื่องนี้ให้ โดยอธิบายว่าเรื่องนี้ต้องผ่านการเห็นชอบจาก สส. ในสภา และการเปลี่ยนแปลงก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป

เริ่มจาก“หลุยส์ เอเลียต” นายกเทศมนตรีเมืองแปร์ปีญอง ซึ่งเป็นพันธมิตรคนสำคัญของ เลอ เพน ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุเฟรนช์ อินเตอร์ว่า การห้ามสวมฮิญาบ เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับลัทธิอิสลาม แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นตามขั้นตอน

โดยจะเริ่มต้นจากการห้ามสวมฮิญาบในสถานที่ราชการก่อน แล้วก็ค่อยๆ ขยายไปยังสถานที่อื่นๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเรื่องนี้จะต้องถูกนำไปถกเถียงกันในรัฐสภาก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจ

พันธมิตรอีกคนของ เลอ เพน คือ“เดวิด ราไคลน์” นายกเทศมนตรีเมืองเฟรจัส อธิบายเรื่องนี้เพื่อช่วยให้นโยบายห้ามสวมฮิญาบฟังดูอ่อนลง โดยบอกว่านโยบายนี้ไม่ได้มุ่งเป้าโจมตีคนมุสลิม เพราะไม่ใช่ว่าคนสวมฮิญาบทุกคนจะเป็นคนหัวรุนแรง          

อย่างไรก็ตาม เลอ เพน เคยแสดงจุดยืนต่อต้านการสวมฮิญาบในที่สาธารณะอย่างชัดเจนว่าการสวมฮิญาบไม่ได้เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนา แต่เป็นเครื่องแบบของกลุ่มหัวรุนแรง ที่ต้องถูกห้ามใส่ในที่สาธารณะในฝรั่งเศส

นโยบายต่อชาวมุสลิมเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและถกเถียงกันมาตลอดในฝรั่งเศส ด้านหนึ่งการห้ามสวมฮิญาบถูกมองว่าเป็นการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงชาวมุสลิมซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส แต่อีกด้านหนึ่ง ชาวฝรั่งจำนวนหนึ่ง รู้สึกถึงภัยคุกคามที่มาจากผู้อพยพชาวมุสลิม และเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลายครั้งในฝรั่งเศส ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

จึงสนับสนุนนักการเมืองที่มีนโยบายแข็งกร้าวต่อผู้อพยพหรือชาวมุสลิมอย่าง เลอ เพน ซึ่งแม้ เลอ เพน จะมีการปรับภาพลักษณ์ของเธอให้ดูเป็นมิตรกับทุกฝ่ายมากขึ้น รวมทั้งลดท่าทีที่แข็งกร้าวลง แต่ว่านโยบายแนวชาตินิยมขวาจัดก็ยังคงเป็นจุดขายที่เธอยังรักษาไว้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้
 

ขณะที่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส รอบ 2 พบว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง มีโอกาสทั้งคว้าชัยชนะและพ่ายแพ้พอ ๆ กัน โดยมีตัวแปรที่สำคัญคือผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร

ผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำร่วมกันระหว่างสถาบันประชาธิปไตย(Democracy Institute) และซันเดย์ เอ็กซ์เพรสส์( Sunday Express) ที่เผยแพร่ในช่วง เทศกาลอีสเตอร์ บ่งชี้ว่าในขณะที่คะแนนของประธานาธิบดีมาครง กับ เลอ เพน ยังคงสูสี แต่ก็มีแนวโน้มที่มาครงอาจจะแพ้อย่างคาดไม่ถึง ในศึกชิงทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบสองเพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้

ปัจจัยชี้ขาดในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงอยู่ที่ตัวแปรหลักคือ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดใจว่าจะเลือกใครที่มีจำนวนที่สูงมาก และเมื่อพวกเขาสามารถตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายได้ คะแนนของพวกเขาก็อาจทำให้มาครงได้รับชัยชนะอย่างเฉียดฉิว หรืออาจทำให้เลอ เพน เอาชนะในแบบที่จะทำให้การเมืองฝรั่งเศสเปลี่ยนไปแบบพลิกขั้ว

ฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกในยุโรปที่กล้าหาญชาญชัยเสี่ยงต่อความขัดแย้งในสังคม ด้วยการบังคับใช้ กฎหมายห้ามสวมผ้าคลุมหน้า ไม่ว่าจะเป็น บุรกอ หรือ นิกอบ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ปี 2554 ในสมัยของประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โคซี โดยเรียกว่า “รัฐบัญญัติห้ามปกปิดใบหน้าในสาธารณสถาน” เช่น ท้องถนน ร้านค้า พิพิธภัณฑ์ ระบบขนส่งมวลชนและสวนสาธารณะ ยกเว้นกรณีเดินทางในรถส่วนบุคคลแม้ไม่ได้เป็นผู้ขับหรืออยู่ในมัสยิด

กฎหมายฉบับนี้ อ้างอิงตัวเลขประมาณการณ์ในขณะนั้นว่า ในจำนวนประชากรมุสลิม 4-6 ล้านคน มีสตรีที่สวมผ้าคลุมหน้าตามประเพณีอาหรับและเอเชียใต้แค่ 2,000 คนเท่านั้น แต่ซาร์โกซี ถูกวิจารณ์หนักว่าต้องการเสียงสนับสนุนจากกลุ่มขวาจัด และเมินเฉยต่อเสียงร้องเรียนชาวมุสลิมและนักสิทธิมนุษยชนที่ว่า เป็นการกดดันฝ่ายที่เปราะบางที่สุดในสังคมเพื่อเอาใจฝ่ายที่รังเกียจผู้อพยพ ที่กลัวว่าอิสลามจะเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมของฝรั่งเศส